ระหว่าง บรรทัด:ธุรกิจสิ่งพิมพ์ไทย กับการมหกรรมหนังสือนานาชาติกรุงปักกิ่ง 2013
  2013-10-07 16:52:03  cri

ชั้นหนังสือในบูธไทย

การจัดงานมหกรรมหนังสือนานาชาติกรุงปักกิ่งครั้งที่ 20 ประจำปี 2013 : The 20th The Beijing International Book Fair (BIBF) ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นงานที่เปิดเวทีให้กับคู่ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงหนังสือจากนานาประเทศได้มาเปิดบูธ นำเสนอผลงานสิ่งพิมพ์ของประเทศตัวเอง สู่ตลาดของชาวจีน โดยมีทั้งช่วงของการพบปะเจรจา แนะนำและทำความรู้จักหนังสือประเภทต่างๆ รวมทั้งการซื้อขายลิขสิทธิ์ งานแปลที่หลากหลาย

ปีนี้ งานมหกรรมฯ จัดขึ้นโดย มีสำนักพิมพ์กว่า 2,000 แห่งจากกว่า 76 ประเทศและเขตแคว้นเข้าร่วมงาน สำนักพิมพ์จากอังกฤษ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และรัสเซียมาเข้าร่วมนำเสนอหนังสือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ 25 สำนักพิมพ์จากเอเชียแอฟริกาและละตินอเมริกาก็มาจัดบูธ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งสันนิบาตอาหรับนำสำนักพิมพ์ 14 แห่งเข้าร่วมงานมหกรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งประเทศซาอุดีอาระเบียจะนำหนังสือที่ตีพิมพ์ใหม่ 500 เรื่องจากสำนักพิมพ์ 12 แห่งเข้าร่วมงาน

สำหรับประเทศไทย คุณปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นำทีมงานจากสมาคมฯ มาเปิดบูธหนังสือไทยในงานด้วย โดยปีนี้มีหนังสือจากสำนักพิมพ์ 17 แห่งที่เป็นสมาชิกสมาคม มาร่วมงานด้วย จำนวน 677 ปก

คุณปราบดา เล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานของสมาคมฯ ว่า ภารกิจหลักคือสนับสนุนงานของสมาชิกฯ ในรูปแบบต่างๆ สำหรับงานในครั้งนี้คือเป็นตัวแทนสำนักพิมพ์ในเมืองไทย เพื่อมาเปิดบูธขายลิขสิทธิ์หนังสือ ทำหน้าที่คอยต้อนรับ ให้ข้อมูลสำนักพิมพ์หรือหนังสือเล่มที่ลูกค้าสนใจ เป็นตัวแทนพูดคุยให้แทนสำนักพิมพ์ที่ไม่มีตัวแทนมาร่วมงานเองโดยตรง โดยส่วนใหญ่สมาคมฯจะไปร่วมงานใหญ่ๆ เช่น ที่ปักกิ่ง ไต้หวัน และแฟรงก์เฟิร์ต บุ๊คส์แฟร์ เดือน ตุลาคม

ในช่วง 3 วันแรกของงานมหกรรมฯ มีคู่ค้าเข้ามาสนใจ คุยด้วยตลอดทั้งวัน สำนักพิมพ์ขนาดเล็กก็จะทำงานผ่านสมาคมฯ เพื่อให้เป็นตัวแทนในการนำเสนอลิขสิทธิ์ให้ลูกค้า และผู้สนใจ อธิบายให้ฟังว่า หนังสือมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ให้เบอร์ติดต่อ เพื่อให้เขาติดต่อกันเองภายหลัง

ต้นฉบับที่เอามา มีทั้งแบบแปลเป็นอังกฤษ หรืออาจทำเรื่องย่อ อาจทำแคตาล็อคไว้ให้ดู ส่วนสำนักพิมพ์ที่เคยขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศแล้ว ก็จะมีตัวอย่างหนังสือแปลชาตินั้นๆ มาแสดงด้วย เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น รอบนี้มีตัวแทนจากสำนักพิมพ์มาด้วยกัน 15 สำนักพิมพ์

ส่วนตัวมองว่าตลาดจีน มีศักยภาพมากเพราะเพิ่งเปิดสู่กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์จากต่างประเทศ ในขณะที่จุดแข็งของกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์เมืองไทย จะโดดเด่นเรื่องของหนังสือเด็กและหนังสือภาพค่อนข้างมาก การเดินทางมาครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก็เรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อกลับไปทำการบ้านมากขึ้นสำหรับงานในครั้งต่อๆไป

ปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

สมาคมฯ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ในประเทศอยู่แล้ว บางครั้งลูกค้าเข้ามาคุย เขาอาจไม่ได้มีความตั้งใจจะซื้อเล่มใดเป็นพิเศษ ก็แค่เข้ามาพูดคุยเผื่อจะมีเรื่องที่สนใจในภายหลัง ดังนั้นก็จะต้องมีข้อมูลพร้อมสำหรับการตอบคำถาม

ความสนใจของผู้ที่เข้ามาคุย ส่วนใหญ่เป็นหนังสือเด็ก และหนังสือภาพ คนรุ่นใหม่ๆ ในเมืองจีน เริ่มต้องการเนื้อหาที่ให้กำลังใจในการใช้ชีวิตเพราะการแข่งขันในจีนเริ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

"การที่จีนเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น คนจีนก็มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ก็มีหนังสือเกี่ยวกับการให้กำลังใจ ปรัชญาเชิงจิตวิทยา หลักการทำงาน หลักการบริหารอารมณ์ การใช้ชีวิตหรือธรรมะแบบประยุกต์ คนจีนก็ให้ความสนใจเรื่องนี้มากพอสมควร

ผลงานของสำนักพิมพ์ไทย ด้านหนังสือภาพ หนังสือเด็กโดดเด่นมาก นักวาดภาพ ความสามารถอยู่ในระดับสากล และการสื่อสารเป็นภาพ สำหรับเด็กก็จะเข้าใจได้ง่าย ไม่ได้มีเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว"

คุณปราบดาเล่าวว่า การเตรียมงานก่อนออกนิทรรศการ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือก่อนมาร่วมงานเพราะ ต้องประสานงานสำนักพิมพ์ต่างๆ คัดกรองและเลือกหนังสือมา เตรียมแคตาลอค เอกสารแจกเผยแพร่ ของชำร่วย การเตรียมงานต้อนรับ และประสานงานล่ามท้องถิ่น

โดยเฉพาะการคัดเลือกและเตรียมความพร้อมของล่าม สำคัญและจำเป็นมาก เนื่องจากล่ามจะเป็นผู้ที่ช่วยให้คนที่สนใจเข้ามาคุยมากหรือน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพในการสื่อสารด้วย ต่อให้ภาพสวยก็ยากจะสนใจถ้าไม่รู้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ดังนั้นล่ามจะต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูล เขาต้องรู้เรื่องย่อ หรือเคยอ่านหนังสือเหล่านั้นแล้ว เพื่อจะตอบคำถามคนที่เข้ามาคุยด้วยได้ ให้ลูกค้ารู้ข้อมูลก่อนตัดสินใจว่า หนังสือปกนั้นๆ เหมาะกับสำนักพิมพ์ของเขาหรือไม่

นอกจากความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาหนังสือ ข้อมูลเบื้องต้นของสำนักพิมพ์แล้ว ความรู้ด้านภาษาก็จำเป็น สำหรับที่ปักกิ่ง อย่างน้อยก็ใช้ภาษาจีนกับ ไทย แต่ถ้าสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ด้วยก็จะยิ่งดี

บางสำนักพิมพ์ อาจติดต่อลูกค้าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็นัดมาคุยกันเพิ่มเติมในงาน

สำหรับแนวโน้มอนาคตสิ่งพิมพ์ที่อาจมีจำนวนลดลง เพราะมีสื่อสมัยใหม่มากขึ้นนั้น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯเห็นว่า ขึ้นอยู่กับประเภทของเนื้อหาของหนังสือที่แต่ละสำนักพิมพ์จัดทำ บางแห่งได้รับผลกระทบจริง เพราะคนรุ่นใหม่ ใช้สื่อสมัยใหม่ เช่น สมาร์ทโฟน มากขึ้นในการอ่าน ดังนั้น แนวโน้มเนื้อหาหนังสือและสิ่งพิมพ์จะมาในรูปแบบดิจิตอลมากขึ้น แต่อาจไม่กระทบกับหนังสือในประเภทวรรณกรรม เพราะคนนิยมและชื่นชอบวรรณกรรม ยังคงอยากอ่านในลักษณะรูปเล่ม ที่ได้สัมผัสกระดาษอยู่

อย่างไรก็ตาม คาดว่า หนังสือที่เป็นกระดาษในภาพรวมอาจลดปริมาณลง และเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพราะในอนาคตจะมีการขาย หนังสืออิเลคทรอนิคส์ (e-book) เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า หนังสือจะยังไม่หมดไป สำนักพิมพ์ที่ยังมีแนวทางการพิมพ์ในลักษณะรูปเล่ม ก็จะต้องปรับรูปแบบให้ความสำคัญกับคุณภาพของกระดาษและการพิมพ์มากขึ้น แม้ตลาดจะเล็กลง แต่ไม่ได้แปลว่าจะส่งผลลบ หรือไม่เป็นผลดีเสมอไป อาจมีผลดีด้วยก็ได้

" เรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ในสมาคมฯเรามีการพูดคุยกันโดยตลอด บางคนตื่นตัว และมีความกังวล แต่ก็มีกลุ่มคนที่ตื่นตัวเพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้วย เช่นกัน

สำหรับเมืองไทย ผมเชื่อว่าผลกระทบจากสื่อใหม่และสื่อออนไลน์ในระยะสั้นจะยังไม่มากนักในช่วงเวลานี้ เพราะคนยังนิยมหนังสือเล่มอยู่มากกว่า และการผลิตแบบอีบุ๊คส์ก็จะมีต้นทุนสูง มีรายละเอียดที่ต้องเตรียมเยอะ แต่ระยะยาว ผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมตัวเช่นกัน ตอนนี้พูดได้ว่าก็มีคนทั้งสองกลุ่ม สำหรับกลุ่มที่ปรับตัว อาจแบ่งสัดส่วนทำทั้งสองประเภท คือ เริ่มมาทดลองทำอีบุ๊คส์ ในเวลาเดียวกันก็พิมพ์หนังสือในลักษณะรูปเล่มไปด้วยพร้อมกัน"

ขณะนี้ จีนเปิดตลาดด้านธุรกิจสิ่งพิมพ์กว้างขวางมากขึ้น รายงานตัวเลขยอดคู่สัญญาที่ตกลงกันได้จากงานมหกรรมฯปีที่แล้วคือ 3,298 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.68 จากปี 2011 ส่วนในปีนี้ ก็ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่ของโซนด้านสื่อดิจิตอล สื่อเด็ก การ์ตูนและแอนิเมชั่น

ในขณะที่ รายงานข้อมูลทั้งด้านการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจ ตลาดจีนก็ยังเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่แห่แหนกันไปเที่ยวในเมืองไทย และความนิยมเกี่ยวกับ อาหาร สถานที่ ศิลปิน ดาราและเรื่องราวบันเทิงต่างๆ ไทยก็ยังติดอันดับยอดนิยมในหมู่ชาวจีน ดังนั้นหากรัฐบาลไทย มีนโยบายที่ดีและสนับสนุนการเปิดตลาดสู่ต่างประเทศของธุรกิจสิ่งพิมพ์ไทยเพิ่มขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าโอกาสในตลาดของประเทศจีน ยังเป็นอนาคตที่สดใสอย่างแน่นอน.. นอกเหนือไปจากโอกาสทางธุรกิจในประเทศอื่นๆที่ผลิตสิ่งพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

2013-10-07

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040