อาจารย์กวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันความมั่นคงนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติภาคภาษาไทย สถานีวิทยุซีอาร์ไอสัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์ โดยอาจารย์ได้รับเชิญจากสถาบันศึกษานานาชาติ กระทรวงการต่างประเทศจีนเดินทางมาทำความรู้จักกับเหล่านักวิชาการจีนที่กำลังศึกษาเรื่องของอาเซียน รวมไปถึงศึกษาเอกสารของจีนเกี่ยวกับอาเซียนเป็นเวลา 3 เดือน
มาจีนครั้งนี้ใกล้จะครบ 3 เดือนแล้ว มีความรู้สึกเหมือนหรือแตกต่างจากเดิมอย่างไร
ผมศึกษาจีนมาเป็นเวลานาน ได้ติดตามความเป็นมาของจีนหลายสิบปีแล้ว ฉะนั้นเข้าใจ และรู้ถึงแนวทางว่าจีนกำลังไปอย่างไร ความจริงสองปีที่แล้วเคยมาอยู่จีน 2 เดือน มาร่วมทำงานกับกองบรรณาธิการไชน่าเดลี่ จะเห็นว่าจีนตอนนี้มีพลวัตสูงมากและมีการกล่าวขวัญถึงจีน การพัฒนาทั้งการเมืองเศรษฐกิจของจีนว่าแนวโน้มจะไปอย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก และจีนเองภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็มีมาตรการ แนวนโยบายทั้งเศรษฐกิจ การทูต การเมืองที่ต่างจากผู้นำจีนรุ่นก่อน ๆ จึงทำให้มีการพูดถึงประเทศจีนไปต่าง ๆ นานา
ความต่างที่อาจารย์สัมผัสได้อย่างชัดเจนระหว่างปธน.สี จิ้นผิงกับ ผู้นำจีนท่านอื่น
สี จิิ้นผิง มีความคิดที่อยากเห็นจีนเป็นประเทศที่ทั่วโลกยอมรับความเจริญ สภาพความเป็นจริงของประเทศในฐานะที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และต้องการให้โลกเข้าใจบทบาทจีนในเวทีการเมืองโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน จึงต่างจากผู้นำอื่นตรงที่มีความมุ่งมั่นมาก ๆ ไม่แปลกใจเลยว่าช่วงที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาพยายามสร้างฐานะตัวเองในกรอบการเมืองของจีน เพื่อที่จะได้ให้มีที่มั่นทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการปราบปราบคอรัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางพรรคถือว่าเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีการปราบปรามอย่างหนัก ขนาดผู้นำพรรคระดับสูงยังถูกจับติดตารางหลายคน นี่คือที่เขาพยายามทำออกไป และตอนนี้ก็เดินทางไปต่างประเทศ พยายามแสดงให้คนเห็นถึงความมั่นใจ และรอบรู้ ยกตัวอย่างสุนทรพจน์ครั้งแรกที่พูดว่าเขาสนใจอเมริกา มีความรอบรู้อย่างไร เขาจึงเป็นคนที่ไม่ใช่ผิวเผิน เขาอยากให้โลกมองว่าเขาเป็นผู้นำจีนที่เอาจริงเอาจัง ประเทศอื่น ๆ จะต้องวิเคราะห์และเข้าใจจีนในสภาพความเป็นจีน นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ
จากคำกล่าวที่ว่า "เศรษฐกิจจีน ไม่ได้มุ่งที่ความร้อนแรง แต่มุ่งที่คุณภาพ" อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
เศรษฐกิจจีน ไม่เหมือนกับเศรษฐกิจอื่น ๆ ในโลก คือด้วยขนาดที่ใหญ่มาก ๆ และมีการเติบโตตั้งแต่ปี 1978 เป็นต้นมาหลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ 4 ทันสมัย เป็นการเร่งเครื่องพัฒนาที่ไม่หยุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าช่วงนี้เครื่องมันร้อนจัด เลยจำเป็นที่จะต้องลดความรุนแรงลง เพื่อให้เครื่องมันได้หยุดพัก จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจปกติใหม่ คือสิ่งที่จีนพยายามควบคุมไม่ให้มีการพัฒนาไปเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ราคาฐานต่าง ๆ มันเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเลยพยายามจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับปานกลาง มีการลดค่าเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมา มีหลายคนตระหนกตกใจว่าเศรษฐกิจจีนถอยลง ความจริง รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจน จะเห็นว่าตอนที่จีนประสบปัญหาเรื่องการค้าหุ้นของเซี่ยงไฮ้ ทางรัฐบาลก็มีการทุ่มเงินเข้าไปช่วยเหลือ แสดงถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะเข้าไปรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเศรษฐกิจจีนถือว่าเป็นหัวจักรสำคัญที่จะดึงให้เศรษฐกิจโลกขึ้นหรือลงได้ เรียกว่าขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจีนเลย ซึ่งตรงนี้หลายประเทศ บ้างก็อาจจะปรับตัวได้ดี บ้างตกใจ หรือปรับตัวไม่ทัน แต่ผู้นำจีนก็ให้คำมั่นสัญญาว่าเศรษฐกิจจีนจะไปแบบคงตัว และความเจริญเติบโตจะอยู่ในระดับคงที่ คือจะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน หรือลดผลผลิตลงไป
นายกฯหลี่ เค่อเฉียง กล่าวไว้ในฟอรัมเศรษฐกิจโลกว่า "เศรษฐกิจจีนไม่ได้ค้ำด้วยหลักเดียว แต่ค้ำด้วยสี่หลักแปดเสา" อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
หลี เค่อเฉียงเป็นคนที่เข้าใจเศรษฐกิจโลกดีกว่าผู้นำคนอื่น ๆ เพราะแกศึกษาผลงาน นโยบายต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก และเศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจที่ต้องมีความสมดุลในทุก ๆ ด้าน เพราะว่าในบางเรื่องจะเห็นว่า ทางจีน มาตรการการควบคุมอาจจะไม่ดีพอ เขาเห็นว่าจะต้องปรับนโยบายให้ทันสมัยและให้มีความเท่าเทียมกัน
ในส่วนที่เป็นความพร้อมของจีน เช่น สภาพการออม หรือเงินตราสำรองระหว่างประเทศ การกำกับนโยบายของรัฐบาลโดยตรงเกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจจีน อาจารย์มองปัจจัยเหล่านี้อย่างไร
เศรษฐกิจจีนเป็นเศรฐกิจที่รัฐเข้ามามีบทบาทนำมานานแล้ว และทางรัฐก็มีนโยบายชัดเจนที่ว่าจำเป็นที่จะต้องค่อย ๆ ปล่อยเพื่อให้ภาคเอกชน หรือภาครัฐวิสาหกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าทางรัฐบาล ขีดความสามารถมีจำกัด เศรษฐกิจจีนเติบโตใหญ่มาก และมีสัมพันธ์ติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น จึงไม่น่านแปลกใจว่าการเดินทางไปสหรัฐฯครั้งนี้ จีนจะนำผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจีนใหญ่ ๆ ทั้งด้านคมนาคม พลังงาน อาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ไปพบกับทางสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มการติดต่อทางด้านภาคเอกชนมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าอนาคต เศรษฐกิจของจีนจะมีภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น รัฐเองก็จำเป็นจะต้องลดบทบาทลงทางด้านนโยบาย เพื่อเพิ่มพลวัตของการค้าระหว่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจจีนตอนนี้ต้องอาศัยทั้งความต้องการทั้งตลาดภายในและตลาดภายนอก
การที่จีนเปิดยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล กองทุนเส้นทางสายไหม การเชื่อมต่อกันของธนาคาร AIIB เรื่องราวเหล่านี้ เมื่อปะติดปะต่อกันแล้ว จะเป็นผลดีต่อจีนและทั่วโลกอย่างไรบ้าง
เรื่องนี้ทางจีนคิดมานานแล้ว และก็เป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนเห็นพ้องว่าจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายใหญ่ ๆ ใช้เวลานาน คือเป็นนโยบายที่หวังผลในระยะยาว ฉะนั้น นโยบายเหล่านี้เริ่มจากที่จีนมีความต้องการขยายตลาด โดยเฉพาะทางด้านโครงสร้าง ทางด้านการสร้างเส้นทางรถไฟ เส้นทางคมนาคม ถนนหนทาง สะพานข้าม รวมทั้งตึกรามบ้านช่องตามพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศจีนผ่านไปทางเอเชียกลางแล้วก็ไปยุโรป หรือผ่านทางทะเลก็ตาม ล้วนแล้วเพื่อตอบสนองการเติบโตรวดเร็วมากของจีนและของอุตสาหกรรมจีนเองที่ต้องการหาตลาดเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าประเทศที่อยู่ใกล้จีน ประเทศที่อยู่ในพื้นที่เอเชียอาคเนย์ อย่างไทย ซึ่งสำคัญมากต่อนโยบายทั้งหลายทั้งปวงนี้ รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนซึ่งจีนให้ความสนใจมาก จะเห็นว่านโยบายเหล่านี้มุ่งหวัง 2 ประเด็นคือ ตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจที่ใหญ่โตมโหฬารของจีนในการขยายเส้นทางตลาดในต่างประเทศ และก็เป็นนโยบายในระยะยาวมาก นานเป็น 20-30 ปี แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ใหญ่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบเงินทุนที่จะเข้ามาสนับสนุน เพราะงบประมาณในการสร้างตรงนี้แต่ละปี มันต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียเคยคาดไว้ว่า ในแต่ละปี ภูมิภาคนี้อาจต้องใช้เงินถึง 6 หมื่นล้านเหรีญสหรัฐฯ ต่อปี จีนเข้าใจ จึงมีการจัดตั้งจัดสรรกองทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเสริมกองทุนนานาชาติที่มีในปัจจุบัน เร่งให้มีการนำนโยบายทางด้านการสร้างระบบต่าง ๆ ในอาเซียน หรือในไทย อย่างไทยก็มีโครงการรถไฟ ลาว อินโด ศรีลังกา ปากีสถานก็มี ฉะนั้น ก็เห็นว่าเป็นนโยบายที่ครบวงจร และฝ่ายจีนคิดอย่างรอบคอบ
โปรดติดตามตอนต่อไป