ปัจจุบัน เทศกาลดนตรีตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีนก็ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นจีน ชาวต่างประเทศและผู้ที่ยังมีหัวใจวัยรุ่นอยู่ทั้งหลาย ซึ่งถือว่าได้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น จนทำให้ขยายขนาดและยกระดับเป็นเทศกาลประจำปีของช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิที่ทุกคนต่างตั้งตารอคอย
ถ้าเอ่ยถึงเทศกาลดนตรีประจำปีแห่งแรก ที่ถือเป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งเป็นครั้งแรก และมีวัยรุ่นจีนน้อยคนนักที่ไม่รู้จักเทศกาลดนตรีที่เป็นตำนาน นั่นคือ "เทศกาลดนตรีโมเดิร์นสกาย" ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี ต่อมาทางบริษัทโมเดิร์นสกาย เรคคอร์ด เป็นทั้งค่ายเพลงและผู้จัดเทศกาลจึงได้จัดเทศกาลดนตรีเพิ่มขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติหยุดติดต่อกัน 3 วันและให้ชื่อว่า "เทศกาลดนตรีสตอร์เบอร์รี่" จัดที่สวนสาธารณะทงโจวยุ่นเหอ เขตทงโจว ปักกิ่ง ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมตัวกันของวัยรุ่นจีนสไตล์อินดี้ ฮิปๆ สดใส ร่าเริง และเป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับวงดนตรีนอกกระแสของจีนขึ้นมาแสดงความสามารถกัน นอกจากดนตรีแล้ว ยังมีส่วนจัดแสดงงานศิลปะและการออกร้านต่างๆ มากมายที่มีลักษณะเฉพาะตัวและน่าสนใจมาก สินค้าบางชนิดที่ไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านทั่วไปในปักกิ่ง บางอย่างที่ไม่เหมือนใครหาได้ในงานนี้เท่านั้น นอกจากวงดนตรีจีนแล้ว ยังมีวงต่างประเทศชั้นนำต่างๆ เข้าร่วมด้วย เพราะว่าเทศกาลนี้มีถึง 6 เวที แบ่งตามดนตรีประเภทต่างๆ
หากพูดถึงเทศกาลดนตรีสตอร์เบอร์รี่แล้วไม่พูดถึงอีกเทศกาลหนึ่งก็จะถือว่า ไม่รู้จักเทศกาลดนตรีในปักกิ่งดีพอ เพราะเทศกาลนี้เริ่มจัดใกล้เคียงกันและมีชื่อเสียงพอๆ กัน นั่นคือ "เทศกาลดนตรีมีดี้" (ชาวจีนจะออกเสียงเป็น หมีตี๋) ที่สวนสาธารณะโอลิมปิก เขตซุ่นอี้ของปักกิ่ง และเน้นดนตรีร็อคเป็นหลัก อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้วงร็อคหน้าใหม่ของจีนได้ขึ้นมาแสดงบนเวทีด้วย เป็นเหมือนพื้นที่สร้างโอกาสและอาจจะโดนใจค่ายเพลงต่างๆ ที่มักจะไม่พลาดมาร่วมงานเพื่อค้นหาวงดนตรีหน้าใหม่เพื่อดึงเข้าสังกัด ซึ่งได้ยินมาว่า มีวงดนตรีหลายวงที่แจ้งเกิดจากเวทีนี้ด้วย สำหรับปีนี้ ทางผู้จัดงานได้เตรียมไว้ 4 เวทีสำหรับวงดนตรีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งตั้งชื่อเวทีตามราชวงศ์ของจีนสมัยโบราณ ได้แก่ เวทีถัง เวทีซ่ง เวทีชิงและเวทีหยวน ธีมงานของปีนี้คือ PM 2.5 (ค่าพีเอ็ม 2.5 ไมครอน ค่าฝุ่นผงที่อันตรายในอากาศ) เพื่อสร้างความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับทุกคน ส่วนบรรยากาศของงานก็จะคล้ายๆ กันเพราะจะมีส่วนของการจัดแสดงงานศิลปะและการออกร้านต่างๆ จากวัยรุ่น และบริษัทที่ต้องการมาจับตลาดวัยรุ่นของจีน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม อาหาร โทรศัพท์มือถือ บริการโหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นต้น
สองเทศกาลนี้จัดขึ้นในวันและเวลาพร้อมกัน แต่ต่างสถานที่กันเรียกว่า คนละมุมเมืองเลยก็ว่าได้ โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม เริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายโมงไปจนถึงสี่ทุ่ม สถานที่จัดสองเทศกาลนี้จะจัดขึ้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของกรุงปักกิ่ง ผู้ฟังสามารถเลือกไปฟังตามความชอบและความสนใจ สองเทศกาลนี้ไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง หากเมื่อยก็นั่งบนพื้นหญ้าในสวนสาธารณะใต้ต้นไม้ แค่นั่งดูผู้คนมากหน้าหลายตาพร้อมกับฟังดนตรี ก็ถือว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนที่มีความสุขและผ่อนคลายมาก
หากมองลึกลงไปในบรรยากาศที่สนุกสุดเหวี่ยง ภายใต้เสื้อผ้าแปลกตา สีสันจัดจ้านและการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองของเหล่าผู้ฟังและผู้ชมแล้ว ถือว่าสองเทศกาลนี้ได้เปิดพื้นที่ให้กับเหล่าวัยรุ่นที่ต้องการแสดงพลังและปลดปล่อยตามวัยของตัวเองอย่างถูกที่ถูกทางมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเสียงเพลง ด้านการออกแบบ ด้านการสร้างสรรค์ต่างๆ และที่สำคัญ สอนให้พวกเขารู้จักการเป็นผู้ฟังและผู้ชมดนตรีที่ดีแบบชนชาติที่มีอารยะ เพราะว่าทั้งสองเทศกาลมีกติกาที่เคร่งครัดสำหรับผู้เข้าร่วมงาน เช่น ต้องแยกขยะก่อนทิ้ง ต้องช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่ร่วมกัน ทางผู้จัดก็ได้มีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินต่างๆอีกด้วย ส่วนทางการเองก็อำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจกับผู้เข้าร่วมงานทั้งเรื่องสถานที่และความปลอดภัย รวมทั้งการตรวจค้นก่อนเข้างานอย่างเข้มงวด ไม่สามารถนำเครื่องดื่มจากข้างนอกหรือของมีคมประเภทต่างๆ เข้าไปในงานได้
ไม่ใช่แค่วัยรุ่นจะรู้สึกปลดปล่อยและสนุกสนานภายใต้แสงแดดสดใส ลมพัดเย็นสบาย เคล้าเสียงดนตรีที่ไพเราะเท่านั้น รับรองว่า ไม่ว่าอายุแค่ไหนได้ร่วมเทศกาลดนตรีประจำปีแบบนี้ทุกคนต้องรู้สึกพิเศษและมีความสุขแน่นอน เพราะดนตรีเปรียบเสมือนภาษาสากลภาษาหนึ่ง ที่ไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศและอายุ ถึงแม้จะฟังภาษานั้นๆ ไม่เข้าใจก็ตาม แค่ฟังท่วงทำนองและจังหวะ ก็ทำให้ทุกคนต่างหันมายิ้มและสามารถหล่อหลอมให้ผู้คนรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันได้
ดั่งพระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 (จากต้นฉบับของ วิลเลียม เชคเปียร์) ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
"ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังมัก มโนหนักมืดมัวเเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกเช่นกล่าวมานี้
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ"
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์
*ชมแหล่งภาพอ้างอิงรวมทั้งข้อมูลรายละเอียดและตารางการแสดงเพิ่มเติมได้ที่ http://strawberry2012.modernsky.com/ie6/default.html และ http://www.midimidi.cn/html/midimusic/