น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวปาฐกถา ณ โรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน
* ทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของไทยและจีน ที่ทางนายกฯไทยได้เสนอให้ทางจีนพิจารณา เป็นประเด็นหลักนั้น ได้แก่
1) ความสัมพันธ์ไทยกับจีนมีพลวัตรอย่างต่อเนื่อง และสถาปนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง พลังงานหมุนเวียน และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทยที่จีนสามารถตอบสนองได้โดยอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน โดยอาศัยความเป็นมิตรของไทยและจีน ตลอดระยะเวลา 37 ปีที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ไทย – จีน
2) ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน ในขณะที่จีนเป็นประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่และมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน ดังนั้น ไทยและจีนควรใช้กรอบความร่วมมืออาเซียนในการจัดการกับความท้าทายร่วมกันของภูมิภาค อาทิ ความมั่นคงทางทะเล การปราบปรามโจรสลัด การปราบปรามการก่อการร้าย การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ส่วนในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงนั้น จีนมีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิก เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาเครือข่ายคมนาคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตกอย่างครบวงจร ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางด้านการค้า ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและการลงทุนร่วมกัน ยังเป็นการกระจายรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของสองฝ่ายด้วย
3) ความสัมพันธ์อาเซียนกับจีนจะก้าวสู่ทศวรรษที่ ๓ ในปีนี้ ไทยซึ่งจะรับหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีนในเดือนกรกฎาคมนี้ ไทยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อสะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศทั้ง 11 ประเทศ โดยจะยึดถือหลักการ 3 ประการ คือ ความจริงใจ ความตรงไปตรงมา ความเคารพและเข้าใจกัน และไทยจะผลักดันความร่วมมือใน 3 ประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก คือ ประเด็นแรก การใช้กรอบอาเซียน – จีน เป็นกลไกในการผลักดันให้เกิดประชาคมเอเชียตะวันออก ประเด็นที่สอง การเชื่อมโยงระหว่างกัน และประเด็นสุดท้าย การจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์ต่อกัน โดยจะให้ความสำคัญกับการประสานงานอย่างใกล้ชิด และการหารืออย่างสม่ำเสมอระหว่างกันในทุกระดับ
4) จีนมียุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ และดำเนินนโยบาย Go Global เพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในและย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ที่จะเป็นศูนย์กลางและเป็นประตูเชื่อมโยงจีนกับอาเซียนทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบที่ใกล้กับจีนมากที่สุด และเป็นตลาดการค้าและการลงทุนของจีนขนาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน นอกจากนั้น ความตกลงด้านการค้า การบริการและการลงทุนซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างอาเซียนกับจีนได้เป็นกลไกส่งเสริมให้การค้าระหว่างอาเซียนกับจีนมีความคล่องตัวและเป็นประโยชน์ร่วมกันยิ่งขึ้น
5) ประชาชนคือพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างประชาชนและเยาวชน ในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อก้าวไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคม ในการนี้ การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในจีน และศูนย์วัฒนธรรมจีนในไทย จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนอย่างยั่งยืน
จะเห็นว่าประเด็นที่ทางไทยเสนอให้จีนพิจารณานั้น เป็นประเด็นที่บางส่วนได้ตกลงลงนามในเอกสารอย่างเป็นทางการแล้ว แต่บางประเด็นยังต้องอาศัยระยะเวลาและความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้นต่อไปโดยเฉพาะผลประโยชน์ร่วมกันที่ตอนนี้ไม่ได้มีแต่ไทยเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ หากยังเอื้อประโยชน์ไปถึงประชาคมอาเซียนในกาลข้างหน้าด้วย เพราะถือเป็นการปฏิบัติตามกรอบกติกาข้อตกลงอาเซียนและกรอบข้อตกลงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีร่วมกันกัน รวมทั้งความมั่นคงและสร้างบรรยากาศเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ที่มีหลายประเทศในอาเซียนยังมีความกังวลใจอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศยังคงยืนหยัดและมุ่งมั่นร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก โดยจะยกระดับการพัฒนาความสัมพันธ์ของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีนอย่างรอบด้าน และยังสานสัมพันธ์ฉันพี่น้องไทย-จีน ให้เกิดความรู้สึกถึงความจริงใจเพื่อช่วยกันพัฒนาอย่างเป็นระเบียบแบบแผน ยืนอยู่บนพื้นฐานความเคารพและเข้าใจกันสืบต่อไป
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์
* นำข้อมูลบางส่วนมาจากสุนทรพจน์ของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี "ทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีนอย่างรอบด้าน" ณ โรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรุงปักกิ่ง วันพุธที่ 18 เมษายน 2555 เวลา 10.00-10.40 น. (www.matichon.co.th)