ระหว่างบรรทัด:รู้จัก ศูนย์อาเซียน- จีน (Asian-China Centre:ACC)
  2014-03-28 13:21:11  cri

ศูนย์อาเซียน-จีน หรือ Asian-China Centre (ACC) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลชาติอาเซียน 10 ประเทศร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมเป็น 11 ประเทศ มีสำนักงานหลักที่กรุงปักกิ่ง ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเชื่อมและประสานชาติประชาคมอาเซียน กับจีน ขณะนี้มี นาย หม่า หมิงเฉียง เป็นเลขาธิการ ACC

รู้จัก ศูนย์อาเซียน-จีน

คุณลดา ภูมาส ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ACC ให้สัมภาษณ์พิเศษ สถานีวิทยุซีอาร์ไอ กรุงปักกิ่ง เกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของศูนย์อาเซียน-จีน ว่า ศูนย์ฯ ตั้งขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลองที่อาเซียนและจีนมีความสัมพันธ์คู่เจรจาครบ 15 ปี ในปีพ.ศ. 2549 จากนั้น ปี 2552 ในการประชุมสุดยอดจีนอาเซียนครั้งที่ 12 ที่ประเทศไทย รัฐบาลทั้ง 11 ประเทศ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งศูนย์ฯขึ้น แล้วประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดจีนอาเซียนครั้งที่ 14 ปี พ.ศ. 2554 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นวาระที่จีนเป็นคู่เจรจาอาเซียนครบรอบ 20 ปี โดยเห็นว่าน่าจะมีรูปธรรมของความร่วมมือสองฝ่าย

ในบันทึกความเข้าใจ ระบุไว้ว่า ศูนย์อาเซียน-จีน มีวัตถุประสงค์ หน้าที่และขอบเขตภารกิจ.3 ด้าน ได้แก่

1. เป็นผู้ประสานงาน เพื่อเชื่อมโยง เสริมความเข้าใจที่ดีระหว่างอาเซียนและจีน

2. เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือ อาเซียนจีน

3. เป็นผู้สนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน

ทั้งนี้ ภารกิจ จะครอบคลุม 5 ด้านหลักคือ การค้า การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้

ดังนั้นหน้าที่ของศูนย์จึงไม่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจีนอาเซียนในภาพกว้าง แต่ต้องลงรายละเอียดของชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศด้วย เช่น ด้านการค้าการลงทุน นอกจากศูนย์จะส่งเสริมให้จีนไปลงทุนเพิ่มขึ้นในอาเซียนแล้ว ยังต้องการให้ชาติอาเซียนเข้ามาลงทุนในจีนเพิ่มขึ้นด้วย

คุณลดาเล่าว่า เนื่องจากการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน มีลักษณะพิเศษเป็นความร่วมมือของ 11 ชาติ ดังนั้นจึงมีข้าราชการจากชาติอาเซียนมาประจำการ ขณะนี้ มีตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซียมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการลงทุน และผู้แทนจากประเทศไทย เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์

ด้านหนึ่งในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียนและเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนด้วย ทำหน้าที่เปรียบเสมือนโฆษกของศูนย์ ดังนั้นต้องติดตามความร่วมมือและพัฒนาการทุกด้านอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงเฉพาะ 5 ด้านหลักตามภารกิจ แต่ต้องรู้เรื่องอื่นๆด้วยเพื่อให้สามารถตอบคำถามได้ ให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนความร่วมมือจีนอาเซียนได้

ส่วนประเทศบรูไน เดิมต้องมีข้าราชการมาประจำการในตำแหน่งของรองผอ.ฝ่ายทั่วไป จะดูแลการจัดทำรายงานประจำปี ซึ่งจะมีการประชุมสูงสุดปีละครั้ง แต่ขณะนี้ฝ่ายไทย ช่วยทำหน้าที่ประสานงานให้แทนอยู่ในด้านภาษาอังกฤษ

การดำรงตำแหน่งดังกล่าว มีวาระครั้งละ 3 ปี แต่ละชาติหมุนเวียนกันไป ตอนนี้คือ อินโดนีเซีย ไทย ลาว และบรูไน รอบต่อไป ชาติอาเซียนต้องตกลงกันว่าใครจะเข้ามาและดำรงตำแหน่งอะไร ศูนย์อาเซียน-จีน กำลังจะมีอายุ ครบ 3 ปีในเดือนพ.ค.ปีนี้

ผลงานในรอบ 2 ปี

ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ACC เล่าว่าศูนย์ทำงานโดยมีภารกิจสอดคล้องกับข้อริเริ่มที่ผู้นำ 11 ชาติเริ่มไว้ อาทิ การส่งเสริมเปิดการค้าการลงทุน ให้สูงขึ้น ได้จัดตั้ง Asian –China Product Trade Centre ที่เมืองอี๋ว์หยู มณฑลเจ้อเจียง มีพื้นที่ประมาณ 5 พันตารางเมตร แบ่งพื้นที่ให้แต่ละชาตินำสินค้ามาจัดแสดง เมืองนี้ไม่เพียงเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียน แต่ยังเป็นประตูโอกาสเปิดไปสู่นานาประเทศในวงกว้างด้วย เป็นตลาดที่จะเปิดไปสู่ทั่วโลก สินค้าอาเซียนจึงมีโอกาสเข้าไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ

เรื่องสองคือ การจัดตั้ง Asian –China Language and Culture Centre ที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง เมื่อเดือน ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา กิจกรรมแรกคือ เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน เพื่อดึงดูดให้คนทั่วไปในวงกว้าง นักศึกษาและคนทั่วไปมาร่วมงาน คนจีนสนใจภาพยนตร์อาเซียนมากเพราะกระบวนการผลิตดี มีคุณภาพ มีภาพยนตร์จากไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย มาฉาย ตลอดหนึ่งสัปดาห์จึงมีคนไปชมจำนวนมาก

ภาพยนตร์ไม่เพียงแต่สะท้อนความแตกต่างหลากหลายในเรื่องภาษาแต่ยังบอกถึง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของแต่ละชาติ ซึ่งชาวจีนสามารถเรียนรู้ชาติอาเซียนในมิติต่างๆได้จากภาพยนตร์

ศูนย์อาเซียน- จีน ใช้หลายช่องทางและพื้นที่ เพื่อเป็นเวทีเชื่อมความร่วมมือสองฝ่าย เช่น ในงานมหกรรมจีน-เซียน ที่กว่างซี ปีที่แล้วไม่เพียงเป็นวาระครบ 10 ความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์จีนอาเซียน แต่เป็นโอกาสครบ 22 ปี ความสัมพันธ์ที่จีนเป็นคู่เจรจากับอาเซียนด้วย

ศูนย์ได้จัดบรรยายและให้ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนจากอาเซียนในจีน ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ได้จัดตั้งบูธของศูนย์โดยเฉพาะ เพื่อให้ข้อมูลแก่คนจีนที่เข้าชมงานเอ็กซ์โปดังกล่าวได้รู้จักศูนย์มากขึ้น

เวที ที่สองคือด้านการศึกษา ที่เขตกว่างซี ทุกๆเดือนก.ย. จะมีงานสัปดาห์ การศึกษาอาเซียน-จีน (Asian –China education week) ปีที่แล้วเป็นโอกาสครบวาระ 10 ปีเช่นกัน จึงได้จัดเป็นเวทีในการถ่ายทอดการเรียนรู้ด้านการศึกษา ศูนย์อาเซียน-จีน สนับสนุนเรื่องการหาทุนให้นักศึกษาอาเซียนเข้ามาเรียนในจีนมากขึ้น(ปัจจุบันมีนักศึกษาจีนไปเรียนในอาเซียนมากกว่า)

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง พูดไว้ในเวทีการประชุมซัมมิตครั้ง 16 ที่กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนว่า ต้องการให้ทุนการศึกษากับอาเซียนมากขึ้น ซึ่งไม่ได้อยู่ในโควต้าหลักของรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่ประสานความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยศูนย์อาเซียน- จีน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงหาแหล่งทุนดังกล่าว

เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การติดต่อสื่อสารแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วทั่วถึง ในเวลาไม่ถึงสองปี ศูนย์อาเซียน-จีน มีแฟนชาวจีนในเว่ยโป๋ หรือ ไมโครบล็อค มากถึง 1.32 ล้านคน เพราะได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง เกม และให้ข้อมูลต่างๆ ทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นด้วย

"ตัวอย่างของการจัดกิจกรรมประกวดภาพถ่าย ชาวจีนไปเที่ยวอาเซียนหรือชาวอาเซียนมาท่องเที่ยวในเมืองจีน เรามีคนมากกว่า 200 คนที่เป็นแฟนคลับศูนย์ฯ กิจกรรมที่แล้ว มีคนเอารูปใส่มากกว่า 400 รูป และมีคนไปกดโหวตมากถึง 1.5 ล้านโหวต ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โครงการนี้เพิ่งจบเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาก และจะยังมีโครงการอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต"

สำหรับปีนี้ จะมีโครงการประกวดบทความให้นักศึกษาทั้งจีนและอาเซียนที่อาศัยในประเทศจีนได้ส่งบทความมาร่วมประกวด ซึ่งศูนย์ฯจะเดินสายไปประชาสัมพันธ์โครงการตามมหาวิทยาลัยต่างๆด้วย

ความท้าทาย

คุณลดาเล่าว่า ปีนี้ถูกประกาศให้เป็นปีแห่งความร่วมมือทางวัฒนธรรม หรือ Asian –China Cultural Exchange Year ดังนั้นกิจกรรมของศูนย์ฯจึงจะสนับสนุนข้อริเริ่มนี้ ด้านหนึ่งก็ได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งกำหนดไว้แล้วว่าเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นภารกิจหนักของเมียนม่าร์ในฐานะประเทศประธานหมุนเวียนอาเซียน ขณะที่ไทยยังมีบทบาทผู้ประสานงานอาเซียนอยู่ จนถึงกลางปีหน้า

ความท้าทายแรกคือ การที่ศูนย์ฯอายุแค่ประมาณสองปี เปรียบเสมือนเด็กเพิ่งเริ่มตั้งไข่ จึงยังมีภารกิจอีกหลายอย่างรออยู่ที่ต้องทำเพิ่มเติม ต้องพัฒนาปรับปรุง เปิดกว้างเรียนรู้จึงต้องดูแบบอย่างจากศูนย์อื่นเช่น ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น ( ก่อตั้งแล้ว 33 ปี) ศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ (ก่อตั้งแล้ว 5 ปี) ว่าทำอะไรเป็นรูปธรรม น่าสนใจบ้าง

ประการสองคือ ภายในศูนย์ยังมีเจ้าหน้าที่ไม่ครบทุกตำแหน่ง และต้องพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ข้าราชการจีนต้องพร้อมพูดภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากเป็นภาษาทางการที่ใช้สื่อสารในฐานะองค์กรระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ชาติอาเซียนก็ต้องเรียนรู้ภาษาจีน เรียนรู้การอยู่ร่วมกับชาวจีนมากขึ้น อีกด้านหนึ่งบุคลากรในศูนย์ต้องติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์สองฝ่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ในการนำไปเขียนแผนงาน โครงการและการปฏิบัติงานต่อไป และต้องเห็นภาพรวมด้วย

ขณะที่ชาติสมาชิกอาเซียน มีทั้งความแตกต่างและความเหมือน ก็ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรคแต่มองเป็นความท้าทาย จะทำอย่างไรให้ทำงานได้บนความหลากหลายดังกล่าวนั้น

"ศูนย์จะทำงานไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งชาติอาเซียนและทางจีน ต้องประสานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงาน รวมทั้งสถานทูตทั้ง 10 ชาติอาเซียน แต่ละชาติต้องการประสานร่วมมือกับจีนอยู่แล้ว ดังนั้นศูนย์ฯจึงเข้าไปช่วยเหลือและเชื่อมในจุดนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ พันธะ หรือ commitment ของรัฐบาล ระดับผู้นำ ทั้ง 11 ชาติ มีเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกัน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความได้เปรียบของศูนย์คือเป็นหน่วยงานอิสระที่มีรัฐบาลสนับสนุนจึงมีความคล่องตัวในการทำงานร่วมกับทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน"

ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ACC กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประสานงานกับแต่ละชาติสมาชิกอาเซียน ต้องดูว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาตินั้นๆ ในเรื่องนั้น มีพัฒนาการมาอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งความเหมือนและต่างเพื่อรวมเป็นประชาคมอาเซียนและการติดต่อกับจีน เช่น การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การเปิดเสรีการค้า ในช่วงแรก ศูนย์ฯให้ความสำคัญกับความพร้อมของชาติสมาชิกที่แตกต่างกัน เช่น สมาชิกอาเซียนเก่า จะทำเรื่องเปิดเสรีได้เร็วกว่าสมาชิกใหม่ หรือการทำโครงการเพื่อขจัดความยากจน เป็นต้น

ประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญมากตอนนี้คือให้จีนช่วยเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนปีหน้า ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่จะมาถึง เน้นการเชื่อมโยง ในมิติต่างๆ ของสองฝ่าย connectivity เน้นเชื่อมโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนทั้ง 3 ด้านคือ วัฒนธรรม การศึกษาและการท่องเที่ยว เช่น อินโดนีเซีย สนใจเรื่องการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในปีที่แล้วก็จะมีหลายคณะมาขอให้ศูนย์เป็นตัวกลางจัดกิจกรรม เช่น สัมมนา จับคู่ทางธุรกิจ ส่วนในปีนี้ให้ความสนใจเรื่องวัฒนธรรม ก็จะมีการส่งคณะนักแสดงนาฎศิลป์และวัฒนธรรมหลายคณะไปเยือนอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์สองฝ่าย

หรือเรื่องการท่องเที่ยว ACC ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ ซีซีทีวี ทำสารคดีเผยแพร่ ทำไปแล้ว 5 ประเทศ ถ่ายทอดทางซีซีทีวี ช่อง 10 โดยในปีนี้มีแผนงานทำต่อเพื่อให้ครบทั้ง 10 ประเทศ

โสภิต หวังวิวัฒนา สัมภาษณ์และเรียบเรียง

2014-03-28

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
泰国
v ระหว่างบรรทัด:การต้องตอบสนองความคาดหวังของชาวจีนทั่วประเทศและทำให้นานาชาติยอมรับ คือความท้าทายของรัฐบาลจีนชุดปัจจุบัน 2014-03-21 16:28:10
v ระหว่างบรรทัด:ความท้าทายของรัฐบาลสีจิ้นผิง ในการพัฒนาเศรษฐกิจให้สมดุลกับสิ่งแวดล้อมที่ดี และนโยบายขยายแสนยานุภาพด้านกลาโหมกับการสร้างการยอมรับจากนานาชาติ 2014-03-14 11:56:18
v ระหว่างบรรทัด:ความท้าทาย โอกาสและอุปสรรคของรัฐบาลจีน ในการพัฒนาประเทศ หลังการประชุมสองสภา 2014-03-07 12:09:51
v ระหว่างบรรทัด:กรรมาธิการ การต่างประเทศ วุฒิสภาของไทย เยือนปักกิ่งแจงสถานการณ์ไทยให้กับสภาปรึกษาการเมืองจีน 2014-02-28 16:16:05
v ระหว่างบรรทัด:นักท่องเที่ยวจีน ตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวที่ทั่วโลกต้องการ (ตอนที่ 2) 2014-02-21 16:23:45
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040