เมื่อนักศึกษาที่เกิดช่วงทศวรรษ 1990 เข้าสู่สังคม...(1)
  2014-08-11 17:57:15  cri

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ก่านจี๋กับมหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมกันแถลงรายงานการหางานทำของนักศึกษาที่เกิดช่วงทศวรรษ 1990 จากการรวบรวมแบบสอบถามที่ตอบกลับจำนวน 3.5 แสนฉบับ โดยได้สรุปความหวังของนักศึกษา และสภาพความเป็นจริงในประเด็นการหางานทำ

สิ่งที่ไม่ต้องสงสัยคือ นักศึกษาที่เรียนจบมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการมีงานทำต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้ปี 2014 กลายเป็นปีที่หางานได้ยากที่สุด รายงานการหางานทำของนักศึกษาที่เกิดช่วงทศวรรษ 1990 พบว่า จนถึงปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ อัตราการมีงานทำของนักศึกษา มีเพียง 14.3% บางคนล้อเล่นว่า อัตราการแต่งงานของจีนอยู่ที่ประมาณ 10% การหางานทำยากกว่าหาคู่แต่งงานอีก

เมื่อเผชิญกับสภาพการหางานทำที่ยากเช่นนี้ นักศึกษาที่เกิดช่วงทศวรรษ 1990 ก็ปรับลดความคาดหวังของตนเรื่อยๆ และเรียกเงินเดือนตามสภาพที่เป็นจริงของตลาด สถิติพบว่า เงินเดือนโดยเฉลี่ยของนักศึกษาที่จบใหม่ในปี 2014 คือ 2,443 หยวน เพิ่มขึ้น 324 หยวนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่นักศึกษาที่เรียนจบใหม่หวังว่าจะได้เงินเดือน 2,606 หยวน ซึ่งสูงกว่าสภาพที่เป็นจริง 163 หยวน และเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา เงินเดือนที่นักศึกษาคาดหวังกับเงินเดือนที่ได้จริงห่างกันถึง 391 หยวน

ในเมืองต่างๆ นักศึกษาที่จบใหม่ก็มีเงินเดือนเฉลี่ยที่ไม่เท่ากัน เงินเดือนในเมืองใหญ่ๆ เช่นปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้จะสูงกว่าเมืองอื่นๆ โดยนครเซี่ยงไฮ้สูงที่สุด อยู่ที่ 3,231 หยวน กรุงปักกิ่งอยู่อันดับ 2 เงินเดือนของนักศึกษาที่จบใหม่อยู่ที่ประมาณ 3,109 หยวน ขณะที่เงินเดือนของนักศึกษาที่จบใหม่ในเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางภาคตะวันตกกลับค่อนข้างต่ำ คืออยู่ที่ 2,109 หยวน เป็นอันดับ 22

นักศึกษาที่ได้ปริญญาสูงๆ จะได้เงินเดือนที่สูงด้วย เช่น นักศึกษาที่จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนเฉลี่ย 2,776 หยวน สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ขณะเดียวกัน อัตราการมีงานทำของนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปกลับค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 7% เท่านั้น

ในตลาดการหางานทำมีการแข่งขันสูงมาก ในสังคมจีนแม้เป็นหญิงเหล็กก็สู้กับชายธรรมดาไม่ได้ รายงานพบว่า วิสาหกิจยินดีที่จะว่าจ้างพนักงานชายมากกว่าพนักงานหญิง รายได้เฉลี่ยของนักศึกษาชายที่เรียนจบใหม่จะสูงกว่านักศึกษาหญิง 389 หยวนต่อเดือน

สำหรับนักศึกษาที่เกิดช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนกำลังเจริญเติบโต เด็กๆ ส่วนใหญ่โตในครอบครัวพอกินพอใช้ ไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องเงินมาก เมื่อเรียนจบแล้วจึงรู้ว่าสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร หลายคนยังต้องขอเงินพ่อแม่หลังทำงานแล้วด้วย

คนที่เกิดช่วงทศวรรษ 1990 ในจีนค่อนข้างแตกต่างจากคนที่เกิดช่วงยุคปี 1980 หรือยุคปี 1970 พวกเขาถูกมองว่าเป็นเด็กรักสนุก ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางมากกว่า แต่เมื่อเข้าสู่สังคม คนรุ่นนี้กลับมีทัศนคติในการเลือกหางานไม่ต่างจากคนรุ่น 1980 และ 1970 เลย คือสนใจทำงานภายในระบบรัฐบาลมากกว่า แต่งานในระบบก็ไม่ได้เป็นงานที่หาได้ง่ายดาย สถิติพบว่า นักศึกษาจบใหม่ที่ได้งานในระบบมีเพียง 16.7% เท่านั้น เมื่อเผชิญกับสภาพที่เป็นจริงเช่นนี้ คนรุ่น 1990 ที่มีการศึกษาไม่สูงนักก็แสดงความกล้าเสี่ยงออกมา พวกเขาหวังที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจเองมากกว่าคนที่จบการศึกษาสูงกว่า 2.4 เท่า ส่วนคนที่ได้ปริญญาสูงส่วนใหญ่เลือกที่จะสมัครงานทำ จึงมีคนกล่าวล้อเล่นว่า นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชิงหวาต้องไปตีสนิทกับเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียนมัธยมปลายที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะคนพวกนี้จะสร้างธุรกิจเอง นักศึกษาที่เรียนเก่งๆ จบแล้วต้องขอตำแหน่งจากคนพวกนี้

(yim/cici)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040