เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ในวงการนักข่าวของจีนมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญคือการที่ผู้สื่อข่าวขององค์กรรัฐต้องไปสอบวัดระดับความรู้เพื่อให้ได้ "บัตรนักข่าว" จากเดิมที่แต่ก่อน เมื่อทำงานเป็นนักข่าวแล้วก็จะได้รับบัตรนี้มาเลย โดยมีการต่ออายุเป็นรายปี แต่ไม่ต้องมีการสอบใดๆ แต่หลังจากนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีการสอบทุกๆ ปีหรือไม่แต่อย่างน้อย ก็ต้องผ่านการสอบในครั้งแรกนี้ให้ได้ก่อน
ในอดีต หน่วยงานซึ่งกำกับดูแลสื่อมวลชนของจีน จะแยกเป็นสององค์กรคือ สำนักงานข่าวสารและสิ่งพิมพ์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และสำนักงานใหญ่วิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ดูแลกิจการเกี่ยวกับ วิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ รวมทั้งการออกใบผู้ประกาศให้กับบุคลากรที่ทำงานในสื่อประเภทนี้ด้วย (จะเน้นการสอบให้กับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพเป็นหลัก)
ล่าสุด มีการยุบรวมสองหน่วยงานนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์กรเดียวคือ สำนักงานข่าวสารและสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหน่วยงานระดับกระทรวง ทำหน้าที่กำกับดูแล ออกกฎระเบียบ เงื่อนไข กฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนในจีนแขนงต่างๆทั้งหมด รวมทั้งกิจการด้านข่าวอินเตอร์เนตด้วย
การสอบในครั้งนี้ จึงคาดว่าอาจสืบเนื่องจากการรวมสององค์กรดังกล่าว เพื่อให้มีการจัดระเบียบสื่อมวลชนจีนครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวะที่มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการบริหารประเทศไปสู่รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ผู้นำรุ่นที่ 5 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจีนเห็นว่า สื่อมวลชนควรต้องมีการทบทวนเนื้อหาความรู้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับหลักด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน รวมทั้งหลักการและแนวนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกทั้งต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างครบถ้วน จึงมีการจัดสอบครั้งนี้ขึ้น
นักข่าวจีนทั้งหลาย จะต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบที่เรียกว่า "ตำราอบรมผู้สื่อข่าว 2013" เล่มใหญ่หนา 738 หน้า แบ่งเป็น 2 เล่ม มีเนื้อหาครอบคลุม 6 หมวดหลัก ได้แก่
1. สังคมนิยมที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน กล่าวถึงแนวทางของการพัฒนาประเทศจีนและอ้างถึงแนวนโยบายของรัฐบาลในรุ่นก่อนๆ ทุกรุ่น นับตั้งแต่หลังจีนปฎิรูปประเทศ รวมทั้งผลประชุมและสาระสำคัญจากการประชุมสมัชชาฯครั้งที่ 18 ที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อต้นปีนี้ด้วย
2. ทฤษฎีข่าวสารตามแนวลัทธิมาร์กซิสต์ เป็นการตอกย้ำอีกครั้งเกี่ยวกับทิศทางและสาระสำคัญของแนวคิดสังคมนิยมตามลัทธิมาร์กซิสต์ ซึ่งจีนยึดถือ รวมทั้งแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
3. กฎข้อบังคับด้านการทำข่าว ระบุถึงกฎเกณฑ์และรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นในการรายงานข่าว แนวคิดด้านการสื่อสาร สิ่งที่ควรปฏิบัติและไม่ปฏิบัติ
4. กฎข้อบังคับด้านการสัมภาษณ์และกองบรรณาธิการ
5. การป้องกันการทำข่าวปลอม
6. จริยธรรมสื่อ ให้ความสำคัญกับหลักในเชิงจรรยาวิชาชีพของสื่อมวลชนและเน้นว่า สื่อจะต้องทำงานเพื่อ "ประชาชน" เป็นหลัก โดยยึดแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ คณะกองบรรณาธิการจัดทำหนังสือตำราดังกล่าว เป็นการรวมคณะบุคคลจาก
หลายองค์กร เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ผู้แทนคณะกรรมการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและสุขอนามัย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวแทนจากคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำกรุงปักกิ่ง สำนักข่าวสาร สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ฯ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศจีน สถาบันวิจัยข่าวสารและการกระจายข่าว สภาวิทยาศาสตร์ทางสังคมของจีน เป็นต้น
ตำราจะมีเนื้อหาครอบคลุม 6 หมวดข้างต้น โดยจะมีตัวอย่างข้อสอบพร้อมตัวเลือก
คำตอบ อยู่ด้านท้าย รวมจำนวน 600 ข้อ เมื่อถึงเวลาสอบ นักข่าวก็ต้องเลือกตอบในจำนวน 100 ข้อ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อวัดความจำเนื้อหาต่างๆที่ระบุในหนังสือชุดนี้
จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด ในปี 2012 มีจำนวนนักข่าวที่มีบัตรนักข่าวในประเทศจีน จำนวนกว่า 2 แสน 5 หมื่นคน โดยแบ่งเป็น
สื่อสิ่งพิมพ์ ประมาณ 99,000 คน
นิตยสาร ประมาณ 7,200 คน
สำนักข่าวต่างๆประมาณ 3,500 คน
วิทยุและโทรทัศน์ ประมาณ 1 แสน 4 หมื่น 2 พันคน
ที่เหลืออีกประมาณกว่า 700 คน เป็นนักข่าวที่ทำงานด้านเวปไซต์ในส่วนกลาง
ทั้งนี้ แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่ทำงานกับหน่วยงานข่าวสารในส่วนกลางประมาณ 2 หมื่น 6 พันคน ส่วนในท้องถิ่นมีประมาณ 2 แสน 5 หมื่นคน
เมื่อแยกเป็นพื้นที่ต่างๆ จะพบว่า มณฑลที่มีนักข่าวซึ่งมีบัตรนักข่าวแล้วอยู่จำนวนมากกว่า 1 หมื่นคนมีหลายแห่ง อาทิ เจียงซู เหอหนาน กว่างตุ้ง ซานตง เจ้อเจียง เสฉวน ส่วนมณฑลที่มีนักข่าวน้อยที่สุด ได้แก่พื้นที่ห่างไกล เช่น ทิเบต มีจำนวน 545 คน
องค์กรสื่อในประเทศจีนเป็นสื่อที่รัฐบาลจีนควบคุมและกำกับดูแลทั้งหมดทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นในมณฑลต่างๆ นำเสนอข่าวสารต่างๆ โดยต้องยึดตามแนวนโยบายของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นหลัก
สำหรับ "บัตรนักข่าว" นี้ ในประเทศจีน นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงสถานะการทำงานตามอาชีพแล้ว ยังเป็นบัตรที่อำนวยความสะดวกหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการออกไปทำข่าวนอกสถานที่ หรือสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ นอกเหนือจากการมีบัตรประจำตัวพนักงานของแต่ละองค์แยกต่างหากอีกหนึ่งใบอยู่แล้ว อีกทั้ง "บัตรนักข่าว" สามารถใช้เป็นส่วนลดหรือรับการยกเว้นในการเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไป
มีคำกล่าวกันเล่นๆ ในกลุ่มของชาวจีนว่า บัตรนักข่าวสามารถใช้งานได้หลายอย่าง นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นซึ่งเป็นด้านบวกแล้ว อาจมีคนนำไปใช้เป็น "บัตรเบ่ง" ในการทำด้านที่คนไม่ชอบใจ เช่น ผ่านทางด่วนฟรี หรือซื้อตั๋วโดยสารรถไฟ เครื่องบินได้โดยไม่ต้องเข้าคิวนาน (ซึ่งยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าทำได้จริงในเรื่องนี้) ก็เลยมีอีกด้านหนึ่งที่ถูกพูดกันขำๆและล้อเลียน แต่บรรดานักข่าวอาจไม่ชอบใจสักเท่าไหร่ นั่นก็คือ "หากอยากถูกบ่น ถูกตำหนิ หรือต่อว่าจากประชาชน ใช้แสดงบัตรนักข่าวก็จะได้รับคำบ่นในทันที"
สำหรับนักข่าวที่เพิ่งเริ่มเข้าทำงานใหม่ในปี 2014 นี้ จะยังไม่ได้เข้าร่วมสอบกับรุ่นพี่ปีเก่าๆ เพราะยังไม่เคยมีบัตรนักข่าวมาก่อน แต่ก็จะต้องเข้ารับการสอบในรอบต่อๆไปที่จะจัดขึ้นอีกครั้ง
กล่าวได้ว่า การจัดสอบครั้งนี้ นอกจากจะทำให้องค์กรที่กำกับดูแลสื่อมวลชน สามารถจัดระเบียบและหมวดหมู่ผู้สื่อข่าวจากหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบหลังรวมสององค์กรเข้าด้วยกันแล้ว อีกนัยหนึ่ง ยังเป็นกระบวนการที่ทำให้นักข่าวได้ทบทวนสาระสำคัญของหลักการและแนวทางการทำงาน ทั้งด้านหลักนิเทศศาสตร์และได้ทบทวนเนื้อหาแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องยึดถืออีกด้วย
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
2014-04-18