สภาพแวดล้อมริมฝั่งทะเลสาบต้งถิงหู
การพัฒนาเมืองไปพร้อมกับปกป้องระบบนิเวศทะเลสาบต้งถิงหูตะวันออก
อย่างที่เคยเอ่ยถึงว่า ทะเลสาบต้งถิงหูเป็นทะเลสาบน้ำจืดแหล่งสำคัญใหญ่อันดับ 2 ของจีน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมณฑลหูหนาน โดยเรียกแบ่งย่อยตามทิศที่ตั้งออกเป็น ต้งถิงหูตะวันตก(เมืองฉางเต๋อ) ต้งถิงหูใต้(เมืองอี้หยาง) และต้งถิงหูตะวันออก(เมืองเย่ว์หยาง)
ทะเลสาบต้งถิงหู(洞庭湖)ยังมีความสมบูรณ์หลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ ทุกปีช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคมปีถัดไป จะมีนกที่อยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองกว่า 200 ชนิดบินหนีหนาวมาที่นี่นับ 10 ล้านตัว จนได้รับฉายาว่าเป็น "แดนสวรรค์ของนก" ซึ่งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติทะเลสาบต้งถิงหูตะวันออกตั้งขึ้นในปี 1982 ต่อมาได้ยกระดับเป็นเขตอนุรักษ์ระดับชาติในปี 1994 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 190,000 เฮกตาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 8 ของเมืองเย่ว์หยาง
พื้นที่จัดแสดงสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ในศูนย์ให้ความรู้และคำแนะนำ
เขตอนุรักษ์ธรรมชาติทะเลสาบต้งถิงหูตะวันออก
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและพบว่าในเขตอนุรักษ์มีนก 338 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 อย่างนกกระเรียนขาว อยู่ 7 ชนิด ที่ได้รับการคุ้มครองประเภทที่ 2 อย่างเป็ดแมนดาริน 45 ชนิด ส่วนปลาน้ำจืดมี 117 ชนิด พืชป่าและพืชที่เพาะปลูกมี 1,186 ชนิด ซึ่งเขตอนุรักษ์นี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของกวางเดวิด (Elaphurus davidianus) สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ของจีน รวมถึงโลมาหัวบาตรหลังเรียบ(Neophocaena)
โดยนับตั้งแต่ปี 2002 เขตอนุรักษ์ระดับชาติแห่งนี้ได้จัดงาน "เทศกาลชมนกทะเลสาบต้งถิงหู" ในช่วงระหว่างกุมภาพันธ์-มีนาคม ดึงดูดนักปักษาศาสตร์ และนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ทั่วโลกนับพันนับหมื่นคนเดินทางมาเที่ยวชมเป็นประจำทุกปี ทำให้เมืองเย่ว์หยางได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองแห่งการชมนกของจีน"
แต่เนื่องจากในช่วงหลังนี้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทำให้ปัญหาทางนิเวศวิทยาของทะเลสาบต้งถิงหูมีความรุนแรงชัดเจนขึ้น คุณภาพน้ำย่ำแย่ลง นับจากปี 2000 เป็นต้นมา มีปริมาณฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งให้เกิดผลดังกล่าว ส่วนหนึ่งเนื่องจากปากแม่น้ำแยงซีสามแห่งมีน้ำไหลเวียนลดน้อยลง และทะเลสาบต้งถิงหูเองก็มีขนาดและปริมาณน้ำที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย ทำให้ความสามารถในการฟอกตัวเองของน้ำลดระดับลง ปริมาณความเข้มข้นของสารละลายจึงเพิ่มสูงขึ้น อีกส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาพื้นที่ทำการเกษตรที่เป็นมลภาวะ ทำให้ปริมาณฟอสฟอรัสและไนโตรเจนมีอัตราสูงเกินกว่า 70 %
ปัญหามลภาวะทางน้ำในเขตทะเลสาบต้งถิงหูดังกล่าว ได้รับความสนใจจากทางการจีนอย่างสูง ได้มีการส่งคณะวิจัยมาทำการศึกษาและตรวจสอบอย่างจริงจัง พร้อมออกมาตรการบำบัดเพื่อฟื้นฟูแล้ว โดยมีการก่อสร้างด้านชลประทานทำการชักน้ำผันน้ำ ใช้เรือขุดลอกแม่น้ำและทำให้แหล่งน้ำต่างๆ มีการเชื่อมถึง และที่สำคัญคือ ป้องกันแก้ไขปัญหามลภาวะจากพื้นที่ภาคเกษตรกรรม
หูหนานกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย วังฟ้า 羅勇府