ดร.อารีวัลย์ บุญอากาศ จบการศึกษาปริญญาเอกด้านการค้าระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ (University of International Business and Economics) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำวิทยานิพนธ์เรื่องปัญหาการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ไทยมายังประเทศจีน ปัจจุบันจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้จากไทยมากถึง 23 ชนิด แต่ผลไม้ไทยที่คนจีนรู้จักดีมาก ๆ และมีวางขายโดยทั่วไปมีไม่กี่ชนิด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
จากการศึกษาวิจัยปัญหาที่พบมีอะไรบ้าง
พบว่ามีปัญหาอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำแพงภาษีถึงแม้ว่าเราจะมีการทำสัญญาทำความร่วมมือกันในอันที่จะทำให้ภาษีสินค้าเกษตรลดลงเหลือศูนย์ แต่จีนยังมีการเก็บภาษีในส่วนต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้า ปัญหาด้านการขนส่ง การทำหนังสือรับรองการทำหนังสือยืนยัน การตรวจโรค การตรวจสารเจือปนก็จะเป็นปัญหาที่มีเกิดขึ้นตลอดเวลาส่งผลต่อสินค้าเกษตรของไทยซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีอายุจำกัด
ปัญหาเร่งด่วนที่สุดคืออะไร
ปัญหาเร่งด่วนอย่างแรกเลยคือต้องให้ความรู้เกษตรกร รัฐบาลควรหาช่องทางในการจำหน่ายเราไม่ควรเน้นไปที่พ่อค้าคนกลางอย่างเดียว ถ้าเราอาศัยแต่คนกลางจากคนกลางสู่คนกลางนี่เกษตรกรไทยก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ผลประโยชน์ที่ได้แทนที่จะตกอยู่กับฝ่ายไทยก็จะตกอยู่กับพ่อค้าจีนมากยิ่งขึ้น
การใช้เทคโนโลยีก็เกี่ยวข้องอย่างในปัจจุบันเราอยู่ที่จีนเราอยากรับประทานเชอรี่จากประเทศชิลีเราก็เปิดเข้าไปในเว็บไซต์อย่างเช่นเถาเป่า อี๊เฮ่าเตี้ยน หรือเว็บไซต์อะไรก็ตามเราก็สามารถสั่งได้ก็จะเป็นการนำสินค้ามาส่งถึงผู้บริโภคโดยตรงก็จะทำให้เราประหยัดในเรื่องต้นทุน เรื่องขั้นตอนพิธีการต่างๆในการนำเข้า ที่สำคัญสามารถนำสินค้ามาถึงผู้บริโภคโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลางไม่ต้องผ่านหลายๆมือ ที่สำคัญอีกอย่างคือไม่ต้องเสียค่าโฆษณา นอกจากการให้ความรู้ การเปลี่ยนช่องทางในการค้าขายใหม่ ก็จะเป็นเรื่องของการขนส่ง ผักผลไม้เป็นสินค้าที่มีอายุจำกัดถ้าเรายังใช้การส่งผ่านในหลายๆส่วน ความสดจะลดลงทำให้เมื่อไปถึงปลายทางสินค้าของเราก็จะถูกกดราคาโดนลดราคาไปแล้วขณะที่คู่แข่งของเราเขายังมีความสดใหม่อยู่นี่เราก็จะเสียเปรียบแล้ว
จีนเปิดรับผลไม้จากไทยถึง 23 ชนิดแต่ที่เห็นๆอยู่มีไม่กี่อย่างที่เห็นมากคือทุเรียน มังคุดทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
ก่อนอื่นต้องดูก่อนถ้าถามคนจีนเรื่องผลไม้ไทยที่เขารู้จักคุ้นเคยส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นทุเรียน มังคุด ถามว่าผลไม้อื่น ๆ อย่าชมพู่ กล้วย สับปะรดนี่เขาจะไม่รู้จักเลยเขาจะ ไม่คิดถึงประเทศไทยเลย บางอย่างเป็นเพราะที่บ้านเขามี แต่จริง ๆ แล้วคือเรายังไม่ได้เอามาทำเป็นจุดเด่น อย่างกล้วยหอมเขาจะไปนึกถึงฟิลิปปินส์หรือแอฟริกาใต้มากกว่า ภาครัฐต้องมีการโปรโมทสินค้าอื่นๆขึ้นมาบ้างเพื่อให้คนจีนรู้จักผผลไม้ไทยชนิดอื่นๆให้มากขึ้น เพราะผลไม้ของเราก็มีเอกลักษณ์ทั้งในแง่รสชาติและกลิ่น
ปัญหาเรื่องการปลอมปนการแอบอ้างว่าเป็นสินค้าไทย อย่างข้าวเม็ดเล็กกลมบลอกซึ่งของไทยไม่มี มีการติดสติกเกอร์สินค้าเป็นภาษาไทยแต่ติดกลับข้างอย่างน้ำปลา อ่านยังไงก็อ่านไม่ออกว่ามันชื่ออะไร
สินค้าไทยเป็นสินค้าที่น่าสนใจ ชาวจีนให้ความนิยมกันมากแต่เชื่อไหมคะว่าเข้ามาในเมืองจีนแล้วมักจะหายเราไม่มีการโปรโมทกันอย่างต่อเนื่องเหมือนเราเอาสินค้ามาออกร้านคนชอบเหมากันไปหมดจบกลับบ้านไม่มีการสานต่อ
เวลาถามคนจีนว่านอกจากทุเรียนและมังคุดแล้วชอบผลไม้ไทยอะไรอีกบ้าง คนจีนก็จะถามกลับมาทันทีว่าแล้วมีอะไรอีกล่ะ คือเขายังรู้จักผลไม้เราไม่มากต้องโปรโมทอย่างต่อเนื่อง อย่างลำใยไทยเขารู้จักแต่ลำใยแห้งว่าของเราขึ้นชื่อมาก ทั้งๆที่จริงๆแล้งลำใยของเราโดดเด่นมากทั้งรสชาติ ความหอมหวาน เนื้อหนาแห้งกรอบอร่อย ชมพู่ไทยเห็นในซุเปอร์มาร์เก็ตจีนบ้างแต่แพงมาก อยากให้สังเกตว่าบางทีในบ้านเราบางช่วงจะซื้อชมพู่รับประทานยังหายากเลย ผลไม้ที่จะส่งมาในประเทศจีนนี่อันดับแรกเลยต้องมีการผลิตในปริมาณมาก สองคือต้องมีราคา อย่างชมพู่เป็นผลไม้ที่เราไม่ได้มีการปลูกกันเยอะเพื่อเป็นผลไม้ส่งออกเหมือนอย่างทุเรียน เพราะฉะนั้นเมื่อผลไม้มีจำนวนน้อยเวลาส่งมาขายต่างประเทศมันก็จะต้องแพงเป็นธรรมดา ดังนั้นนอกจากการประชาสัมพันธ์ผลไม้ประเภทใหม่ๆให้คนจีนรู้จักอย่างต่อเนื่องแล้ว ปริมาณผลผลิตของผลไม้ก็ต้องมากพอกับความต้องการของตลาดที่มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้วย
เชื่อไหมคะตอนนี้ผลไม้ไทยได้รับความนิยมมากถึงขั้นนำคอนเทนเนอร์ไปวางไว้หน้าสวนเก็บเสร็จขึ้นคอนเทนเนอร์เลย การไปรับหน้าสวนอย่างนี้ก็เหมือนเราโดนกดราคาไปด้วย เกษตรกรผู้ปลูกเองก็หมดโอกาสที่จะไปเทียบราคาไปเรียกราคาเพิ่ม ปีนี้สังเกตได้ว่าราคาทุเรียนที่เมืองจีนกับที่เมืองไทยไม่ต่างกันเท่าไหร่ อย่างที่เรียนไปว่ารัฐบาลควรให้ความรู้กับเกษตรกรให้มากขึ้น ทั้งในด้านช่องทาง กลไกตลาด ให้รัฐช่วยเข้าไปดูและส่งเสริมให้มากขึ้น
โดยภาพรวมแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นจากการส่งออกผักผลไม้ไทยมายังจีนมันเกิดชขึ้นเนื่องจากนโยบายหรือกระบวนการ
ปัญหาจากฝั่งจีนเป็นเรื่องนโยบายเรื่องการเก็บภาษี ถึงแม้ไม่มีการตั้งกำแพงทางด้านภาษีแต่ก็ยังมีการตั้งกำแพงอย่างอื่นขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานสินค้า มาตรฐานความปลอดภัยอันนี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง อุปสรรคทางฝั่งไทยเองก็มีเยอะเหมือนกันอย่างข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณผลผลิตที่ได้อย่างตอนนี้เราก็ทราบว่าอากาศเมืองไทย น้ำฝนฟ้าไม่แน่นอนก็ส่งผลต่อผลผลิตในแต่ละปี ความรู้ที่เรายังให้เกษตรกรไม่เพียงพอ เรามักได้ยินว่าปีนี้ลำใยราคาดีเกษตรกรก็แห่กันไปปลูกลำใย เราสามารถส่งออกสินค้าผลไม้ไทยไปจีนได้ถึง 23 ประเภทซึ่งสูงสุด ทำอย่างไรสินค้าทั้ง 23 ประเภทจึงเป็นที่รู้จักในหมู่คนจีน ประเภทผลไม้ที่ปลูกก็จะขยายให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ปัญหาสินค้ามีเยอะแต่ความต้องการมีน้อยก็จะได้รับการแก้ไข ยิ่งในเรื่องการปลอมปนสินค้าของคู่แข่งเพราะเวียดนามก็ปลูก พม่าก็ปลูก ลาว กัมพูชาก็ปลูกที่สำคัญทางใต้ของจีนก็เริ่มปลูกแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องดึงจุดเด่นของสินค้าของเราออกมาให้ได้ ในเชิงของคุณภาพในตลาดจีนมองว่าสินค้าไทยเรามีคุณภาพมาก มีคุณภาพสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้านหรือแม้แต่ประเทศจีนเอง แต่เราอย่าลืมว่าสินค้าเหล่านี้พัฒนากันได้ อย่างทางจีนเองตอนนี้ก็เริ่มปลูกผักก็เริ่มปลูกผลไม้ถึงแม้ว่ารสชาติยังไม่ใกล้เคียงแต่ในอนาคตถ้าเขามีการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ดังนั้นนอกเหนือจากการปลูกในพื้นที่ที่สภาพของดินน้ำอากาศเอื้อแล้วต้องทั้งอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไปในตัวด้วยเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของสินค้าไทย เราต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย อย่าไปคิดว่าของเราดีแล้ว เราไม่ต้องพัฒนาแล้ว เพราะคู่แข่งของเราเขาพัฒนาตลอดและต้องการจะเข้ามาครองตลาดจีนด้วย แฟชั่นในการบริโภคสินค้าผักผลไม้ที่นำเข้าก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเศรษฐกิจจีนดีขึ้น ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทางเลือกในการบริโภคก็เพิ่มมากจขึ้น อย่างเพื่อนคนจีนบางคนจะสั่งกีวี เชอรี่จากต่างประเทศเขาบอกว่าเนื่องจากคุณภาพและรสชาติดีกว่าเพราะฉะนั้นก็จะสั่งโดยตรงจากต่างประเทศ จำได้ว่าเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วเชอรี่จีนค่อนข้างเปรี้ยว ผลไม่โตนัก เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาพันธุ์มาจนผลโดน รสหวานขึ้นมาก แต่แน่นอนเมื่อเทียบกับต่างประเทศยังห่างกันอยู่บ้าง แต่การพัฒนาพันธุ์ของเขาทำอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ชัด นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้วการให้ทุนช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะบอกว่าเรามีสหกรณ์เพื่อการเกษตรจังหวัดนี้ ตำบลนี้หรือมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่ถ้าเราไปดูลึก ๆ จริง ๆ แล้วเกษตรกรเหล่านี้ก็ยังเป็นหนี้นอกระบบกันอยู่สูงมากเนื่องจากปัญหาการกู้ยืมก็ดี ปัญหาในการชำระคืนก็ดี คิดว่าตรงนี้รัฐบาลควรจะต้องมาให้ความสนใจอย่างจริงจังจริงๆ เพราะว่าที่จีนเขาก็เน้นเรื่องนี้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของเขามีคุณภาพดีขึ้นๆ มีปริมาณมากขึ้นและเกษตรกรเองก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้น.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------