ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน กับงานแปลเกี่ยวกับพุทธศาสนา
  2014-05-12 17:42:37  cri

แม้ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน แห่งมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งจะออกตัวว่าท่านยึดคำสอนขงจื่อ ไม่นับถือศาสนาอะไร แต่ก็ไม่กีดกันทุกศาสนา เพราะมั่นใจว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ขณะนี้ อาจารย์แปลหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาออกมาแล้วสองเล่ม คือจดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ลั่วหยางสังฆารามรำลึก และที่กำลังแปลคือปัญจพุทธประทีป

ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน

แรงบันดาลใจที่ทำให้แปลงานพุทธศาสนา

ในจีนจะมีหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ไม่ใช่คัมภีร์ที่สำคัญที่สุด 3 เล่ม คือต้าถัง ซี ยู่ว์ จี้大唐西域记 ลั่วหยาง เฉียหลัน จี้洛阳伽蓝记 และอู่ เติง หุ้ย หยวน五灯会元 คิดว่าจะแปลให้ครบชุด พุทธศาสนาเมื่อเข้ามาในจีนแล้วพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมจีน จนกลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของวัฒนธรรมจีน เวลานี้เราก็มีเจตนารมณ์ที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้ชาวโลกรู้จัก เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้แปลงานพุทธศาสนา

ต้าถังฯ งานแปลเกี่ยวกับพุทธศาสนาเล่มแรก

ต้าถัง ซี ยู่ว์ จี้ เขียนโดยพระถังซัมจั๋ง แปลเป็นไทยคือ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง (มักเรียกสั้น ๆ ว่าต้าถังฯ) ท่านเขียนเล่าตั้งแต่ท่านเดินทางออกจากจีนไปจนถึงอินเดีย ระหว่างทางท่านต้องเผชิญอันตรายอะไรบ้าง เมื่อไปถึงอินเดียซึ่งตอนนั้นเราเรียกอินเดียว่าอินเดียทั้งห้า ท่านก็ได้เดินทางไปตามแคว้นต่าง ๆ ถึง 128 แคว้น มี 110 แคว้นท่านไปเห็นด้วยตัวท่านเอง อีก 18 แคว้นท่านเขียนขึ้นจากที่คนเล่าให้ฟัง แล้วท่านก็ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ท่านศึกษาอย่างช่ำชอง เมื่อท่านกลับมาแล้วจักรพรรดิถังไท่จงได้ขอให้เขียนเรื่องที่ท่านเล่าให้ฟังระหว่างทางและที่อยู่ในอินเดีย ท่านจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเขียนประวัติพุทธศาสนาโลกและประวัติศาสตร์อินเดีย นักวิจัย นักศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินเดีย ไม่ว่าชาวอินเดีย ชาวตะวันตก หรือว่าคนไทยด้วยกันอย่างเช่นท่านเสถียร โพธินันทะ อย่างนี้ ท่านก็ต้องเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ ที่สำคัญยิ่งคือพุทธสถานในสมัยพุทธกาล อย่างเช่น มหาวิทยาลัยนาลันทาก็ดี ป่าอิสิปตนมฤคทายวันก็ดี หรือถ้ำอชันตาก็ดี ทุกอย่างรัฐบาลอินเดียค้นพบจากการศึกษาหนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อค้นพบโบราณสถานนี้แล้ว รัฐบาลจีนกับอินเดียก็ได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นที่หน้านาลันทาเพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระถังซัมจั๋ง นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ นักประวัติศาสตร์อินเดีย ชาวอินเดียก็บอกว่าถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้ ต้าถังฯ เราจะไม่รู้อะไรของอินเดียเลย ที่สำคัญที่สุดคือหนังสือเล่มนี้ได้บอกให้รู้ถึงวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งในความเห็นของนักวิชาการทั่วไปอินเดียเป็นชาติที่มีปรัชญาลึกซึ้ง เป็นชาติที่มีเทพนิยายอะไรมากมาย ธรรมชาติวิทยาของอินเดียลึกมาก แต่อินเดียไม่มีประวัติศาสตร์คือไม่จดประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าจึงเป็นเครื่องหมายที่สำคัญที่สุดที่บอกถึงระยะประวัติศาสตร์ของอินเดีย ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เกิดขึ้นที่ไหน

กลายเป็นว่าประเทศที่เกิดเหตุประวัติศาสตร์เองไม่ได้บันทึกอะไรไว้เลย

ใช่ เพราะอินเดียใช้ปรัชญา ธรรมชาติวิทยาหรือเทพนิยาย ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะบอกประวัติศาสตร์อะไรไว้บ้างแต่ไม่ใช่หลักฐานที่อ้างอิงได้ เพราะฉะนั้น อย่างพระเสถียร โพธินันทะ ก็ได้บอกไว้ว่าถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้ของพระถังซัมจั๋งเราจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ในอินเดียเลย แต่อันนี้พี่เขียนเอาไว้ในอารัมภบทของต้าถัง

ลั่วหยางสังฆารามรำลึกงานแปลเกี่ยวกับพุทธศาสนาเล่มที่สองของอาจารย์มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในแง่มุมไหน

อันนี้จะแตกต่างกับต้าถังฯ ต้าถังฯนี่เขียนเรื่องของอินเดีย มีอะไรที่มากมายในต้าถังฯเนื้อเรื่องเหมือนในพระปฐมสมโพธิกถา หรือที่เราเรียกว่า พระปฐมสมโพธิ อันนี้มีหลายแห่งที่เหมือนกัน เวลาแปลก็ยังคิดว่า เอ..กรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้เรื่องราวเหล่านี้มาจากไหนคือกับต้าถังนี่เหมือนกันเลย สอดคล้องกันเลย

ลั่วหยางสังฆารามรำลึก แปลมาจากหนังสือโบราณของจีนชื่อ ลั่วหยางเฉียหลัน จี้ เขียนโดย หยางเสฺวี้ยนจือ เป็นเรื่องในจีนเอง ได้แนะนำวัดต่าง ๆ สังฆารามที่สำคัญต่าง ๆ ในสมัยเป่ยเว่ยอยู่ 40 กว่าสังฆาราม ในยุคเป่ยเว่ยเรียกได้ว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่งของจีน ตอนนั้นมีพระอารามทั้งหมด 1,600 กว่าแห่ง แต่ที่เขาเอามาเขียนนี่เป็นพระอารามหลวงในกลางเมือง หนังสือเล่มนี้ที่สำคัญนอกจากให้เรารู้ถึงอารามต่าง ๆ แล้ว ยังได้รู้ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมต่าง ๆ ในสมัยนั้น ลั่วหยางสังฆารามก็เป็นเรื่องที่ชาวต่างประเทศให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ มีแปลเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ญี่ปุ่นบ้างอะไรพวกนี้ ที่ลั่วหยางไม่มีซากอารามเหลือแล้ว ในสมัยเป่ยเว่ยนี่เท่าที่ยังพอมีให้เห็นบ้างคือถ้ำพระพุทธรูปหยินก่าง ถ้ำพระพุทธรูปหลงเหมินก็ลงทุนสร้างในสมัยนี้ แล้วก็ตุนหวง ถ้ำพระพุทธรูปม่ายจีซัน นี่เริ่มในสมัยเป่ยเว่ยทั้งนั้นคือสมัยนั้นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ที่สร้างเป็นถ้ำพระพุทธรูปนี่ไม่ใช่เฉพาะยุคนี้ แต่ว่าเริ่มจากยุคนี้ 4 แห่ง อย่างถ้ำพระพุทธรูปที่หลงเหมิน ลั่วหยางมีพระพุทธรูปเป็น 100,000 องค์ แล้วก็เริ่มตั้งแต่ยุคเป่ยเว่ย รู้สึกสร้างอยู่ตั้ง 400 กว่าปี มาถึงสมัยถัง ก็สร้างมาเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวพุทธในสมัยนั้น ๆ

ที่แปลเพราะมองว่าเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ คนไทยก็น่าจะได้รู้ด้วยก็เลยแปลเป็นภาษาไทย

เวลาที่พุทธศาสนาเข้ามาในจีนแล้ว คนจีนก็ได้นำมาประยุกต์ให้เขากับวัฒนธรรมหรืออารยธรรมของจีน

อันนี้ต้องเท้าความ ในจีนพระจักรพรรดิเป็นผู้ที่มีอำนาจล้นฟ้าคืออยู่เหนือศาสนา เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาเข้ามาก็ต้องพยายามทำให้ทางราชสำนักรับได้ บางคนจึงวิเคราะห์ว่าพระถังซัมจั๋งประจบสอพอพระจักรพรรดิอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเรามองอีกแง่หนึ่งเพื่อที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปได้ ท่านต้องให้กษัตริย์ยอมรับ ยอมรับแล้วจึงจะเผยแพร่ได้ แล้วคนจะเข้าใจว่าแต่ก่อนจีนไม่มีศาสนา จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ในจีนมีศาสนาใหญ่ ๆ ทั้ง 3 ศาสนาของโลก แต่ว่าจีนไม่เคยประกาศศาสนาไหนเป็นศาสนาประจำชาติ มีศาสนาประจำราชสำนัก อย่างราชวงศ์ถังก็ศาสนาเต๋า จริง ๆ แล้ววัฒนธรรมจีนคือขงจื่อ พอพุทธศานาจะเข้ามาก็จะถูกมองว่าเป็นศาสนาของชาวต่างด้าว เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้ปักหลักลงได้ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับของจีน วัฒนธรรมจีนถ้าไม่อย่างนั้นก็คงอยู่ไม่ได้ มีข้อพิสูจน์อย่างนี้ในจีนนี่พุทธศาสนานิกายที่เจริญที่สุดคือเซนกับสุขาวดี ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าอย่างสุขาวดีก็ไม่ต้องอะไรมากให้ท่องอมิตภะพุทธะ อมิตภะพุทธะ ก็ถือว่าเวลาตายพระอมิตภะพุทธะก็จะมารับไป วิธีนี้มันง่ายเพราะผู้คนส่วนใหญ่ก็จะต้องหาเช้ากินค่ำ การอะไรมากมายก็ทำไม่ได้ เซนก็เหมือนกัน เซนก็แค่มีพุทธะอยู่ในใจ อย่างนี้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้น สองนิกายนี้จึงแพร่หลายในจีนคือเข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ในจีน อย่างเช่นพระถังซัมจั๋งที่ท่านเอาเข้ามาคือนิกายโยคาจารภูมิศาสตร์ แต่ว่าท่านเป็นคนเคร่งครัดมากไม่ยอมให้มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากของเดิม เพราะฉะนั้น เมื่อท่านมรณภาพแล้วนิกายนี้ก็เสื่อมหายไปเพราะไม่เป็นที่รับได้ของคนจีน

ลั่วหยางเป็นเมืองหลวงของเป่ยเว่ย มีสร้างวัดไว้มากมาย ที่ลั่วหยางมีถ้ำพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดที่เขาเรียกว่าพระพุทธไวโรจนะ สองข้างมีพระอานนท์กับพระกัสสปะ พระพุทธรูปองค์นั้นสร้างหน้าเหมือนบูเช็กเทียน สมัยบูเช็กเทียนเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะว่าบูเช็กเทียนต้องการชิงบัลลังก์จากราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ถังแซ่หลี่ บูเช็กเทียนแซ่อู่ บูเช็กเทียนก็พยายามสร้างกระแสว่าต่อไปนี้จะต้องมีจักรพรรดินี จึงให้สร้างพระพุทธรูปหน้าเหมือนบูเช็กเทียน

ความรู้สึกในการแปลงานเกี่ยวกับพุทธศาสนาเล่มที่สอง

เล่มนี้ต่างจากต้าถังฯ เพราะต้าถังฯเป็นเรื่องของอินเดีย ศัพท์ยากก็จริง แต่ศัพท์มีที่ให้ค้น แต่ลั่วหยางเป็นเรื่องในจีนเอง บางทีก็แปลยาก บางครั้งรู้สึกว่ายากกว่าแปลต้าถังฯ ศัพท์บางตัวเราต้องบัญญัติขึ้นมาเอง เราหาที่คนไทยมีเอาไว้ให้เราอ้างอิงไม่ได้ อันนี้ก็ถือว่ายากข้อหนึ่งแล้ว บางทียังมีปรัชญาของเต๋า ขงจื่ออย่างนี้ อันนี้ค่อนข้างยาก และยากอีกข้อหนึ่งคือชื่อตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อันนี้ยากมาก เล่มนี้ก็เลยทำชื่อตำแหน่งแล้วอธิบายว่าตำแหน่งนี้ทำอะไรบ้าง เป็นภาคผนวกไว้ข้างหลัง คือถ้าจะแปลก็แปลยากมากเพราะตำแหน่งมันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็จะทำชื่อตำแหน่งแล้วทำเครื่องหมาย เช่น ขีดข้างล่าง เป็นชื่อตำแหน่ง ท่านผู้อ่านที่สนใจก็จะเปิดดูภาคผนวกอีกทีว่า เทียบกับตำแหน่งของไทยอะไร หรือเป็นตำแหน่งอะไรอย่างนี้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนการพิมพ์ หาอ่านได้จากห้องสมุด

ลั่วหยางสังฆารามรำลึกพิมพ์โดยรับทุนสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯท่านกรุณาช่วยแจกจ่ายไปตามห้องสมุด ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ คิดว่าหนังสือประเภทนี้ผู้อ่านก็คงเป็นคนในมหาวิทยาลัย หรือท่านที่วิจัยทางศาสนา หรือห้องสมุด เพราะว่าไม่ใช่นวนิยายเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คนที่อยากอ่านสนุกคงไม่อ่าน

กำลังแปลหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเล่มที่ 3 "ปัญจพุทธประทีป"

เล่มที่กำลังแปลชื่อ อู่ เติง หุ้ย หยวน แปลเป็นไทยคือ ปัญจพุทธประทีป เป็นเรื่องพุทธศาสนานิกายเซนของจีน เริ่มตั้งแต่พระโพธิธรรม ที่คนไทยเรียก ตั๊กม๊อ คนจีนเรียก ต้าหมัวที่แปลว่าธรรม ท่านเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 28 ของนิกายเซนนับจากอินเดียมา แล้วก็เป็นองค์แรกของจีน ก็คงจะแปลไปจนถึงหุ้ยเหนิง ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านจะแปลว่า เว้ยหลั่ง เรื่องนี้แปลยากมาก ยากกว่าทุกเล่มที่แปล แต่ว่าสนุกค่ะ เป็นเรื่องราวต่าง ๆ ของนิกายบเซน เล่มนี้มี 20 หมวด แต่จะเลือกแปลเฉพาะที่ว่าสนุกและคนส่วนมากรู้กัน เล่มนี้ที่ว่ายากเพราะมีคำปริศนาที่ต้องตีความ ตีความนี่ยากมาก บางทีก็ต้องแปลตรงตัวแล้วให้ผู้อ่านไปตีความเอง เป็นความสนุกและท้าทาย

แม้ไม่นับถือศาสนาอะไร แต่มั่นใจทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี

คิดว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ไม่ว่าใครนับถือศาสนาอะไรดิฉันก็เห็นดีด้วย ตัวดิฉันเองไม่ได้นับถือศาสนาอะไร ก็ต้องอธิบายกันนิดหนึ่ง ในจีนปัญญาชนส่วนมากจะรับคำสอนของขงจื่อ แต่ดิฉันไม่กีดกันศาสนาอะไรทั้งนั้น แล้วเวลาที่เพื่อนคนไทยให้พระพุทธรูปมา ดิฉันก็จะวางไว้ในที่สูง เพราะดิฉันถือว่าสิ่งเหล่านี้ เพื่อนคนไทยด้วยกันนับถือ ดิฉันก็ต้องให้ความเคารพนับถือ จะเป็นในลักษณะอย่างนี้ เวลาไปเมืองไทยไปเข้าวัดวาอาราม ดิฉันก็เข้าได้อย่างไม่ขัดเขิน เพราะคิดว่าอะไรที่คนในชาตินั้นเขานับถือ เราก็ควรจะนับถือด้วย เพราะดิฉันมองว่าศาสนาทุกศาสนาก็สอนให้คนเป็นคนดี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040