ถึงแม้เผชิญกับปัญหาทวิภาคีหรือพหุภาคีนานัปการ จีนกับสหรัฐฯ ยังคงต้องตอกย้ำความประสงค์ที่จะร่วมมือกัน ทั้งนี้เกิดจากสถานการณ์ที่สองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแนบแน่น สองฝ่ายมีข้อแย้งและข้อพิพาทก็จริงอยู่ แต่ไม่มีฝ่ายใดต้องการให้มารบกวนกระทั่งชี้ขาดทิศทางของ "ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดของโลกนี้" หากต่างฝ่ายต่างต้องการให้ "ควบคุม" สถานการณ์ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ การเคารพผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดและสิ่งที่มีความสำคัญของกันและกัน จึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนอื่นใดในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน และกล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ เป็นพื้นฐานขั้นต้นที่สุด
ปัจจุบันโลกยังคงไม่มีสันติสุข ตั้งแต่ปัญหาร้อนแรงระดับภูมิภาคที่ยืดเยื้อมานาน เช่น วิกฤตซีเรียและปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ไปจนถึงปัญหาสำคัญๆ ระดับโลก เช่น เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ความมั่นคงทางอาหารที่มีความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หาฉันทามติได้ยาก ล้วนต้องการให้จีนกับสหรัฐฯ เพิ่มการประสานงานมากขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการรับมือและยุติปัญหา หรือเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น และภายในปีนี้จะมีการจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำเอเปก การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และกิจกรรมพหุภาคีอื่นๆ ตามลำดับ ดังนั้น การเยือนจีนของนางฮิลลารี คลินตันในครั้งนี้จึงมีส่วนช่วยให้สองฝ่ายปรับความเข้าใจและประสานจุดยืนเกี่ยวกับปัญหาสำคัญๆ ให้มากขึ้น
จีนกับสหรัฐฯ มีผลประโชยน์ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หากสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองได้ในเอเชีย-แปซิฟิก จีนกับสหรัฐฯ ก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองได้ในทั่วโลก ช่วงก่อนเยือนจีน นางฮิลลารี คลินตันระบุอีกครั้งว่า มหาสมุทรแปซิฟิกใหญ่พอที่จะหลอมรวมทุกประเทศและภูมิภาค ซึ่งรวมถึงจีนกับสหรัฐฯ ด้วย ท่าทีเช่นนี้ทำให้ผู้คนทั้งหลายที่ประสงค์จะสร้างสันติภาพและความปรองดองในเอเชีย-แปซิฟิกโล่งอกไปไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกัน ก็จะติดตามต่อไปว่าวาจากับการปฏิบัติจะตรงกันหรือไม่ในที่สุด
การร่วมแสวงหาหนทางแห่งความร่วมมือแทนที่จะเป็นปฏิปักษ์กัน การได้ประโยชน์ร่วมกันแทนที่จะเป็น "เกมผลรวมเป็นศูนย์" ยังคงควรเป็น "ตัวหารร่วมใหญ่ที่สุด" ที่จีนกับสหรัฐฯ ต้องการ
(TON/LING)