เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ของเล่นเด็กจีนและฮ่องเต้องค์น้อย
  2012-06-01 15:38:20  cri

 วันเด็กสากล 1 มิถุนายนเวียนมาอีกรอบ หลายพื้นที่ต่างมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุก ซึ่งการเล่นสนุกถือเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเด็กทุกคนไม่ว่าจะชาติไหนภาษาใด และนับตั้งแต่เด็กคลอดออกมา ผู้ใหญ่ก็จะคอยสรรหาของเล่นต่างๆ มาคอยเอาอกเอาใจ ซึ่งของเล่นเด็กจีนในสมัยโบราณจะมีรูปลักษณ์ที่ธรรมดากว่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยอาศัยวัสดุอุปกรณ์จากที่มีอยู่ในธรรมชาติและหาได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นพวกงานฝีมือที่คิดประดิษฐ์ประดอยกันขึ้น เพื่อสร้างความสนุกสนาน รวมถึงช่วยเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการต่างๆ ให้กับเด็กไปได้พร้อมกัน

ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยและยังคงนิยมกันถึงปัจจุบัน ได้แก่ ตุ๊กตาเสือ (布老虎) ซึ่งทำมาจากผ้ายัดนุ่น ที่มีการเย็บปักลวดลายสวยงามเป็นรูปลักษณ์ของเสือที่มีหัวโต ตาโต ปากใหญ่ หางใหญ่ ท่วงท่าดูองอาจแกร่งกล้าและมีสีสันสดใส จึงเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ อย่างมาก โดยชาวจีนถือว่า เสือเป็นสัญลักษณ์แห่งความศิริมงคล ทรงพลังอำนาจ สามารถปกปักรักษาและป้องกันไม่ให้ภูตผีปีศาจสิ่งร้ายๆ ใดๆ มากล้ำกราย และนิยมมอบตุ๊กตาเสือนี้ให้กับเด็กๆ ในช่วงเทศกาลบ๊ะจ่าง

สินค้าที่พ่อค้าหาบเร่มาขายมีทั้งของเล่นเด็ก อย่างกลองป๋องแป๋ง

รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ สำหรับผู้ใหญ่

นอกจากนี้ยังมีกลองป๋องแป๋ง (拨浪鼓) ที่เด็กๆ ต่างคุ้นเคย ซึ่งนอกจากเป็นของเล่นติดมือติดใจพวกเด็กๆ มาตลอดทุกยุคทุกสมัยแล้ว ในสมัยโบราณพวกที่เดินเร่ขายของตามตรอกซอกซอยต่างๆ ก็มักจะมีถือติดมือไว้คอยขยับเรียกลูกค้า บอกถึงการมาของตน และชวนให้ผู้คนออกมาเลือกซื้อเลือกชมสินค้ากัน แต่ไม่ว่าจะเป็นของเล่นของเด็ก หรืออุปกรณ์เรียกลูกค้าของพ่อค้าหาบเร่ ต่างไม่ใช่คุณสมบัติแต่ดั้งเดิมของการกำเนิดกลองป๋องแป๋ง เพราะเดิมทีกลองป๋องแป๋งนี้ถือเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน นับแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น โดยแรกเริ่มถูกใช้เป็นเครื่องดนตรีอย่างง่ายๆ ที่มีชื่อเรียกว่า ถาวกู่ (鼗鼓)

ส่วน "เก้าห่วงปริศนา" (九连环) ถือเป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมและมีความซับซ้อนมากกว่า โดยผู้เล่นต้องขบคิดหาวิธีนำห่วงทั้งเก้าที่คล้องเกี่ยวกันอยู่นั้นย้ายขึ้นและปลดลงให้ได้ ดังนั้น การเล่นและแก้เกมเก้าห่วงปริศนานี้จึงถือว่าช่วยเสริมสร้างทักษะให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี

(ซ้าย) เก้าห่วงปริศนา / (ขวา) กระบอกหึ่ง(空竹) ของเล่นที่

ทำจากไม้ไผ่เมื่อเขย่าเชือกเหวี่ยงไปมาจะเกิดเสียงดัง

การเล่นสนุกเป็นธรรมชาติของเด็ก ที่นอกจากจะไม่แบ่งชนชาติและภาษาแล้ว ยังไม่มีการแบ่งชนชั้นด้วย ไม่ว่าจะส่ามัญชนหรือเชื้อพระวงศ์ชนชั้นสูงอย่างฮ่องเต้ ต่างต้องผ่านวัยเด็กที่รักการเล่นสนุก และชอบเล่นของเล่นมาเหมือนกัน ดังนั้น ในสมัยราชวงศ์ชิง พวกสตรีชั้นสูงในรั้วในวังไม่ว่าจะเป็นพระมเหสี หรือพระสนมต่างมีของเล่นประทานให้เหล่าองค์ชายองค์หญิงตัวน้อยอยู่เสมอ

ยิ่งในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง จำนวนของเล่นในวังยิ่งมีเพิ่มขึ้นมาก เนื่องเพราะผู้ที่ขึ้นครองราชบัลลังค์มังกรนั้น เป็นเพียงจักรพรรดิพระองค์น้อยติดกันถึง 3 พระองค์ โดยฮ่องเต้ถงจื้อ同治ขึ้นครองราชย์ด้วยวัยเพียง 6 ขวบ ถัดต่อมาเป็นฮ่องเต้กวงซวี่光绪 ครองราชย์ตอน 4 ขวบ และมาถึงฮ่องเต้เสวียนถ่ง หรือผู่อี๋(溥仪) ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของจีนขึ้นครองราชย์ตอน 3 ขวบ

ส่วนหนึ่งของของเล่นวัยเด็กของจักรพรรดิจีนที่จัดแสดงให้ชมในพิพิธภัณฑ์กู้กง กรุงปักกิ่ง

 http://www.dpm.org.cn/shtml/2/@/8797.html

 

ด้วยเหตุนี้จึงมีของเล่นแบบต่างๆ หลงเหลืออยู่ในพระราชวังกู้กงไม่น้อย ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของเล่นของจีนและต่างประเทศ มีทั้งแบบตั้งดูเล่นเพลินๆ อย่างตุ๊กตาดินปั้นรูปต่างๆ มาจนถึงของเล่นที่มีความประณีตวิจิตรบรรจง หรือสร้างเสียงไพราะอย่างกล่องดนตรีจากสวิตเซอร์แลนด์ หรือเป็นของที่สามารถจับขยับเสริมทักษะอย่างไม้ประดิษฐ์ 7 ชิ้น(七巧板)ของจีน หรือตัวต่อไม้จากอังกฤษ ซึ่งเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ความรักและความเอาใจต่อความสุขสนุกในวัยเด็ก จะช่วยให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีความสุข และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในอนาคตได้อย่างไม่ย่อท้อ

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

มิวสิควีดีโอเพลง "สบาย สบาย (舒服舒服)" ของนักร้องชายชาวปักกิ่ง "ต้าจางเหว่ย(大张伟)"

กับบรรยากาศการละเล่นแบบต่างๆ ที่เด็กจีน-ไทยต่างเคยคุ้นกันดี

อาทิ ตั้งเต(跳房子) พันด้าย(翻绳儿) เป่าลูกโป่ง(吹泡泡)

กระดาษทำนายหุบๆ อ้าๆ (折纸游戏 : 东南西北)

รับชมได้ที่ http://v.youku.com/v_show/id_XMjQ5NTU4MjY4.html 

 

ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

* เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:"กลเก้าห่วง"เกมลับสมองประลองความเพียร

https://thai.cri.cn/247/2012/06/08/225s198860.htm

 

* เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ต้นกำเนิดไม้ประดิษฐ์ 7 ชิ้น

https://thai.cri.cn/247/2012/06/05/225s198742.htm

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040