ระหว่างบรรทัด :เทศกาลทุเรียนไทยในกรุงปักกิ่ง
  2013-09-30 18:47:41  cri

มาสคอสทุเรียนที่ต้อนรับหน้างาน

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานเทศกาลทุเรียนไทย ซึ่งสถานทูตไทยในกรุงปักกิ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อหวังจะเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ให้ชาวจีนได้รู้จัก "ราชาแห่งผลไม้" อันเลื่องชื่อของไทย โดยมีการตระเตรียมทุเรียนสด ส่งตรงจากเมืองไทยให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลิ้มชิมรสชาติด้วย พบว่าคนที่มาร่วมงานจำนวนมากนับร้อยคนเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวชาวจีน ที่ลงทะเบียนผ่านสื่อออนไลน์ we chatของทางสถานทูต

ทุเรียนสด ส่งตรงจากเมืองไทย

ทุเรียนสด ส่งตรงจากเมืองไทย

ทุเรียนสด ส่งตรงจากเมืองไทย

ส่วนที่น่าสนใจ ในงานก็คือช่วงตอบคำถามเพื่อเล่นเกมคำถามเกี่ยวกับเมืองไทยหลากหลายแง่มุม ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ศิลปิน ดารา ละคร ภาพยนต์ จังหวัด และเพลง รวมทั้งดอกไม้ประจำชาติ และปีที่ไทยจีนสถาปนาความสัมพันธ์

เอกอัครราชทูตไทยวิบูลย์ คูสกุล ร่วมสนุกกับผู้เข้าร่วมงานช่วงตอบคำถาม

น่าทึ่งมากที่ผู้เข้าร่วมงานชาวจีนตอบได้หมด แถมรู้ลึกไปถึงว่า มีข้อควรระวังอะไรบ้าง เมื่อมาเมืองไทย เช่น คนไทยถือเรื่องการเล่นหัว ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นเข้าวัด และคนไทยยืนขึ้นเมื่อเปิดเพลงชาติตอนเช้ากับตอนเย็น กับเมื่อดูหนังในโรงแล้วจะมีเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่คนไทย ยืนขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ

แสดงว่าคนจีนมีความสนอกสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างมาก ถึงได้รู้ข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อนคนจีนเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ความนิยมชมชอบเมืองไทย มีมากถึงขนาดว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่ติดตามละครและสื่อบันเทิงไทย ถึงกับมีการรวมกลุ่มกัน ตั้งเป็นแฟนคลับของศิลปิน ดาราหรือนักร้องคนโปรด มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และนัดหมายกันเป็นกลุ่มๆ เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองไทย และหาโอกาสไปพบปะกับศิลปินขวัญใจของตัวเองด้วย ความคลั่งไคล้ มีถึงขั้น พากันไปเที่ยวบ้านเกิดของศิลปินที่อยู่ต่างจังหวัดด้วยก็มี (แฟนคลับแบบนี้ ก็มีมากที่เมืองไทยเช่นกัน) ที่น่าประทับใจในความรู้สึกของเพื่อนชาวจีนก็คือ เกิดมิตรภาพระหว่างแฟนคลับด้วยกันเอง และเคยมีการให้ความช่วยเหลือเพื่อนในแฟนคลับที่เจ็บป่วยและกำลังลำบากด้วย

กิจกรรมภายในงานมีช่วงแนะนำเกร็ดน่ารู้ แนะนำเทคนิคให้ชาวจีนได้รู้วิธีการเลือกทุเรียนด้วย เช่น

ดูว่า ทุเรียนสุกหรือยัง ให้สังเกตเส้นกลางพู สีน้ำตาลที่จะเข้ม แล้วเมื่อผ่าเปลือกออก ก็ผ่าตามแนวเส้นนี้ จะผ่าง่าย พอรอยแยกยาวไปถึงก้นลูกแล้ว เปลือกฝั่งตรงข้ามก็จะแตกออกเช่นกัน แค่งัดเบาๆ ก็แยกหมดแล้ว

เทคนิคอย่างอื่น เช่น การดูน้ำหนักของทุเรียน

การดมกลิ่น ถ้าสุกแล้ว จะไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว

การใช้ไม้เคาะ เพื่อฟังเสียงกลวงข้างในลูก ซึ่งเกิดจาก เมื่อทุเรียนสุก ส่วนที่เป็นเนื้อ จะแยกออกจากส่วนที่เป็นเปลือกเล็กน้อย ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน

ผู้เชี่ยวชาญกำลังแนะนำเทคนิคการเลือกทุเรียนที่สุกพร้อมทาน

ผู้เชี่ยวชาญกำลังแนะนำเทคนิคการเลือกทุเรียนที่สุกพร้อมทาน

นอกจากนี้ ทุเรียน ถ้าสุกมาก ก็จะมีรอยแตกที่ก้นลูก ยิ่งรอยแยกกว้างมาก ก็แสดงว่า สุกมาก ซึ่งเมื่อสุกมาก ทุเรียนก็จะมีรสขมปนเล็กน้อย

ตอนผู้เขียนมาเมืองจีนใหม่ๆ เป็นฤดูกาลที่มีทุเรียนขายพอดี ไปร้านผลไม้ที่ไหนก็จะเห็นขายทุเรียนก้นแตกทั้งนั้น บ้างก็ใช้เชือกมัด ให้อยู่คงรูปเป็นลูกๆ แล้วก็ได้ยินว่า คนจีนชอบกินทุเรียนสุกจัดๆ อย่างที่เมืองไทย คงเอาไปกวนแล้ว และต้องแบบกลิ่นแรงๆ ด้วยนะจึงจะเชื่อว่าเป็นของดี

ตอนแรกสงสัยว่ามันแตกเอง หรือเพราะทางร้านเปิดก้นทุเรียน เพื่อให้ลูกค้าได้กลิ่นและดูคุณภาพของเนื้อ เหมือนที่เมืองไทยเจาะช่องเล็กๆให้ดู แต่สุดท้าย ไปค้นหาความจริงจนทราบว่า ที่ก้นแตก เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการขนส่งทางไกล เป็นระยะเวลานาน เมื่อไปถึงเมืองจีนก็สุกจัดนั่นเอง

ท่านเอกอัครราชทูตวิบูลย์ คูสกุล ได้กรุณาเล่าให้ฟังจึงได้ทราบว่า ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีข้อตกลงให้ส่งทุเรียนสดเข้ามาในจีนได้... เป็นความได้เปรียบอย่างมาก ไม่นับเรื่องการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ก็จะทำให้ไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนส่งผลไม้สดเข้ามาในตลาดจีนได้รวดเร็วขึ้น

ท่านทูตฯกล่าวติดตลก แต่มีความหมายจริงจังที่ต้องคิดเพิ่มเติม นั่นก็คือ ท่านบอกว่า โอกาสสำหรับผลไม้สดของไทยในตลาดจีนยังมีอีกมาก โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นที่โปรดปรานของชาวจีน ดังนั้นตอนนี้ เกษตรกรไทยคนไหนที่มีสวนทุเรียน ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจขายที่ดินเพื่อไปทำคอนโดเสียก่อน เพราะตอนนี้คนจีน มีกำลังซื้อมากขึ้น แล้วคนจีนมีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย.. ไม่ขี้เหนียว ถ้าลงปักใจว่าชอบแล้วล่ะก็ ไม่เกี่ยงเรื่องราคา แต่ขอให้ได้ของคุณภาพดี คุ้มค่า ดังนั้นสิ่งที่คนไทย และเกษตรกรต้องให้ความสำคัญมากๆ คือ เรื่องของคุณภาพสินค้า และเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยของอาหาร...

ถ้าทำสองอย่างนี้ได้ รับรองว่า อนาคตรุ่งแน่ๆ

สำหรับผู้เขียน คิดว่า นอกจากเกษตรกร จะต้องเตรียมความพร้อม สำหรับคุณภาพการผลิตสินค้าแล้ว ในด้านหนึ่งก็ต้องการ การสนับสนุนเชิงนโยบาย และการส่งเสริมจากรัฐบาลและผู้รับผิดชอบด้วย เพื่อให้การค้าสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น และเกษตรกรได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นธรรมมากกว่าส่วนแบ่งที่ต้องจ่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตลาดการค้า ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งหลายประเทศ ก็มีสินค้าเกษตรที่เหมือนๆ กับเมืองไทย นอกจากการเป็นพันธมิตรที่ร่วมมือกันแล้ว ในด้านหนึ่ง ชาติสมาชิกอาเซียนบางส่วนก็เป็นคู่แข่งขันในตลาดการค้าด้วยเช่นเดียวกัน

ทำอย่างไร เราจึงจะอยู่ในสถานการณ์ที่ ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน หรือ win-win situation นั่นเอง

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040