กาสะลองส่องจีน ตอน 2.1 : จากนักเรียนโอลิมปิกวิชาการคอมพิวเตอร์ สู่ว่าที่ดอกเตอร์ผู้บุกเบิกวงการ "พระเครื่องไทยในแผ่นดินจีน" : ภัณฑิล จงจิตรตระกูล
  2014-11-28 18:08:39  cri

หลังจากมาอยู่จีนสักพัก ก็ได้ยินเสียงเล่าขานถึงตำนานของอดีตประธานสมาคมนักเรียนไทยประจำกรุงปักกิ่งนายหนึ่ง ซึ่งผันตัวมาดำเนินธุรกิจและจัดตั้งบริษัทเกี่ยวกับพระเครื่องไทยในจีน ห๊ะ! พระเครื่องไทย! ห๊ะ! ในจีนเนี่ยนะ! ?? คำถามผุดขึ้นมาเต็มหัวไปหมด ทำไมถึงต้องพระเครื่อง พระเครื่องไทยดังขนาดนั้นเลยเหรอในจีน เรื่องนี้ต้องขยายกันสักหน่อยแล้ว ผมรีบขยับเขยื้อนร่างกายที่นับวันจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ...มัวแต่อิ่มอร่อยกับอาหารจีนไปออกกำลังกายด้วยการตามหาบุคคลต้นเรื่องของเรา จนมาถึงเคหะสถานของพี่ท่านนี้ซึ่งใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการดำเนินงานด้านพระเครื่องไทยในประเทศจีน

และแล้วก็เจอตัวจริงครับ (ขอไฟดวงกลางส่องพี่เขาหน่อยครับ อิอิ ) ชื่อเสียงเรียงนามของพี่ท่านก็คือ พี่ชิ หรือ ภัณฑิล จงจิตรตระกูล หนุ่มเหนือจากเมืองแพร่ว่าที่ดอกเตอร์ทุนรัฐบาลจีน คณะเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ สาขาการลงทุนระหว่างประเทศ University of International Business and Economic ขอเท้าความกลับไปในสมัยวัยละอ่อนของพี่ชิสักเล็กน้อยนะครับ พี่ชิในสมัยประถมก็ตามเสต็ปครอบครัวชาวจีน สนับสนุนให้พี่แกเรียนโรงเรียนจีนสุดกำลัง แต่พอขึ้น ม.1 มา พี่แกกลับหันมาสนใจด้านคอมพิวเตอร์แทน ประกอบกับเห็นรุ่นพี่ในโรงเรียนไปแข่งโอลิมปิควิชาการคอมพิวเตอร์แล้วได้เหรียญทองแดงกลับมา ทั้งจังหวัดนี่จัดขบวนแห่ 3 คืน 7 คืน ตัวเองรู้สึกว่าเท่ห์จัง อยากจะเป็นเหมือนพี่เขามั่งก็เลยทุ่มสุดตัวเรียนสายคณิต-คอมพ์ สอบจนได้เป็นตัวแทนภาคเหนือ (จุดนี้ต้องยืนบนเก้าอี้ ทรงตัวให้ดี และปรบมือดัง ๆ ครับ แปะๆๆ ) เรียนไปเรียนมาก็ตกผลึกได้ว่า หากเราเรียนคอมพ์ต่อไป อย่างมากที่สุดก็อาจเป็นได้แค่ลูกจ้างเขา เราคงไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง พี่ชิจึงกลับเข้าสู่โหมดตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้ง ความจริงผมเชื่อว่าทุกคนต้องผ่านจุดที่ว่ามาเหมือนกันหมด จะต่างก็คงแค่ชื่อที่เรียก เพราะของพี่ชิแกเรียกว่า "เอนทรานซ์รุ่นสุดท้าย" ด้วยสภาวะกดดันที่ว่าการสอบแบบใหม่จะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ตัวคุณพ่อเองก็อยากให้กลับมาใช้ภาษาจีนอีกครั้ง ผลก็เลยหล่นตุ๊บมาที่ คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่แห่งนี้เองที่ได้เหวี่ยงพี่แกกลับเข้าสู่วงโคจรของ "จีน" อีกครั้ง ทั้งการศึกษาต่อ การทำงาน รวมทั้ง คู่ชีวิต (ฮิ้ววววๆๆ)

พี่ชิได้ทุนของรัฐบาลจีนมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอกที่ University of International Business and Economic(UIBE) คณะเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ สาขาการค้าระหว่างประเทศ และสาขาการลงทุนระหว่างประเทศตามลำดับ ซึ่งมหาวิทยาลัย UIBE เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อสาขาเศรษฐศาสตร์ของจีน แถมยังได้คู่ชีวิตที่ถ้าหากจะเล่าแล้วคงเหมือนลิขิตจากสวรรค์ ฮิฮิ เสียใจจ้ะ ขอไม่นำเรื่องนี้ออกสื่อ การจับพลัดจับผลูมาศึกษาค้นคว้าด้านพระเครื่องได้ยังไงนี่สิ ที่น่าสนใจ

ทำไมถึงสนใจมาทำงานด้านพระเครื่อง ?

"...ความจริงเป็นความสนใจส่วนตัวตั้งนานแล้วล่ะ แล้วคุณพ่อก็มีความชอบในการศึกษา และสะสมพระเครื่องมาตั้งแต่วัยรุ่น จึงถ่ายทอดวิชาและความรู้ให้เรื่อยมา ก็เลยมีความรู้พื้นฐานเรื่องพระเครื่องอยู่แล้ว พอมีโอกาสได้มาศึกษาต่อในประเทศจีนก็เห็นว่าเริ่มมีชาวจีนให้ความสนใจเรื่องพระเครื่องพอสมควร ใช้เวลากว่าสามปีนะในการศึกษาตลาดพระเครื่องในจีน ก็เริ่มจากเดินเข้าออกร้านพระทุกวัน (คิดว่าน่าจะครบทุกร้านเลยหล่ะ) แล้วก็พบว่าจริง ๆ แล้วคนจีนยังไม่ค่อยทราบที่มาที่ไปของพระเครื่องแบบถึงรากถึงแก่น คือมองพระเครื่องเป็นสินค้าเลย พาณิชย์ล้วนๆ ทั้งโฆษณาชวนเชื่อแต่เรื่องไสยศาสตร์ ด้านมืด หาเนื้อคู่ไร้งี้ ไม่มีการพูดถึงความเป็นพุทธคุณ หรือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเลย ก็เลยคิดว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปเห็นจะส่งผลกระทบต่อพระเครื่องไทยแน่นอน

จากนั้นไม่นาน ก็เป็นช่วงหลังจากที่แต่งงานแล้ว ก็ต้องขอเพิ่มเติมนิดนึงว่า ภรรยาผมก็ เป็นพระพุทธศาสนิกชน มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว รวมถึงทางครอบครัวของภรรยาก็รู้จักกับผู้ใหญ่ และอาจารย์ในวงการพระพุทธศาสนาของจีนอยู่ไม่น้อย และคุณพ่อผมก็มีความสนิทกับผู้ใหญ่ในวงการพระเครื่องไทย ก็เลยได้เข้าไปคลุกคลีกับสมาคมฯบ่อยๆ ตลอดมาก็ได้เสนอเรื่องราวบ้าง แจ้งข่าวสารภายในจีนให้ทราบบ้าง ทั้งเขียนบทความวิเคราะห์แน้วโน้มต่างๆ ของพระเครื่องไทยในจีน ทางสมาคมพระเครื่องไทย และทางผู้ใหญ่ในจีนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และก็เห็นว่าควรจะมีการจัดตั้งสมาคมขึ้นในประเทศจีน ต่อมาก็เลยมีการเซ็นมอบอำนาจให้อย่างเป็นทางการ และด้วยเพราะเรามีความตั้งใจ ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็ไว้ใจ อีกอย่างคงเพราะได้แต่งงานกับภรรยาชาวจีน(อันนี้ล้อเล่น) ก็ไปมาระหว่างจีนไทยตลอด จากนั้น สมาคมฯก็ได้แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอะไรที่ภูมิใจ และเป็นเกียรติมาก แต่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบเช่นกัน เพราะเป็นงานที่ต้องทุ่มเท และต้องใจรักจริงๆ

ทีนี้ปัญหามันก็เกิดขึ้นก็คือ หลังจากได้มีการศึกษา และดำเนินการจดทะเบียนสมาคมในจีนก็ทราบว่า รัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายให้สมาคม หรือกลุ่มองค์กร จากต่างชาติมาเปิดในจีน จึงไม่สามารถจดทะเบียนเป็นสมาคมได้ในประเทศจีน ก็เลยคุยกับทางทนาย จึงได้ข้อสรุปว่าให้จัดตั้งเป็นบริษัทแล้วเซ็นมอบอำนาจให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการแทนในนามของสมาคมพระเครื่องไทย คือเอกสารทุกอย่างต้องออกจากสมาคม แค่เวลาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในจีน ก็ใช้ชื่อเป็นชื่อบริษัทดำเนินการ เราก็เลยจดทะเบียนเป็นบริษัทเกี่ยวกับการเผยแพร่วัฒนธรรม Culture&Media เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง และเผยแพร่วัฒนธรรมพระเครื่องซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ดำเนินการมาได้กว่าครึ่งปีแล้ว..."

บทบาทของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยในประเทศไทย กับประเทศจีน ต่างกันยังไง ?

"...ค่อนข้างจะต่าง เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานด้านนี้อยู่แล้ว งานที่สมาคมจัดในไทยส่วนมากจึงเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับงานประกวดพระเครื่อง ซึ่งก็แบ่งแยกงานประกวดออกเป็นหลายหมวด เช่น พระพุทธรูป พระเนื้อชิน เนื้อดิน เนื้อผง มีทั้งการแบ่งสาขาไปตามภูมิภาค ผู้เชี่ยวชาญก็มีหน้าที่บรรยายถึงความเป็นมา และประวัติศาสตร์ของพระเครื่องในเชิงลึก ทั้งดูตำหนิ วิธีพิจารณาเก๊แท้ ส่วนอีกกิจกรรมหนึ่งก็จะเป็นการออกใบรับรองพระเครื่อง ว่าเป็นพระยุคไหน เนื้ออะไร ใครเป็นผู้สร้าง ซึ่งนี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต่างจากงานที่สมาคมกำลังดำเนินอยู่ในจีน เพราะจีนยังไปไม่ถึงจุดนั้น ยังเพิ่งเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ก็ถือว่ามีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และเราก็ได้ทำการประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมอยู่ตลอด เราได้วางแผนการพัฒนาตลาดพระเครื่องในจีนไว้ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวไว้แล้ว แล้วก็หวังว่าในระยะยาวเราจะทำหน้าที่ได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับในประเทศไทย..."

พระเครื่องประเภทไหนที่เป็นที่นิยมในจีน ?

"...ตอนนี้ในประเทศจีน หลักๆ เลย ถ้าพูดถึงพระเครื่องคนก็จะนึกถึง "พระผีเสื้อ" ซึ่งก็อาจเป็นพระที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักมากนัก แต่เป็นที่นิยมมากในช่วงต้น และก็มีจิ้งจอก 9 หางบ้าง พระเชิงพระยุคบ้าง คือแบบสั่งประกอบ สั่งทำตามออร์เดอร์เลยก็มี คือเป็นหลายประเภทที่ค่อนข้างแปลกออกไป อาจจะ สีสัน ความสวยงาม และมีการแทรกโฆษณาชวนเชื่อเข้าไป ก็เลยทำให้มีชาวจีนนิยมกันมาก และซื้อขายกันในราคาที่ค่อนข้างสูง ถึงขนาดมีของทำเลียนแบบ Made in China ปนเข้ามาไม่น้อย แต่นี่ก็เป็นเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนสนใจ ถือว่าเป็นการเปิดประตูพระเครื่องไทยในจีนทีเดียว..."

กาสะลองส่องจีน ตอน 2.2 สัปดาห์หน้า ( ที่ทำอยู่นี้เรียก พุทธพาณิชย์ หรือเปล่า - แรงใจในการทำงาน - เคล็ดลับการแก้ปัญหาแบบ ชิ ชิ - แนะนำคนไทยที่อยากมาลงทุนในจีน )

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040