สำนักข่าวซินหวารายงานว่า หลังจากเส้นทางหลวงเชื่อมระหว่างคุนหมิง-กรุงเทพฯระยะทาง 1,800 กม.เปิดใช้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 แต่พบอุปสรรคทำให้การขนส่งไม่สะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากต้องผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมหลายแห่ง อีกทั้งกฎระเบียบ เงื่อนไขของแต่ละประเทศที่จะเก็บภาษีสินค้า รวมทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นในการหารือร่วมของผู้รับผิดชอบภาคเอกชนจีน ลาว และไทยที่ได้เข้าร่วมงานมหกรรมจีน-เอเชียใต้ครั้งแรกเมื่อเร็วๆนี้ จึงเสนอให้ใช้กลไกภาคเอกชนร่วมเพื่อแก้ปัญหาภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล อาทิ ใช้เงื่อนไขทางการตลาด สร้างกติการ่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งในภูมิภาค
นายหวาง ยี่หมิง ประธานสหพันธ์การพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ของมณฑลยูนนานกล่าวว่า มณฑลยูนนานเป็นมณฑลสำคัญของจีนที่ได้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางหลวงระหว่างประเทศของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง จึงหวังว่าเส้นทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ ที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจการค้าของเมืองหลักๆ ที่อยู่ริมทางหลวงขยายตัวมากขึ้นอีกทั้งเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกในการนำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดภายในแต่ละประเทศ
เมื่อปีพ.ศ.2552 จีน ลาว และไทยได้ตั้งกลไกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาแล้ว โดยใช้การเจรจาระหว่างภาคเอกชนในการคลี่คลายกฎระเบีบต่างๆที่เป็นอุปสรรค นอกเหนือจากการใช้กลไกในระดับรัฐบาล
นายหลิว จินซุน เลขาธิการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เห็นว่า กลไกภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการขนส่งดังกล่าวข้างต้น
มีรายงานว่าตั้งแต่ก่อตั้งกลไกประสานงานภาคเอกชนสามารถลดจำนวนด่านเก็บค่าธรรมเนียมภายในประเทศลาวจาก 8 แห่งเหลือ 3 แห่ง ทำให้การขนส่งสินค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น
เส้นทางขนส่งคุนหมิง –กรุงเทพฯ หรือที่เรียกว่า เส้นทาง คุณ-มั่นระยะทาง 1,800 กม. ผ่านสามประเทศได้แก่ จีน ลาวและไทย เปิดใช้มาตั้งแต่พ.ศ. 2551
(NUNE/zheng)