ระหว่างบรรทัด :ประเสริฐ ยอดแก้ว ศิลปินไทยรุ่นใหม่ กับการแสดงงานเดี่ยวศิลปะในกรุงปักกิ่ง
  2013-07-29 17:14:12  cri

 ประเสริฐ ยอดแก้ว หน้าห้องแสดงผลงานของตัวเอง

ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม – 30 สิงหาคม 2556 ถ้าใครได้แวะเวียนมาที่กรุงปักกิ่ง อยากชวนให้หาโอกาสแวะไปย่าน 798 ซึ่งเป็นสถานที่จัดให้มีการแสดงผลงานศิลปะของศิลปินมากมายหลายแขนงทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเจ้าของแกลอรี่และร้านรวงต่างๆ นับร้อยแห่งหมุนเวียนมาแสดงผลงาน

ที่นั่นกำลังมีการจัดแสดงงาน installation ของศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ชาวไทย "ประเสริฐ ยอดแก้ว" เด็กหนุ่มอายุ 26 ปีจากจังหวัดสงขลา เป็นคนไทย คนที่สองที่ได้รับเชิญให้มาแสดงผลงานเดี่ยวที่ Tang Contemporary Art ในชุดชื่อ " How to get back to Heaven" หรือเรียกชื่อไทยว่า จะขึ้นสวรรค์ได้อย่างไร

 

นิทรรศการ installation ชุด " How to get back to Heaven"

ผลงานของประเสริฐ นำเสนอชุดความคิดที่เป็นส่วนผสมระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยกับความคิดใหม่ และตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้ส่วนผสมระหว่างงานศิลปะกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยจำลอง ความคิดจาก"ราชรถ" ซึ่งเป็นยานพาหนะในพิธีส่งศพของเจ้านายหรือบุคคลชั้นสูงขึ้นสู่สวรรค์ ประกอบขึ้นจากรถจักรยาน ตกแต่งด้วยเศษวัสดุที่หาได้ทั่วไปที่ถูกทิ้งแล้ว บนราชรถมีปูนปั้นพลาสเตอร์เป็นรูปคนโดยใช้โครงหน้าของศิลปิน มีกรงนกที่ภายในปั้นรูปเทวดานางฟ้า เพื่อเป็นผู้บอกทาง

 

มุมมองจากด้านหลังของราชรถ

มีการตกแต่งลวดลายโดยจำลองความคิดจากการตกแต่งงานศิลปะที่สวยงาม

บนราชรถที่ใช้ในพิธีการสำคัญ

นอกจากนี้ภายในรถยังมีสื่อวิดีโอ 31+4= Angel. เล่าเรื่องราวของเทวดาที่ตกจากสวรรค์มาสู่โลกของมนุษย์ แล้วพยายามหาหนทางต่างๆเพื่อทำให้กลับขึ้นสู่สวรรค์ได้ ก็เลยคิดว่าจะต้องสร้างราชรถ เพื่อเป็นพาหนะโดยใช้สิ่งของที่มีอยู่ในโลกมนุษย์เท่าที่พอจะหาได้มาประกอบสร้างขึ้น

ประเสริฐ เล่าแรงบันดาลใจของการคิดงานชุดนี้ว่า เกิดจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมคนไทยชอบทำบุญ ขอพร เพื่อหวังว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ ก็เลยคิดว่า ถ้าเทวดาตกสวรรค์ลงมาแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองได้กลับขึ้นไปสู่สวรรค์อีก ก็คงต้องทำแบบเดียวกับมนุษย์นั่นเอง คือ ทำทุกอย่างให้ตัวเองได้กลับไปอีกครั้ง เทวดาจะไปหาสิ่งของได้จากที่ไหน เพราะไม่มีเงินก็คงต้องเก็บของที่คนอื่นเขาทิ้งแล้วมาใช้ จึงเป็นที่มาของการเอาเศษวัสดุเก่ามาสร้างชิ้นงาน จากนั้นเขานึกถึงการเชื่อมโยงกับบุญรูปแบบต่างๆในคติความเชื่อของคนไทย รวมทั้งพิธีชักพระ การทำบุญ การบริจาค เมื่อได้ความคิดแล้วก็นำเศษวัสดุต่างๆที่หาได้มาประกอบให้เป็นรูปร่าง โดยใช้สื่อมัลติมีเดียเป็นส่วนผสมและห้อยเปลือกทุเรียนติดซิป แขวนไว้ด้วย

"ผมเอาเปลือกทุเรียนมาติดซิปแขวนไว้ด้วย เพราะผมอยากประชดคนในสมัยปัจจุบันนี่แหละครับ เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างในชีวิตมันเอาง่าย เอาสะดวกเข้าว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ต้องด่วน รวดเร็ว ไม่ทันใจ ผมนึกเชื่อมโยงไปถึง ขอโทษนะครับ.. แม้กระทั่งการมีความสัมพันธ์กันระหว่างชายหญิง มันก็ง่าย แค่เพียงรูดซิป แล้วทุเรียนนี่... ปกติ มันปอกยากใช่ไหมครับว่าจะได้กิน ก็เลยนึกว่า ถ้าเกิดมีคนทำ ทุเรียนติดซิปให้ ก็คงมีคนชอบเพราะทำให้กินได้ง่ายขึ้น เปิดได้ง่าย"

 

ประเสริฐ ทำผลงานชิ้นนี้ โดยต้องการเชิญชวนผู้เข้าชมให้ได้ร่วมกันคิดต่อ เพื่อเปิดมุมมองให้กว้างขวางขึ้น ชวนคิดและชวนตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการใช้ชีวิตด้วย ภายในงาน เขายังได้นำงานชิ้นอื่นๆมาร่วมจัดแสดง เช่น ภาพสเก็ตช์ ร่างแบบชิ้นต่างๆ และงานที่เคยจัดแสดงจากที่อื่นๆ

เขาบอกว่า ความสนุกจากการทำงานศิลปะ ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากที่ผลงานสำเร็จเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างทางที่ได้คิดค้น ปรับปรุง ดัดแปลงและตกแต่งเพิ่มเติมให้เป็นรูปร่างสามมิติ หลายๆครั้งก็แตกต่างไปจากร่างเดิมที่เป็นต้นแบบสองมิติ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา ประเสริฐสะท้อนมุมมองและความหมายของความงามด้านศิลปะไว้อย่างน่าสนใจ

" ตอนทำงาน ผมว่าเราก็ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่ได้ตั้งผลสำเร็จว่าจะต้องวางขั้นตอน 1-2-3-4-5 เป๊ะๆ ผมว่าความสนุกอยู่ระหว่างที่ได้ทดลองทำงาน และสำหรับผม เห็นว่างานที่เสร็จกับงานที่สมบูรณ์อาจไม่ได้เป็นอันเดียวกัน ซึ่งอาจคิดต่างจากคนอื่น เราค่อยๆทดลอง เอาโน่นนี่มาประกอบ ได้ทำไปด้วยคิดไปด้วย งานที่สมบูรณ์ คืองานที่เรารู้ว่า เมื่อไหร่เป็นเวลาที่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะหยุด เมื่อไหร่จะจบ... ในขณะที่คนอื่นอาจคิดว่างานที่เสร็จสมบูรณ์คืองานที่ต้องสวยงาม เรียบร้อย

เมื่อเราทำงานเสร็จแล้ว เราพอใจ เรามีความสุขในผลงาน ก็จะทำให้คนอื่นๆที่มาดูงานมีความสุขไปด้วย แต่ถ้าเราเองยังไม่พอใจ จะให้คนอื่นเขามาชื่นชมและชอบงานที่เราทำได้อย่างไร "

งานแสดงชิ้นอื่นๆของประเสริฐ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมนิทรรศการเช่นกัน

 

ประเสริฐ เป็นศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีอนาคตไกล เขาได้รับรางวัลจากหลายเวทีในเมืองไทยและเคยเดินทางไปแสดงงานต่างประเทศหลายครั้งทั้งการแสดงงานเดี่ยวและร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ อาทิ สหรัฐ สิงคโปร์ ลาว พม่า เวียดนาม เขายังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอนาคตของแวดวงศิลปะและศิลปินในเมืองไทย

"ผมคิดว่า ในเมืองไทยเปิดกว้างทางความคิดให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ แต่ยังขาดเรื่องพื้นที่เพื่อให้ศิลปินแสดงความคิดและผลงานที่ทำออกมาแล้ว และยังขาดผู้สนับสนุน ถึงแม้ว่าสมัยนี้จะดีขึ้นมาก แต่ผู้สนับสนุนจำนวนมากก็ยังนิยมจัดแสดงงานของคนที่มีชื่อเสียงเป็นหลัก..พื้นที่สำหรับศิลปินหน้าใหม่จึงยังมีน้อยอยู่ ถ้าคนสนับสนุนไม่เห็นความสำคัญ คนทำงานก็ไม่มีกำลังใจ

ศิลปินในเมืองไทยคนรุ่นใหม่ เราก็มักจะมีแรงบันดาลใจหรือมองตัวอย่างจากรุ่นพี่ คนที่เคยทำมาก่อน แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดกับกรอบการประกวด ดังนั้น ผมอยากให้คนที่จัดงานประกวดศิลปะ เปลี่ยนมุมมองใหม่ สร้างกรอบกติกาที่เปิดกว้างมากขึ้น ให้อิสระกับศิลปินคิดสร้างสรรค์งาน ไม่ใช่กำหนดว่า ต้องเป็นภาพสองมิติ ความกว้างไม่เกินสองเมตร เป็นต้น ซึ่งอาจไม่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะให้ศิลปินคิดงานใหม่ๆ เช่นใช้สื่อผสม หรือทำภาพสามมิติ นอกจากนี้ กรรมการผู้ตัดสินก็อยากให้เปิดรับความคิดของศิลปินที่อาจแตกต่างจากกรอบคนทั่วไปด้วย"

 

คาลวิน เฉิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Tang Contemporary Art

ถ่ายภาพร่วมกับประเสริฐ ยอดแก้ว ด้านหน้าผลงาน "ราชรถ"

ด้าน คาลวิน เฉิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Tang Contemporary Art เล่าเบื้องหลังการตัดสินใจคัดเลือกผลงานของประเสริฐ มาจัดแสดงเดี่ยวที่แกลอรี่ว่า ได้เคยติดตามผลงานของเขาตั้งแต่สมัยที่นำเสนอผลงานนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายให้อาจารย์พิจารณาก่อนจบปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วชอบทั้งในแง่การนำเสนอความคิด และการประดิษฐ์ชิ้นงาน

"ถังได้เปิดแกลอรี่ที่กรุงเทพฯ มากว่าสิบปีแล้ว ผมรู้จักงานของประเสริฐตั้งแต่สามปีก่อน ได้เห็นผลงานของเขาตอนนำเสนอก่อนจะเรียนจบก็รู้สึกตื่นเต้น เห็นว่ามีความน่าสนใจมาก ชอบงานชิ้นนั้นมาก ทำได้ดีมาก หลังจากนั้นเราก็ติดตามผลงานของศิลปินมาโดยตลอด แล้วก็เลยคุยกันว่า อยากชวนให้มาจัดแสดงที่แกลอรี่ในปักกิ่ง เพราะมีพื้นที่กว้างขวางกว่าแกลอรี่ที่กรุงเทพฯ ที่นี่เราเคยชวนศิลปินคนไทยมาแสดงงานหลายครั้ง มีทั้งเดี่ยวและงานกลุ่ม แต่สำหรับประเสริฐ เขาเป็นคนไทยคนที่สองที่เราเชิญให้มาแสดงผลงานเดี่ยว"

เฉิงบอกว่า ศิลปินไทย เก่ง มีความสามารถมากและใช้วัสดุผลิตชิ้นงานได้อย่างไม่มีข้อจำกัด อีกทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้เทคนิคสื่อผสมสมัยใหม่ ทำให้งานน่าสนใจมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่แวดวงของผู้สนับสนุนและคนดูชาวไทยจำนวนมาก อาจยังไม่ค่อยคุ้นเคยหรือไม่ค่อยเข้าใจความคิดของศิลปิน จึงให้ความสนใจศิลปะร่วมสมัย และศิลปะสมัยใหม่น้อย ในขณะที่ตลาดและโอกาสต่างประเทศเปิดกว้างให้ศิลปินมากกว่า

เฉิงยังฝากมุมมองเรื่องศิลปะให้กับนักสะสมงานชาวไทย ว่า อยากชวนให้มาสนับสนุนและสะสมงานที่เป็นศิลปะร่วมสมัยของศิลปินรุ่นใหม่ให้มากขึ้น เพื่อช่วยกันสร้างเวทีแสดงออกความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินและเพิ่มพื้นที่ให้กับความงามทางด้านศิลปะแขนงต่างๆมากขึ้น

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

 ผลงานของประเสริฐ ยอดแก้ว

2011 The 3rd Prize Bangkok International Print and Drawing exhibition

The 3rd Prize Bronze Medal, mixed media section,The 57th national

exhibition of art

2009 The 3rd Excellent Prize Bua Luang Painting competition Organized by

Bangkok Bank

2008 A scholarship form Yong Thai Artist Award Contest

2007 Supporting prize of The 24th Exhibition of Contemporary Art by Young

Artists

2005 Outstanding Award of 17th Toshiba "Bring Good thing to Life" Art

Competition

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040