กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง ร่วมกันจัดกิจกรรม มวยไทยโรดโชว์ 2014 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 6 พฤกษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีคุณเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะ มาสาธิตศิลปะและเอกลักษณ์อันโดดเด่นของทีมมวยไทย สู่สายตาของชาวจีน โดยโรดโชว์ครั้งนี้จะเดินทางไป 4 เมือง ได้แก่ ปักกิ่ง คุนหมิง เฉิงตูและกว่างโจว คุณเกียรติคุณกล่าวว่า นอกเหนือจากความสัมพันธ์ในระดับทางการและรัฐต่อรัฐ ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ กำลังพยายามใช้ soft powerเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในประเทศต่างๆ เช่น อาหาร ศิลปวัฒนธรรม บันเทิงและการกีฬา กิจกรรมครั้งนี้มีเป้าหมายหลักคือต้องการให้ประเทศจีนได้รู้จัก มวยไทยให้มากขึ้น และทำให้เข้าใจว่า มวยไม่ได้เป็นแค่เพียงกีฬาสำหรับการต่อสู้ หรือการใช้ความรุนแรงแต่เป็นศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนก็สามารถมาเรียนรู้กันได้
มวยไทย ได้เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงปลายของทศวรรษ 1700 ครูคนสำคัญของมวยไทยคือ "นายขนมต้ม" ซึ่งมีฝีมือเป็นเอก เมื่อครั้งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปพม่า สามารถต่อสู้เอาชนะทหารพม่าได้ถึง 9 คน จนทำให้ในครั้งนั้นทหารพม่าคิดว่ามีการใช้มนต์ดำมาช่วย แต่ได้ค้นพบภายหลังว่าเป็นทักษะและความสามารถในการต่อสู้ในเวลาต่อมา พม่าก็มี "มวยคาดเชือก" ซึ่งก็เชื่อกันว่า ได้รับอิทธิพลและมีความเกี่ยวเนื่องกับรากของ "มวยไทย" นั่นเอง หากจัดประเภทของมวยไทย มีอย่างน้อยสองแบบ คือ ประเภทแรกชกเพื่อต่อสู้ เพื่อการแข่งขัน จะเน้นพละกำลัง ความแข็งแกร่ง เทคนิค แท็คติคและยุทธวิธีต่างๆเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ กับประเภทที่สองคือการฝึกเพื่อออกกำลังกายและการป้องกันตัว
กีฬามวยไทยที่จัดชกเพื่อแข่งขันในปัจจุบันนี้ จะมีอยู่สองแบบคือ การชกบนเวที /สนามต่างๆ มวยสากลที่มีการสวมเครื่องป้องกันต่างๆ เพื่อลดอาการบาดเจ็บ เช่น สนับแข้ง สนับเข่า นวม หมวก เป็นต้น และอีกแบบคือ มวยไทยแท้ที่ไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ ในปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งประเภทออกได้ตามลักษณะเฉพาะและตามภูมิภาค ได้แก่
1.มวยไชยา (ภาคใต้ ) เน้น ศอก /เข่า ท่วงท่าและการป้องกัน
2.มวยลพบุรี (ภาคกลาง) เน้นเทคนิคการเคลื่อนไหว การต่อย ฮุคและใช้ศิลปะขั้นสูง
3.มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) เน้นทักษะการใช้เท้าและเตะด้วยความเร็ว
4.มวยโคราช (ภาคอีสาน) จะใช้ความทรหดอดทน แข็งแรง และความเร็ว
ความนิยมในกีฬามวยไทยนี้ ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก คุณสมภพ จันทร์ฟัก บรรณาธิการข่าวกีฬา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันในประเภทสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ขณะนี้มีสมาชิกอย่างน้อย 150 ประเทศทั่วโลก และในตอนนี้ก็กำลังมีการแข่งขันที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย กีฬามวยไทยยังได้ถูกบรรจุไว้ในสปอร์ตแอคคอร์ด กำลังจะแข่งขันในกูดวิลล์เกม (กีฬาสำรองสำหรับโอลิมปิคเกมส์) เพื่อปูทางไปสู่การเป็นหนึ่งในประเภทกีฬาที่แข่งขันในโอลิมปิค ตามที่คณะกรรมการโอลิมปิคสากลกำหนดเกณฑ์ไว้ด้วย
นอกจากนี้ในต่างประเทศ จะมียิมหรือค่ายฝึกซ้อมมวยไทยจำนวนมาก เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย โมรอคโค บราซิล ส่วนฝั่งของชาติยุโรป เช่น เนเธอแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี
ขณะที่ภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ก็มียิมอยู่จำนวนมาก โดยผู้ฝึกสอน คืออดีตนักมวยไทยที่แขวนนวมจากเวทีในเมืองไทยนั่นเอง
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นของชาวไทยและสะท้อนออกมาในศิลปะมวยไทยด้วยนั่นก็คือ การให้ความสำคัญกับครูบาอาจารย์และผู้อาวุโส สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ก่อนขึ้นชกและการฝึกซ้อมก็คือ "การไหว้ครู" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของผู้ฝึกสอนประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้
นอกจากนี้ยังมีการสวม "มงคล" ซึ่งเป็นเครื่องราง ขวัญกำลังใจ เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการต่อสู้ โดยผู้ที่จะสวมและถอดมงคลให้กับนักมวยนั้น ตามประเพณี จะต้องเป็นครูผู้ฝึกสอนถอดและอวยพรให้ หลังการไหว้ครูเสร็จสิ้นลงก่อนจะเริ่มการชก และเป็นธรรมเนียมที่นักมวย ซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าคู่แข่งขัน ก็จะต้องยกมือไหว้อีกฝ่าย เพื่อแสดงความเคารพและขออภัยแก่กันหลังจบการแข่งขัน
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่สามารถใช้อวัยวะแทบทุกส่วนในร่างกายเป็นอาวุธในการจัดการฝ่ายตรงข้ามได้ โดยอาศัยจังหวะ และไหวพริบปฎิภาณ ความว่องไว ในขณะเดียวกันก็สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย
ส่วนการนำกีฬามวยไทย มาประยุกต์ในการออกกำลังกาย เพื่อสร้างความแข็งแรงของร่างกาย นั้น คุณสมภพ เล่าว่า อาจารย์วิชิต เชื้อเชิญ ผู้เชี่ยวชาญกรมพลศึกษาเคยกล่าวไว้ว่า หากจะให้มวยไทยอยู่รอดต่อไปได้ ต้องไม่ทำเฉพาะการแข่งขันบนเวทีเท่านั้น แต่ต้องผสมผสานและใช้ประโยชน์จากศิลปะแม่ไม้มวยไทยสำหรับการออกกำลังกายและการกีฬาด้วย ขณะนี้ กรมพลศึกษา ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดกิจกรรมแนะนำมวยไทย สำหรับการออกกำลังกาย ประยุกต์ใช้ท่าทางประกอบเพลงการออกกำลังกาย โดยมีการจัดประกวดทั้งระดับจังหวัด เขตและระดับประเทศ ทั้งมวยไทยแอโรบิค และไหว้ครูมวยไทยด้วย
แม้ว่าขณะนี้ ในด้านหนึ่งมวยไทย กลายเป็นธุรกิจกีฬาไปแล้ว แต่หากสามารถทำให้ มวยไทย ได้ปรากฎและเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนรวมทั้งนานาชาติ ก็จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะทำให้ "ความเป็นไทย" ปรากฎสู่สายตาของชาวโลก
ขอบคุณ ข้อมูลประกอบบางส่วนจากเอกสารเผยแพร่ สถานเอกอัครราชทูตไทยณ.กรุงปักกิ่ง
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
2014-05-09