ภายหลังจีนร่วมลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว รัฐบาลมีการวางแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างจริงจัง โดยในปี 2007 ที่ประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ชุดที่ 17 ได้ชูประเด็นที่ว่าต้องยึดหลักประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายขั้นพื้นฐานของประเทศ โดยคำนึงถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญด้วย ซึ่งมณฑลหูหนานได้เสนอแนวทางการจัดตั้งเขตทดลองปฏิรูปสังคมประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเมืองฉางซา จูโจว และเซียงถัน จนได้รับการอนุมัติดำเนินการในเดือนธันวาคม
การพัฒนาภายใต้กรอบ "สองทิศทาง" @ "ฉาง-จู-ถัน"
พื้นที่สาธิตการพัฒนาของมณฑลหูหนานใน 3 เมือง ได้แก่ ฉางซา(长沙) จูโจว(株洲) เซียงถัน(湘潭) ภายหลังดำเนินการมาร่วม 7 ปีภายใต้ทิศทางสู่สังคมประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาครวมของทั้งมณฑล คือ นับตั้งแต่ปี 2008 เศรษฐกิจโดยรวมของทั้งมณฑลมีการพัฒนาเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด ค่าจีดีพีการใช้พลังงานของทั้งมณฑลก็ลดลงแสดงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และคุณภาพอากาศของทุกเมืองในมณฑลก็ได้ตามเกณฑ์ระดับ 2 เรียกว่า เอาทั้งภูเขาเงินภูเขาทองและก็ไม่ยอมทิ้งเขาเขียวน้ำใสด้วย นอกจากนี้อุดมการณ์ที่จะ "ยึดมั่นสองทิศทาง หลีกห่างสามสูง" คือ สิ้นเปลืองพลังงานสูง มลภาวะสูง และการปล่อยของเสียสูง ก็กลายเป็นการรับรู้โดยทั่วกัน
ถึงปัจจุบัน ในเขตตัวเมืองของกลุ่มเมืองสาธิต "ฉาง-จู-ถัน" 70%ของรถประจำทาง และ 85% ของรถแท๊กซี่เป็นรถพลังงานใหม่และรถพลังงานสะอาด รวมถึงผลักดันให้ประชาชนใช้รถยนต์พลังงานใหม่ได้ร่วม 6,100 คัน นอกจากนี้ระบบการยืมรถจักรยานสาธารณะก็ได้ครอบคลุมทั้ง 14 เมืองทั่วมณฑล โดยประชาชนในเขตตัวเมืองจูโจว มีการขึ้นทะเบียนทำบัตรใช้งานแล้วกว่า 170,000 ใบ การใช้งานรถจักรยานสาธารณะกว่าร้อยล้านครั้ง ซึ่งสถิติการใช้งานต่อวันที่สูงสุดทะลุเกิน 200,000 ครั้ง เฉลี่ยแล้วมีการใช้งาน 150,000 ครั้งต่อวัน
ปัจจุบัน แม้ว่าในด้านโครงการพัฒนาทางนิเวศวิทยานั้นจะมีความคืบหน้า ทั้งมณฑลมีอัตราพื้นที่ป่าไม้ปกคลุมเพิ่มเป็น 59.57% และอัตราการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่มเป็น 69.3% แต่ถึงอย่างไรถ้าเทียบกับอดีตแล้วขนาดของทะเลสาบต้งถิงหูถือว่าหดเล็กลงไปมาก จากเดิมมีผืนน้ำกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร ลดลงเรื่อยจนมาอยู่ที่ประมาณ 2,647 ตารางกิโลเมตร โดยปัจจัยสำคัญเนื่องจากแม่น้ำแยงซีเกียงได้พัดพาทรายมาทับถม ซึ่งทะเลสาบต้งถิงหูถูกเรียกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้งถิงหูตะวันตก ต้งถิงหูใต้ และต้งถิงหูตะวันออกตามตำแหน่งที่ตั้ง
โดยภายหลังแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจเชิงนิเวศทะเลสาบต้งถิงหู ได้ถูกยกเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติแล้วในปีที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนามณฑลหูหนาน ได้เร่งวางแนวทางที่จะแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมบริเวณน่านน้ำรอบทะเลสาบต้งถิงหู โดยดำเนินการยกเลิกอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากอย่างสิ้นเปลือง และก่อให้เกิดมลภาวะทั้งหลาย เชิญชวนนักลงทุนมาพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต มีตลาดค่อนข้างกว้าง สามารถตอบสนองความต้องการทั้งในและนอกมณฑล รวมถึงส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศได้มาแทนที่
การพัฒนาเมืองไปพร้อมกับยกระดับชีวิตประชาชน @ เมืองแห่งหยวนเจียง
เจดีย์โบราณ"หลิงอวิ๋นถ่า" สมัยราชวงศ์ชิง
ท่ามกลางดงไผ่หลูเหว่ยที่ทะเลสาบต้งถิงหูใต้
"เมืองแห่งแม่น้ำหยวนเจียง(沅江市)" ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลหูหนาน ในเขตเมืองอี้หยาง(益阳市) ซึ่งผืนน้ำทะเลสาบต้งถิงหูใต้ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นี้ ดังนั้น แม่น้ำหยวนเจียง ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 4 สายสำคัญของมณฑลหูหนาน จึงไหลมาลงทะเลสาบต้งถิงหู ณ ที่แห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า "เมืองแห่งหยวนเจียง" ซึ่งชาวบ้านที่นี่ในอดีตกว่า 3,000 คนทำประมงจับปลาในทะเลสาบและอาศัยอยู่บนเรือเป็นหลัก จึงมีคุณภาพชีวิตต่ำและยังสร้างมลภาวะให้กับน้ำด้วย หน่วยงานท้องถิ่นจึงเล็งเห็นที่จะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวทางของรัฐ ด้วยการให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ชาวบ้านย้ายขึ้นมาอยู่บนฝั่งแทน สนับสนุนเรื่องอาชีพที่นอกเหนือจากประมง เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น รวมถึงในด้านให้การศึกษากับเด็กๆ ทำให้ชาวบ้านท้องถิ่นมีชีวิตที่สุขสบายขึ้นอย่างมาก
"ชีวิตวันนี้มีความสุขบนดินที่มั่นคงดีกว่าลอยคว้างอยู่กลางน้ำ"
ลุงเจิง ชาวบ้านกลุ่มแรกบอกเล่าความรู้สึกของตน
หลังตัดสินใจย้ายขึ้นมาอยู่บนฝั่งตามนโยบายรัฐ
และเนื่องจากเขตอนุรักษ์ธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลสาบต้งถิงหูใต้นี้ มีไผ่หลูเหว่ยที่ใช้ทำกระดาษขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่มากมายเป็นที่สุดของเอเชียเลยทีเดียว บริเวณรอบทะเลสาบจึงมีการตั้งโรงงานกระดาษใหญ่น้อยขึ้นและปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลสาบ ดังนั้น หน่วยงานท้องถิ่นจึงสนับสนุนให้โรงงานเล็กหันไปประกอบธุรกิจอื่นแทน เช่น ภาคบริการหรือการท่องเที่ยว และพยายามหาลู่ทางเพิ่มมูลค่าให้กับต้นไผ่หลูเหว่ย ด้วยการขายต้นอ่อนที่สามารถนำไปทำอาหาร และทำยาสมุนไพรได้ ซึ่งมีราคาสูงกว่าต้นแก่ทำกระดาษถึงสิบเท่าตัว คือจากต้นละห้าสิบสตางค์กลายเป็นห้าบาท เป็นต้น
หูหนานกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย วังฟ้า 羅勇府