ระหว่างบรรทัด:หนังสือ "เข้าใกล้สมเด็จพระเทพฯ" (โจ่วจิ้นซือหลินทงกงจู่)
  2014-01-10 13:28:33  cri

คณะพระอาจารย์ที่เคยถวายพระอักษร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จำนวน 12 คน ภายในเวลากว่า 30 ปีที่พระองทรงศึกษาภาษาจีนอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวที่แต่ละคนมีประสบการณ์ได้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อภาษาจีนว่า "โจวจิ้นซือหลินทงกงจู่" หรือแปลเป็นไทยว่า "เข้าใกล้สมเด็จพระเทพฯ"

ศาสตราจารย์ เผย เสี่ยว รุ่ย

ศาสตราจารย์ เผย เสี่ยว รุ่ย Chair Professor ด้านไทยศึกษา จากศูนย์วรรณคดีตะวันออกมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หนึ่งในพระอาจารย์และผู้รวบรวมผลงานเขียนหนังสือเล่มนี้ เล่าว่าที่มาของการคิดจะรวมเล่มผลงานเขียนดังกล่าว เนื่องจาก คณะอาจารย์ที่เคยถวายพระอักษรได้มาพูดคุยกัน เกี่ยวกับความประทับใจ ในพระจริยวัตรของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ในแง่มุมต่างๆ ของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน จึงอยากบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ เพื่อให้คนจีนได้เข้าใจพระองค์ท่านอย่างรอบด้านมากขึ้น ก็เลยแบ่งกันเขียน เล่าอดีตว่า ระหว่างที่เคยถวายพระอักษร ท่านทรงให้ความสนใจครูอย่างไร ทรงขยันเรียนอย่างไร และทรงใช้ชีวิตอย่างไร ทรงประหยัด มัธยัสถ์ และไม่สุรุ่ยสุร่าย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ สนพระทัยที่จะเรียนรู้และศึกษาภาษาจีนตั้งแต่คศ. 1980 โดยตอนแรกมีอาจารย์คนจีนสอนประจำที่สถานทูตจีนในประเทศไทย หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนคนละ 2-4 ปี ต่อมาเมื่อเสด็จฯเยือนปักกิ่ง ก็จะทรงจัดเลี้ยงให้บรรดาอาจารย์ และอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ ให้ได้มาพบปะกันและทรงถามไถ่ทุกข์สุขอย่างเป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์ ทำให้ทุกคนซาบซึ้งใจมาก

"สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้แนะนำให้พระองค์ศึกษาภาษาจีน ตั้งแต่นั้นก็ทรงเรียนอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่ภาษา แต่ยังสนพระทัยด้านศิลปะ วัฒนธรรมและศาสตร์อื่นๆของจีนด้วย"

ในเล่มนี้ ศาสตราจารย์เผย เขียนเรื่องที่ทรงมาศึกษาภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี ค.ศ.2000 เป็นเวลาหนึ่งเดือน เรียนทั้งการพูด ไวยากรณ์ พู่กันจีน รำมวยจีน เล่นดนตรีจีนและการวาดภาพ ช่วงที่เสด็จฯมาเป็นหน้าหนาว แต่ทรงมีวินัยในการเรียนอย่างมาก ตื่นบรรทมแต่เช้า ประมาณ 6.30 น.เพื่อมาออกกำลังกายวิ่งรอบสระเว่ยหมิงหูในมหาวิทยาลัย แล้วต่อด้วยการเรียนในช่วงเช้า ทัศนศึกษาช่วงบ่าย และเย็นมีพระราชภารกิจเปิดให้คณะผู้ใหญ่ของฝ่ายจีนเข้าเฝ้า หรือไม่ก็ทรงการบ้าน ทำให้เข้าบรรทมดึกแทบทุกวันประมาณตีหนึ่งตีสอง

สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของศาสตราจารย์เผยรวมทั้งคณะอาจารย์และชาวจีนที่ได้รับรู้เรื่องราว เป็นที่ประทับใจในพระจริยวัตรของสมเด็จพระเทพฯ คือ ความมัธยัสถ์และไม่ถือพระองค์

"การใช้ชีวิตที่ปักกิ่ง ทรงปฏิบัติพระเองเฉกเช่นนักเรียนทั่วไป ทรงทำอาหารเสวยเองในตอนเย็น ส่วนมื้อกลางวันมหาวิทยาลัยเตรียมอาหารจากโรงอาหารมาถวาย โดยปกติ เมื่อเสวยเสร็จแล้วพนักงานจะมาเก็บอาหารที่เหลือไป ท่านทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็เสียดาย ในครั้งต่อมา หลังเสวย ท่านได้เขียนโน้ตถึงพนักงานโดยเรียกพนักงานที่มาถวายการดูแลอย่างให้เกียรติว่า ฝูอู้หยวนถงจื้อ(สหายบริกร) อย่าเพิ่งทิ้ง เก็บไว้ทานตอนเย็นได้ ทำให้พนักงานประหลาดใจและประทับใจมาก เก็บไปเล่ากันต่อๆ และเรื่องราวก็ได้รับรู้อย่างกว้างขวาง เพราะปกติคนจีนจำนวนไม่น้อย กินทิ้งกินขว้าง นักศึกษาก็เหมือนกัน ไม่สนใจของเหลือ แต่ท่านกลับไม่ทรงเป็นเช่นนั้น"

อีกตัวอย่างเช่น ในการจัดงานเลี้ยงให้กับคณะอาจารย์และผู้เคยถวายงาน ท่านรับสั่งอย่างเป็นกันเอง เหมือนอยู่ในวงสนทนาของญาติพี่น้อง ทำให้ทุกคนทั้งรัก ทั้งนับถือ ในขณะที่ตอนเรียนก็ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นนักศึกษาคนหนึ่ง

นอกจากนี้ยังทรงห่วงใยทุกข์สุขของเหล่าพระอาจารย์ เช่น ในช่วงสถานการณ์ไข้หวัดนกระบาด อาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยถวายพระอักษรเดินทางกลับมาเมืองจีนแล้ว จู่ๆได้รับโทรศัพท์กลางดึก ปรากฎว่า ท่านโทรศัพท์มาด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงสอบถามว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เพราะในช่วงนั้นการระบาดหนักมาก ทำให้อาจารย์ท่านนั้น ตื้นตันถึงกับน้ำตาไหล ท่านทรงห่วงใยเหมือนห่วงญาติพี่น้อง

ศาสตราจารย์เผยเล่าว่า เมื่อครั้งที่ท่านมาปักกิ่ง ในวันแรกที่เดินทางมาถึง มหาวิทยาลัยจัดงานเลี้ยงตอนค่ำถวายการต้อนรับ มีหมายกำหนดการที่ท่านต้องมีพระราชดำรัสตอบ ในวันนั้นพระองค์ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวจีนที่ร่วมงานอย่างมาก

" คณะอาจารย์กราบบังคมทูลถามว่า ท่านจะตรัสเป็นภาษาไทยหรือจีน เพราะหากเป็นจีนก็จะได้เตรียมข้อมูลถวาย ท่านตรัสว่า จะพูดจีน และขึ้นไปเองเลย เราไม่ต้องเตรียมข้อมูลให้ เหล่าอาจารย์ก็ดีใจว่าท่านมีความมั่นใจ สมเด็จพระเทพฯตรัสว่า ท่านต้องกล้าพูดสิ เพราะไม่งั้นอาจารย์จะรู้ได้อย่างไรว่าสอนไปแล้วฉันพูดผิดตรงไหน เมื่ออาจารย์รู้ว่าพูดผิดตรงไหนก็จะได้แก้ไขให้ หลังจากนั้นอีกหลายๆครั้งต่อมาท่านก็ขึ้นกล่าวในงานต่างๆเป็นภาษาจีนโดยไม่ต้องใช้บทเลย"

ศาสตราจารย์เผยเล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากท่านได้ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งหนึ่งเดือนเต็ม ท่านพระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเป็นภาษาจีนได้ ทำให้นักข่าวทึ่งมาก และอาจารย์ก็ชื่นใจ เพราะท่านได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในหนึ่งเดือนจะแก้ปัญหาทักษะการฟังและการพูด ที่ยังไม่คล่องให้ได้ ก่อนหน้านั้นพระองค์ทรงเชี่ยวชาญเรื่องการอ่านและการแปลดีอยู่แล้ว แต่ท่านยังไม่พอพระทัยจึงทรงตัดสินใจเลือกมาเรียนเต็มเวลาที่ปักกิ่งเพื่อจะได้ฝึกฝนอย่างเต็มที่ และได้เคยตรัสขำๆ ให้อาจารย์ฟังว่า ดีเหมือนกัน จะได้มาเป็นนักเรียนนอกกับเขาเสียที เพราะไม่เคยเป็นนักเรียนนอก

เหล่าอาจารย์เห็นพ้องกันว่าการเรียนครั้งนั้น ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ถวายปริญญาเอกดุษฎีกิติมศักดิ์แด่พระองค์ท่านด้วย

หนังสือเรื่อง "เข้าใกล้สมเด็จพระเทพฯ" นี้ จัดทำต้นฉบับเป็นภาษาจีน โดยคณะอาจารย์ผู้เขียนได้ถวายลิขสิทธิ์แด่สมเด็จพระเทพฯ ไปแล้ว สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำเล่มภาษาไทย ซึ่งคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับไปดำเนินการ คาดว่าอีกไม่นานจะเผยแพร่ให้ชาวไทยได้ร่วมชื่นชมพระบารมีด้วย

หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นความสำคัญของบทบาททางการทูตของสมเด็จพระเทพฯ ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนแน่นแฟ้นมากขึ้น นอกจากความร่วมมือในระดับทางการ รัฐต่อรัฐ ภาคเอกชนต่อเอกชนและการไปมาหาสู่กันแล้ว ความสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศก็มีส่วนช่วยอย่างมาก โดยเฉพาะบุคคลสำคัญของประเทศ ศาสตราจารย์เผยกล่าวว่า สมัยก่อน ไม่ค่อยมีคนรู้จักสมเด็จพระเทพฯ แต่ปัจจุบันนี้ท่านทรงเป็นที่รักใคร่ของชาวจีนจำนวนมาก และท่านทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำจีนทุกสมัย ตั้งแต่นายกโจวเอินไหลเป็นต้นมา ดังนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นเสมือนตัวแทนภาพพจน์ของความเป็นคนไทยที่เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต น่าคบหา น่านับถือ ซึ่งไม่มีเจ้าหญิงประเทศไหนเทียบได้

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

2014-01-10

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040