ระหว่างบรรทัด : คอนเสิร์ต "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน "ครั้งที่ 6 สะพานเชื่อมมิตรภาพไทย-จีน
  2013-12-20 15:45:39  cri

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี นอกจากจะทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี ทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกของโลกที่สามารถทรงเครื่องดนตรีโบราณในราชสำนักจีนทีเรียกว่า "กู่เจิง"

รัฐบาลจีนมีความประทับใจอย่างมากจึงได้กราบทูลให้ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นชอบโครงการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม"สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" เพื่อแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรมและการแสดง เป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างราชอาณาจักรไทยโดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และกระทรวงวัฒนธรรมจีน

การแสดงมีสองส่วนได้แก่ ส่วนของการแสดงหลัก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีกู่เจิงร่วมกับวงดุริยางค์ และมีส่วนเสริมคือการแสดงทางวัฒนธรรมจากสองประเทศ โดยจะมีเพลงสัญลักษณ์คือการบรรเลงเพลง "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" ซึ่งพระองค์ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้อง พระราชทานให้ขับร้องประสานเสียงเป็นไฮไลท์ช่วงสุดท้ายก่อนจบการแสดง

 

กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 /2545/2548/2552และ2555 โดยสองประเทศจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ สำหรับในปีนี้ เป็นครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการแสดงทั้งหมด 3 รอบ ได้แก่

วันที่ 14 ธ.ค. 56 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยชิงหัว ปักกิ่ง

วันที่ 17 ธ.ค. 56 ณ โรงละคร Hangzhou Grand Theater เมืองหังโจว

วันที่ 20 ธ.ค. 56 ณ โรงละคร Shanghai Oriental นครเซี่ยงไฮ้

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงเครื่องดนตรีกู่เจิง ร่วมกับพระอาจารย์ฉาง จิ้ง ในการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม"สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน "ครั้งที่ 6 ร่วมกับวงดุริยางค์ของจีน สลับกับการแสดงนาฎศิลป์และศิลปะทั้งของไทยและจีน ระหว่างวันที่ 14-20 ธันวาคม 2556

หลังจากทรงเสร็จสิ้นการแสดงค่ำกรุงปักกิ่งวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2556 ได้พระราชทานสัมภาษณ์ให้กับคณะสื่อมวลชนที่ไปเข้าเฝ้าฯ โดยทรงเล่าเกี่ยวกับการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้ว่า เป็นครั้งแรกที่ทรงนำเพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น (Love as Sundown) ซึ่งเป็นแจ๊ส มาเล่นกับกู่เจิง เพราะเป็นความท้าทายในการนำดนตรีสองแบบมาเล่นด้วยกันให้ไพเราะ อีกทั้งต้องการถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะอัครศิลปินและเป็นเพลงที่พระราชนิพนธ์ไว้เป็นเพลงแรกเมื่อมีพระชนมพรรษาได้เพียง 18 ปี

การแสดงครั้งนี้ทรงนำเพลงบางส่วนที่ได้บรรเลงเมื่อครั้งจัดงานครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยมาแสดงที่นี่ เนื่องจากต้องการให้ชาวจีนได้รับฟังด้วย พระองค์ตรัสชื่นชมการแสดงของคณะนาฎศิลป์ไทยที่มาร่วมงานครั้งนี้ว่า ทำได้เยี่ยมมาก ทรงอยากให้มีการแสดงด้านวัฒนธรรมที่เป็นไทยจริงๆ มีแก่นและรากของความเป็นไทย

 

พระองค์ทรงนำเพลงใหม่มาเพิ่มสำหรับการแสดงในปีนี้สองเพลง ได้แก่ เพลงดวงทิพย์และแคนลำโขง โดยทรงเล่าว่า เพลงแคนลำโขง เล่นค่อนข้างยากเพราะต้องนำมาเขียนโน้ตและตีความการเล่นใหม่ อีกทั้งทรงดัดแปลงและพัฒนาเพิ่มเนื้อร้องด้วย สำหรับเพลง "ดวงทิพย์" เอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน วิบูลย์ คูสกุล ได้แปลเนื้อเพลงเป็นภาษาจีนเพื่อให้ผู้ฟังชาวจีนเข้าใจง่าย

เพลงสุดท้ายที่จะใช้ปิดการแสดงคือ เพลง "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" ซึ่งมีเนื้อเป็นภาษาจีน ทรงพระนิพนธ์เนื้อภาษาไทยไว้แล้ว โดยจะนำไปแสดงที่ประเทศไทยครั้งหน้าคือเดือนธันวาคม พ.ศ 2515 มีใจความว่า

"ถึงไม่มีแผ่นดินใกล้กัน เชื้อชาติพงศ์พันธุ์อาจต่างไป

ฟ้ากั้นกลางมิอาจขวางใจ สายใยสัมพันธ์สองแผ่นดิน"

การแสดงชุดสุดท้าย เพลงประสานเสียง "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน"

ด้านการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมแสดง พระองค์ตรัสว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ทรงงานค่อนข้างหนักเพราะต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า วันจันทร์ถึงเสาร์ทุกสัปดาห์ เพื่อทรงงานที่รพ.สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะวิสัญญีแพทย์ และมีพระราชภารกิจอื่นๆ จึงมีเวลาซ้อมในตอนดึกๆเท่านั้น อย่างไรก็ตามพระองค์ก็มีพระประสงค์ที่จะฝึกฝนฝีมือตัวเองให้เพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้ในการเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนปี พ.ศ. 2550 สมาคมกู่เจิงแห่งสมาคมดนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน และสำนักงานคณะกรรมการกู่เจิงแห่งสมาคมดนตรีสายพื้นเมืองประจำกรุงปักกิ่ง ได้ถวายตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ แด่พระองค์และถวายสถานะเป็นทูตทางวัฒนธรรมด้วย

ทรงเลือกเล่นดนตรีกู่เจิ้ง เพราะเป็นเครื่องดนตรีไพเราะและมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ในฐานะที่ทรงเป็นทูตวัฒนธรรมก็ได้ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ให้กู่เจิ้งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทรงบรรเลงในยามที่เสด็จไปเยือนต่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ และได้ทรงสนับสนุนให้วัฒนธรรมไทยแง่มุมต่างๆ เป็นที่รู้จักของชาวจีนด้วย

นอกจากนี้ทรงให้ความสำคัญกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นพลังอ่อนนุ่ม แต่มักจะถูกมองข้าม จึงทรงเห็นว่า หากประชาชนในชาติมีความเข้าใจกันและกันด้านวัฒนธรรมแล้ว จะนำไปสู่ความเข้าใจกันด้านอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้กระทั่งการทหาร

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเล่าว่า ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเกษมสำราญและมีพระสุขพลานามัยที่แข็งแรงดี ทรงสดชื่นแจ่มใสขึ้น หลังจากที่ได้เสด็จพระราชดำเนินฯแปรพระราชฐานไปที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบฯ

ในช่วงท้ายทรงมีพระราชดำรัสฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยในท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า.....

"ขอให้คนไทย รักประเทศมากๆ และขอให้เป็นความรักอย่างถูกต้อง ต้องซื่อสัตย์ ภักดีกับประเทศ อย่าหวังผลประโยชน์ส่วนตัวจนมากเกินไป หรือโกงกินก็รับไม่ได้ ขอให้ทุกคนช่วยกันดำรงความเป็นธรรมให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ และขอให้ทุกคนจะทำอะไร ขอให้นึกถึงความเป็นไทยให้มากๆ "

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

2013-12-20

ขอบคุณภาพประกอบจาก ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยจุฬา ภรณ์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
泰国
v ระหว่างบรรทัด : ระบบการประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุในปักกิ่ง 2013-12-13 16:21:51
v ระหว่างบรรทัด :ความคิดความเชื่อเชิงปรัชญาของชาวไทยจากวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ" 2013-12-06 15:52:37
v ระหว่างบรรทัด :การปรับตัวของหน่วยงานรัฐจีนโดยใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสารกับประชาชน (ตอนที่ 2 ) 2013-11-29 10:14:49
v ระหว่างบรรทัด :การปรับตัวของหน่วยงานรัฐจีนโดยใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสารกับประชาชน (ตอนที่ 1) 2013-11-27 12:00:07
v ระหว่างบรรทัด:อาหารจีนกับการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้กับชาวต่างชาติ ในโครงการประกวด Chopstick & Beyond 2013-11-15 15:27:42
v ระหว่างบรรทัด:มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง หรือ เป่ยว่าย (Beijing Foreign Studies University) 2013-11-08 16:11:31
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040