การประชุมสองสภาที่เพิ่งจะสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 12 และ 13 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้รายงานผลปฏิบัติงานในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา พร้อมกับประกาศนโยบายที่จะสานต่อในปีนี้ ถือเป็นการแถลงผลงานครั้งแรกของรัฐบาลจีนซึ่งได้ส่งผ่านอำนาจมาสู่ผู้นำรุ่น 5 ที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคมไปสู่ผู้นำที่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ด้วย
มีประเด็นหลักๆที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้รายงานต่อที่ประชุมสภาฯ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างหลักประกันทางสังคมและทำให้คุณภาพชีวิตชาวจีนดีขึ้น การจัดการกับปัญหาคอรัปชั่นและประกาศสงครามกับมลพิษ
หลายนโยบายที่ประกาศไปนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่ดำเนินการมาต่อเนื่องจากรัฐบาลรุ่นก่อน อาทิ การกระจายอำนาจ การปราบปรามคอรัปชั่นและการแก้ปัญหามลพิษ แม้จีนจะมีการปกครองแบบสังคมนิยม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นทุนนิยมเกือบเต็มตัวแล้ว จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะติดตามมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างรวดเร็วไปได้
ก่อนหน้านี้ จีนคุยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตั้งเป้าที่ร้อยละ 10 แม้ขณะนี้จะลดเป้าลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7-8 แต่ก็นับว่ายังคงเป็นอัตราเติบโตที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยมีเป้าหมายลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลงอยู่ที่ ร้อยละ 7 เพื่อให้ชะลอตัวอย่างช้าๆหรือที่เรียกว่า soft landing เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็ปไซต์ผู้จัดการซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามความเคลื่อนไหวในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์ว่า แม้ภาพใหญ่จีนจะเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและร่ำรวย แต่ในข้อเท็จจริงก็ยังมีปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูงมาก มีปัญหาการกระจายรายได้ คนจีนทั่วไปจำนวนมากมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากเพราะมีรายได้น้อยขณะที่ค่าครองชีพสูง ราคาที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์แพงรวมทั้งมีปัญหามลพิษ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลกระทบจากการพัฒนาเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น
ภาพประกอบจาก www.china.org.cn
ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ประกาศทำสงครามกับมลพิษอีกครั้งและหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในการรายงานต่อสภาฯครั้งนี้ ก็สะท้อนว่าปัญหาดังกล่าวยังแก้ไขได้ไม่หมด วริษฐ์กล่าวว่า ช่วง 8-9 ปีก่อน รัฐบาลจีนกำหนดนโยบายให้ชาวจีน เลิกใช้ถ่านหินในการทำความร้อนช่วงฤดูหนาวโดยให้ใช้แก๊สแทน ก็ทำให้ราคาแก๊สแพงขึ้น ชาวจีนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสากรรมรถยนต์และคนนิยมใช้รถยนต์มากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดอย่างมากจน กลายเป็นแหล่งผลิตมลพิษในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเฟื่องฟูมากๆ คือยุคของรัฐบาลเจียง เจ๋อ หมิน ต่อมาเมื่อถึงรัฐบาลของประธานาธิบดี หู จิ่น เทาและนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า สิ่งที่ชาวจีนคุยกันคือเรื่องการกระจายรายได้และความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ
จีนประสบความสำเร็จหลายเรื่องที่เป็นความภูมิใจของคนในชาติร่วมกัน อาทิ การเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิคปี 2008 การได้เป็นเจ้าเหรียญทองโอลิมปิค เซี่ยงไฮ้ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอ็กซ์โป รวมทั้งความสำเร็จด้านการบินและอวกาศ เพราะจีนเป็นชาติที่สามของโลก (ต่อจากรัสเซียและสหรัฐ) ที่สามารถส่งดาวเทียมออกไปโคจรนอกโลกและไปดวงจันทร์ได้สำเร็จด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนจีนหันกลับมามองชีวิตของตัวเองพบว่าชีวิตส่วนตัวยังคงมีความยากลำบาก รายได้น้อยไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ข้าวของราคาแพงขึ้น มีปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ชาวจีนไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ดังที่เคยเกิดปัญหานมปนเปื้อนและอาหารปลอมปนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกก่อนหน้านี้
วริษฐ์วิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและสร้างเส้นทางที่จะทำให้ "ความฝันของจีน" เป็นจริง
ความทัาทายที่รออยู่ข้างหน้าคือ ทำอย่างไรจะตอบสนองความต้องการของคนในประเทศให้ได้ เพราะคนจีนเปลี่ยนชีวิตจากระบบคอมมูนมาเป็นทุนนิยมแล้ว คนรุ่นใหม่ต้องการมีบ้าน มีรถยนต์ มีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น มีสถานะได้รับการยอมรับในสังคม ร่ำรวยขึ้นและเสพสิ่งต่างๆได้มากขึ้น มีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศได้มากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงต้องตอบสนองความต้องการเหล่านี้ให้ได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม นั่นหมายถึงการต้องแสวงหาทรัพยากรทั้งจากในและต่างประเทศมารองรับให้เพียงพอ นำไปสู่การกำหนดนโยบายต่างประเทศด้วย
"ตัวอย่างระหว่างทศวรรษ 1990 จีนเคยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมัน แต่ปรากฎว่าขณะนี้ต้องมีการนำเข้าพลังงานน้ำมันจากต่างประเทศ เช่นซื้อก๊าซจากรัสเซีย หาแหล่งพลังงานจากพม่า กัมพูชารวมทั้งไทย เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศและการบริโภคที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก หากมีจำนวนไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและการบริโภคของประชาการกว่า 1,300 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีมากที่สุดในโลกในขณะนี้"
นอกจากนี้ความท้าทายอีกประการหนึ่งของรัฐบาลประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คือทำอย่างไรที่จะยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี หู จิ่นเทาประกาศว่า จะยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าเป็นครั้งแรกที่พรรคคอมฯประกาศเป้าหมายนี้ จากเดิมประมาณ 5 พันเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี นั่นหมายถึงต้องการให้คนจีนมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นเหรียญต่อคนต่อปีภายในปี 2020 จึงกลายเป็นความคาดหวังของชาวจีนที่ต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร่ำรวยขึ้นด้วย
อีกประเด็นที่วริษฐ์เห็นว่า เป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสำคัญและจับตามองความเคลื่อนไหวของจีนก็คือ การขยายบทบาทเข้าไปสู่เอเชีย เอเชียตะวันออกและทะเลจีนใต้ ปลายปี 2012 ในการประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ 18 หนึ่งในสองเรื่องที่ถูกพูดถึงมากคือ
การแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหารของจีน เสริมกำลังกองทัพเรือและอากาศให้เข้มแข็งมากขึ้น ล่าสุด สำหรับปี 2014 นี้ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียงก็ประกาศว่า รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม ร้อยละ 12.2 ซึ่งแม้จะมีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเพิ่มงบประมาณของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ แต่ก็มีนัยที่น่าสนใจเพราะจีนยังมีข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านหลายชาติ อาทิ ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาแม้จีนจะยืนยันแนวทางสันติในการแก้ปัญหา แต่จีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวต่อการจัดการข้อพิพาทต่างๆ
"จีนมีกำลังเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมาก มีเงินทุนสำรองมากถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามากที่สุดในโลก แต่การขยายอำนาจเศรษฐกิจและแสนยานุภาพของกองทัพ หรือเข้าใจได้ง่ายๆว่า เงินและกำลังทหารนั้นไม่สามารถเอาชนะใจคนได้ทั้งหมด ต้องใช้อำนาจอ่อนเข้าถึงใจคนมากกว่าเพื่อโน้มน้าวใจเพื่อนบ้านให้ยอมรับการขยายอิทธิพลและอำนาจของตัวเองเข้าไปในประเทศต่างๆ ซึ่ง 5-6 ปีที่ผ่านมา จีนอาจจะยังไม่ได้ทำในเรื่องนี้มากเพียงพอ ดังนั้นแทนที่จีนจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่นานาชาติยอมรับกลับกลายเป็นว่ามีปัญหาและเป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งน่าเสียดายเวลาที่สูญเสียไปจนกลายเป็นช่องว่างให้มหาอำนาจคือสหรัฐ สามารถกลับเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้อีกครั้ง "
วริษฐ์เห็นว่า หากรัฐบาลจีนปรับท่าทีใช้ความเป็นมิตรและใช้การโน้มน้าวใจทำให้คนชาติอื่นยอมรับจีนได้มากขึ้นก็จะทำให้ภาพของจีนดีขึ้นในสายตานานาชาติ
รวมไปถึงการต้องแก้ปัญหาภาพลักษณ์ของชาวจีนที่อาจดูไม่สุภาพเรียบร้อย หรือถูกท้วงติงเรื่องกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมในการเดินทางไปต่างประเทศ ตัวอย่างล่าสุดที่เกิดการทะเลาะวิวาทบนเครื่องบิน หรือนักท่องเที่ยวจีนส่งเสียงดัง ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาท้องถิ่น เป็นต้น แม้ว่ากรณีเหล่านี้จะเป็นส่วนน้อยและไม่อาจเหมารวมว่าคนจีนทั้งหมดมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงโดยรวมของประเทศด้วย
ส่วนประเด็นปัญหามลภาวะและคุณภาพสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนทั้งดิน น้ำ อากาศ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องสร้างสมดุลในเรื่องนี้
"ขณะนี้ถือว่า ประเทศจีนกำลังอยู่ระหว่างเขาควายสองด้าน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ เป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกัน แทนที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วแล้วคุณภาพชีวิตแย่ลง ความยากเรื่องนี้คือสร้างสมดุล ซึ่งรัฐบาลจีนกำลังลองผิดลองถูกและเรียนรู้ ในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมา ผู้นำจีนบริหารประเทศมีทั้งเรื่องที่ประสบความสำเร็จและยังไม่สำเร็จ แต่บรรดาผู้นำจีนรุ่นนี้เป็นกลุ่มคนที่ผ่านความยากลำบากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมมาแล้ว ดังนั้นอุปสรรคที่เจออยู่นี้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลรับมือไหว แต่สิ่งท้าทายคือ การสร้างความเข้าใจกับประชาชนชาวจีนมากกว่า"
สุดท้ายคือปัญหาคอรัปชั่นที่รัฐบาลจีนชุดนี้ยืนยันเดินหน้าเอาจริง วริษฐ์มองว่า เป็นเรื่องที่มีทั้งความยากและง่ายในเวลาเดียวกัน ส่วนที่ยากเพราะการบริหารประเทศเป็นระบบพรรคเดียว รวมศูนย์อำนาจการปกครองดังนั้นทำให้การตรวจสอบจากภายนอกลำบาก หากจะได้ผลดีต้องเป็นการตรวจสอบจากกระบวนการภายในของพรรคเอง ซึ่งก็ได้เห็นการเอาผิดผู้บริหารระดับสูงหลายคนมาแล้ว เช่น ปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครฉงชิ่ง เป็นต้น
ส่วนที่ง่ายก็คือ หากรัฐบาลคิดจัดการผู้ทุจริตคอรัปชั่นอย่างเฉียบขาด เอาจริงเอาจัง ก็จะทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารสูงสุด ว่าจะเอาจริงแค่ไหนและจะจัดการไปถึงระดับไหนนั่นเอง
ย่างเข้าสู่ปีที่สองของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิงในการบริหารประเทศ ยังมีความท้าทายอีกมากที่รออยู่เบื้องหน้าและเป็นสิ่งที่ต้องจัดการทั้งความคาดหวังของชาวจีนในประเทศและสร้างการยอมรับจากสายตาของนานาชาติ
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเวปไซต์ ผู้จัดการ
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
2014-03-1