ระหว่างบรรทัด: ข้อเสนอสำหรับการเตรียมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ไทย สู่ยุคดิจิตอล และความสำคัญของการอ่าน
  2013-10-25 17:13:52  cri

วิทยุซีอาร์ไอ ภาคภาษาไทย ได้พูดคุยกับคุณปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในโอกาสที่นำคณะจากสมาคมฯ มาร่วมงานมหกรรมหนังสือนานาชาติที่กรุงปักกิ่ง ปี 2013 เกี่ยวกับมุมมองและทัศนะเรื่องโอกาสทางธุรกิจของสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่สื่อกำลังขยายตัวสู่รูปแบบของดิจิตอลมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการอ่านหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มผลิตด้วยกระดาษมากน้อยเพียงใด รวมทั้งงานด้านต่างๆที่สมาคมฯ กำลังดำเนินอยู่ ในฐานะองค์กรทางวิชาชีพที่เป็นแหล่งรวมสมาชิกในกลุ่มของผู้ประกอบการและสำนักพิมพ์ต่างๆในเมืองไทย

 

ปราบดา หยุ่น

"การอ่าน เป็นการได้เห็นโดยไม่ต้องไปไหน เป็นทางลัดของการเรียนรู้ การเดินทางทำให้เราได้เห็นโลก เปิดโลก มากขึ้น ไปต่างประเทศ ก็ได้เห็นชีวิตผู้คน เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาติอื่นๆ แต่หลายครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องไปถึงขนาดนั้น เราก็สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่าน หรือบางเรื่องยากๆ ที่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เราก็สามารถรู้ได้จากการอ่าน ความคิด การศึกษา หรือการวิจัยที่คนอื่นทำมาให้เรา โดยที่เราไม่ต้องไปทำเอง

การอ่านคือขุมทรัพย์ทางปัญญานั่นเอง สำหรับคนเรา ซึ่งมีชีวิตรอดได้ นอกเหนือจากการหาอาหารแล้ว ก็คือการแสวงหาทางปัญญา ฉนั้น การอ่านจึงมีความสำคัญมากและเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิต มีมุมมองเกี่ยวกับทัศนคติการใช้ชีวิตทุกด้าน"

คุณปราบดา มองว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย ที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ออนไลน์ แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ ในระยะสั้นสถานการณ์สิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มยังไม่น่าวิตกว่าจะลดลงหรือหมดไป เพราะแม้ว่าจะมีสื่อดิจิตอลจำนวนมากก็จริงแต่อยู่ในกลุ่มสื่อหลักสำหรับการอ่านอย่างจริงจังยังไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือเล่ม นอกจากนี้ระบบการซื้อขายทางอินเตอร์เนตในเมืองไทยก็ยังไม่พร้อม และยังไม่สมบูรณ์หรือแพร่หลาย แต่ในระยะยาว ผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมตัวเช่นกัน ดังนั้น ขณะนี้สถานการณ์จึงมีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือ มีความเป็นห่วง อยากรักษาหนังสือในรูปเล่มแบบกระดาษไว้ แต่อีกด้านก็กำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวไปสู่ระบบดิจิตอล บางสำนักพิมพ์ ได้ปรับแล้วเช่น ทำสิ่งพิมพ์และสื่อผ่านดิจิตอลอย่างละครึ่งก็มี

"สำหรับเมืองไทย เรากำลังอยู่ระหว่างการเตรียมไปสู่ดิจิตอล แต่หลายปัจจัยยังไม่รองรับ ไม่พร้อมและไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ คนที่ซื้อแอพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ส่วนใหญ่ยังเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ที่มีการขายเป็นสากล แต่เนื้อหาของคนไทย ผลิตเองโดยคนไทย ยังมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดโดยรวม หากกระทบจะเป็นลักษณะว่า คนไทยเสียดุลให้กับผลิตภัณฑ์ของต่างชาติมากขึ้น มากกว่า ส่วนภายในประเทศ การแข่งขันกันเองระหว่างสื่อดิจิตอลกับสื่อสิ่งพิมพ์ ยังมีไม่มากขนาดนั้น คือมีความกังวล แต่ยังไมถึงขั้นวิกฤต เราเตรียมสู่ดิจิตัลได้ แต่ยังไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมอย่างไร ด้านไหน เพราะคนไทยจำนวนหนึ่งยังมีความรู้ความเข้าใจไม่มากเพียงพอ อีกทั้งใช้ต้นทุนที่สูง การลงทุนแอพลิเคชั่น และการสร้างร้านหนังสือออนไลน์ และอื่นๆ หากลงทุนสูง แต่ยอดขายยังไม่ดี ก็ไม่คุ้มค่าในการลงทุน"

เมื่อถามว่า หากจะมีข้อเสนอสำหรับการเตรียมของผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดระดับสากลในยุคดิจิตอล ต้องทำอย่างไร คุณปราบดา ในฐานะอุปนายกฝ่ายต่างประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวว่า ต้องมีการสนับสนุนนโยบายในระดับชาติ ภาครัฐต้องช่วยผลักดันและส่งเสริมให้มีเวทีกลางและลงทุนให้มีสนามสำหรับการแข่งขัน เพราะลำพังผู้ประกอบการ ความสามารถและกำลังทุนทรัพย์ ยังไม่เพียงพอ หากต่างคนต่างทำ ก็จะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน

" ถ้ามีการสนับสนุนชัดเจน การเดินหน้าทิศทางของธุรกิจสิ่งพิมพ์ดิจิตอลก็จะชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะให้ความสนใจ อาจเป็นเพราะยังไม่ใช่วาระเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเวลานี้ หลายมาตรการต้องทำร่วมกัน เช่น การลดภาษี รวมรวมผู้ประกอบการด้านนี้(ธุรกิจสิ่งพิมพ์กระดาษ)ทั้งหมด มาคุยแล้วสร้างมาตรฐานร่วมกัน รัฐบาลลงทุนให้ ทุกด้านที่เกี่ยวข้อง สร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดพื้นที่กลางมาก่อนแล้วให้ผู้ประกอบการมาร่วมใช้งานได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้ หากมีใครสร้างแพลตฟอร์มได้ก่อนแล้วให้คนอื่นมาใช้ เขาก็จะกลายเป็นเจ้าใหญ่ครองตลาด ซึ่งอาจไม่ยุติธรรมสำหรับเจ้าเล็กรายอื่นๆที่จะมาร่วมใช้ด้วย รัฐบาลต้องสร้างสนามสำหรับการแข่งขัน เพื่อให้ทุกคนได้ใช้อย่างเท่าเทียมกันก่อน ได้ลงแข่งในสนามเดียวกัน แล้วหลังจากนั้นค่อยสู้กันเรื่องคุณภาพ ลักษณะความหลากหลายของแต่ละเนื้อหา แต่ละสำนักพิมพ์"

คุณปราบดาเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องต้องทำคือคือ การสนับสนุนงานและกิจกรรมด้านวัฒนธรรมทั้งหมด ไม่เฉพาะเรื่องหนังสือหรือการอ่านอย่างเดียว ต้องปลูกฝังทัศนติเกี่ยวกับเนื้อหามากกว่ารูปแบบ และการลงทุนด้านงบประมาณก็ควรมุ่งไปสู่เรื่องนี้ มุ่งไปที่การผลิตเนื้อหา และบุคคลากรที่จะผลิตเนื้อหาให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะรูปแบบของสื่อ เป็นเรื่องทางเทคนิคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้เกิดขึ้น

ประเทศไทย ไม่ได้ขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เรามีคนเขียนซอฟแวร์ ออกแบบผลิตภัณฑ์เก่งๆ มากมาย แต่ที่ขาดคือ เราไม่มีเนื้อหาใหม่ๆ ที่จะป้อนเข้าไป ทำให้ต้องเอามาทำซ้ำบ่อยๆ ตัวอย่างเช่นในงานบุ๊คส์แฟร์ ก็เห็นว่ามีเนื้อหาไม่หลากหลาย รัฐบาลต้องสนับสนุนการสร้างเนื้อหา และสร้างบุคลากรที่จะผลิตเนื้อหาให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะคนที่พร้อมจะทำมีมากมาย แต่ไม่มีกำลัง ขาดการสนับสนุน ต้องกระเสือกกระสนด้วยตัวเอง จนเหนื่อยและท้อ ทำต่อไปไม่ไหว ยกตัวอย่าง บางคน สร้างสรรค์งานเขียนด้วยใจรัก แต่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง จนนานๆ ไปก็จะเหนื่อยแล้วหมดแรง ก็ไม่ทำต่อ เพราะทำไม่ไหว รัฐบาลต้องสร้างกลไกมารองรับเรื่องเหล่านี้ พวกเขาต้องการ การสนับสนุน ได้มีพื้นที่เพื่อพัฒนาตัวเองให้ไปต่อได้ ทำงานที่ดีต่อได้

อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวว่า สำหรับบทบาทงานสมาคมฯ จากเดิมที่เป็นที่รู้จักแค่เพียงเป็นผู้จัดงานมหกรรมและสัปดาห์หนังสือ ภายในปีสองปีข้างหน้า อยากทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้เป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์ ในการแลกเปลี่ยนเนื้อหาและมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องทำงานเฉพาะช่วงออกงานเทศกาลหนังสือในต่างประเทศ แต่สามารถใช้เวป และจดหมายข่าวของสมาคมฯ สื่อสารกันเอง สื่อสารกับต่างประเทศ และเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักพิมพ์มากขึ้นได้

ประเทศไทย ค่อนข้างมีศักยภาพและมีผลงานคุณภาพ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในอาเซียน เราทำหนังสือได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก พราะเราเป็นประเทศเดียวที่ใช้ภาษาไทย ขณะที่ประเทศอื่นๆมีการผลิตงานภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก และใช้อังกฤษกันได้แพร่หลาย ตลาดจึงกว้างขวาง แต่งานด้านนี้ของไทยกลับพัฒนามากกว่า รวมทั้ง ร้านหนังสือ คุณภาพ การพิมพ์ คุณภาพนักเขียน การออกแบบ ไทยจึงมีแต้มต่อและมีศักยภาพที่ดีมากในการพัฒนาต่อให้เป็นศูนย์กลางของเอเชีย ก้าวสู่ระดับนานาชาติ

ตัวอย่างผลงานของสิ่งพิมพ์ไทยในตลาดต่างประเทศ

แต่ที่ผ่านมา เรายังไม่มีเนื้อหาที่ดึงดูดชาวตะวันตกมากเพียงพอ เนื้อหายังเฉพาะท้องถิ่นไทยมากไป ยังไม่เป็นที่สนใจระดับสากล คนต่างชาติเขาไม่รู้ว่าเกิดอะไรในบ้านเราบ้าง ดังนั้นเรื่องทั่วไปในเมืองไทย จึงยังไม่ไปสู่สายตาของชาวตะวันตก

สาเหตุหนึ่งคือ มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศน้อยเกินไป ดังนั้น ภารกิจหนึ่งของสมาคมฯ ที่อยากจะทำคือ สนับสนุนงานแปลไปสู่ภาษาต่างประเทศมากขึ้น สมาคมฯ ตั้งใจเป็นศูนย์รวมให้กับคนแปลคุณภาพ จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับการแปลโดยเฉพาะ เพื่อเปิดพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ และคนเข้าใจเชี่ยวชาญเรื่องนี้ได้ให้ข้อมูลแก่สำนักพิมพ์ที่สนใจ นำผลงานตัวเองไปสู่ภายนอกมากขึ้น

รวมทั้งภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ

" ยกตัวอย่างภาษาญี่ปุ่น เท่าที่รู้ มีคนญี่ปุ่นสนใจแปลวรรณกรรมไทยโดยตรง มีแค่ 1-3 คน จึงมีอยู่น้อยมาก ทำให้งานแปลผลงานไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น ไม่แพร่หลาย ก็กลับมาสู่เรื่องเดิมคือ การสนับสนุนด้านวัฒนธรรมทั้งหมด ที่เรายังมีไม่มากเพียงพอ

คนที่สนใจ มีความรู้ความสามารถด้านภาษา ก็อาจไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยงานด้านวัฒนธรรมหรืองานแปลเพียงอย่างเดียว เพราะรายได้ไม่เพียงพอ หากได้รับการสนับสนุนแล้วคนที่สนใจก็จะได้มีพื้นที่มาทำงานและเลี้ยงชีพได้อย่างจริงจังมากขึ้น แม้ว่าตอนนี้อาจมีคนที่มีรายได้พออยู่ได้จากงานแปลและสิ่งพิมพ์อยู่บ้าง แต่ยังมีความหลากหลายน้อย"

สำหรับประเด็น ความสนใจในการอ่าน ของคนไทย คุณปราบดา มองว่า คนเราอ่านตลอดเวลา แต่คนไทยอาจไม่ค่อยอ่านงานเขียนที่จริงจัง หรือมีสาระมากเพียงพอ อาจเป็นการปลูกฝังทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง คนไทยจะอ่านหนังสือต่อเมื่อต้องการได้คำตอบอะไรบางอย่าง เช่น อ่านคู่มือแล้วเพื่อให้ทำงานนี้ได้ อ่านเรื่องนี้แล้วไปต่อยอดอะไรบางอย่างได้ แต่ไม่ได้อ่านเพื่อทำให้ตัวเองมีความรู้มากขึ้น ได้ต่อยอดความคิด ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้มีความเข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น ได้คิด ได้ทบทวน ได้ไตร่ตรองกับตัวเอง

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับรสนิยมและทัศนคติของการอ่านหนังสือด้วยเหมือนกัน ส่วนใหญ่คนไทยจะอ่านตามกระแสนิยมการเดินเข้าร้านหนังสือเพื่อเลือกหนังสือสักเล่ม ก็อาจดูจากข้อมูลว่า หนังสืออะไรขายดี กำลังฮิต แต่ไม่ได้เกิดจากต้องการหาหนังสือที่ไม่เคยอ่านมาก่อน ไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงเป็นทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเรียนมากกว่า ว่าถูกสอนให้อ่านหนังสือ อะไร อย่างไร

ตอนท้ายของการพูดคุย คุณปราบดา ให้มุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของการอ่านและการเลือกหนังสือที่จะอ่านได้อย่างน่าสนใจ ว่า เราเลือกอ่าน เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้ว เราได้อะไรที่เป็นความรู้ใหม่และทำให้เรามีพัฒนาการทางสมองที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่... อย่างไร

" ผมไม่ค่อยเชื่อว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง คนที่รู้หนังสือ อย่างน้อยก็ต้องอ่านอะไรบางอย่างอยู่ทุกวัน จะอ่านจากรูปแบบไหนอย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่ได้มีอคติกับการอ่านหนังสือจากมือถือ สมาร์ทโฟน สื่อสมัยใหม่ แค่ถ้าอ่านก็โอเคแล้ว เนื้อหาดีๆก็มีอยู่มาก เพียงแต่ว่า อ่านแล้วหลากหลายหรือเปล่า อ่านแล้วได้ความรู้อะไรใหม่บ้างไหม อ่านแล้วทำให้วัฒนธรรมการอ่านหรือการเขียนได้พัฒนาไปบ้างหรือเปล่ามากกว่า"

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

2013-10-25

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
泰国
v ระหว่างบรรทัด: สมาชิกวุฒิสภาไทย สนับสนุนการร่วมทุนไทย-จีนเพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคม และเรียกร้องรัฐบาลจีนร่วมต้านคอรัปชั่นทุกรูปแบบหากจะลงทุนร่วมกับไทย ตอนที่ 2 2013-10-15 15:52:39
v ระหว่างบรรทัด:สมาชิกวุฒิสภาไทย สนับสนุนการร่วมทุนไทย-จีนเพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคม และเรียกร้องรัฐบาลจีนร่วมต้านคอรัปชั่นทุกรูปแบบหากจะลงทุนร่วมกับไทย ตอนที่ 1 2013-10-15 15:50:48
v โอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันระหว่างไทยจีน และอาเซียน ตอนที่ 2 2013-10-15 11:49:16
v โอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันระหว่างไทยจีน และอาเซียน ตอนที่ 1 2013-10-10 16:29:16
v ระหว่าง บรรทัด:ธุรกิจสิ่งพิมพ์ไทย กับการมหกรรมหนังสือนานาชาติกรุงปักกิ่ง 2013 2013-10-07 16:52:03
v ระหว่าง บรรทัด : งานมหกรรมหนังสือนานาชาติกรุงปักกิ่ง 2013 2013-10-04 15:45:42
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040