กาสะลองส่องจีน ตอน 35 : บทสัมภาษณ์ อาจารย์กวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงนานาชาติ จุฬาฯ (ตอนที่ 2)
  2015-10-09 16:28:04  cri

ไทยเราจะได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้อย่างไร

ไทยโชคที่ดีมีที่ตั้งใจกลางผืนแผ่นดินอุษาคเนย์ ฉะนั้นไม่ว่าจะมีเครือข่ายของเส้นทาง ต้องผ่านประเทศไทย ฉะนั้นประเทศไทยอยู่ใจกลางเครือข่ายอาเซียนและของจีนด้วย ไทยจึงต้องพยายามที่จะจัดสรรและมีนโยบายชัดเจนที่ว่าเราอยากเห็นประเทศไทยมีอะไรบ้าง เช่น เส้นทางติดต่อชายแดนลาวไปกรุงเทพฯ ลงไปใต้ กรุงเทพฯต่อไปพม่า ต่อไปอินเดีย หรือกรุงเทพฯไปตะวันออกสู่เวียดนาม สิ่งเหล่านี้ไทยต้องวางโยบายชัดเจน เพื่อที่ว่านโยบายของจีนหรืออาเซียนก็ดีจะได้เข้ามาสมทบให้มีความเป็นบูรณาการมากยิ่งขึ้น ความจริงแล้วรัฐบาลไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงเครือข่ายต่าง ๆ ของอาเซียน รวมทั้งที่เรียกว่า ASEAN + 3 จะเห็นว่าประเทศไทยคิด แต่ผมยังไม่เห็นนโยบายชัดเจนออกมา ฉะนั้น รัฐบาลไทยมีความจำเป็นจะต้องใช้โอกาสในช่วงนี้วางแผนที่ชัดเจนและนำมาปฏิบัติเพราะเป็นโอกาสดีมากที่จะดึงจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมในโครงการเครือข่ายทั้งหลาย ทั้งของจีนและอาเซียน

การที่จะทำให้จีนกับอาเซียนสนิทแน่นแฟ้นกัน นอกจากการเชื่อมต่อทางคมนาคมแล้ว การเชื่อมต่ออีกด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือด้านสารสนเทศ อาจารย์มองเรื่อง "Information Barbour" อย่างไร

จีนโชคดีอย่างหนึ่งคือ เรื่องสารสนเทศ ทางรัฐบาลให้ความสนใจและให้เงินทุนเป็นจำนวนมากในการผลิตข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นข่าวสารทางด้านโทรทัศน์ เช่น CCTV ก็มีการเปิดสำนักงานหลายแห่งทั่วโลก ทั้งที่อยู่ใจกลางนิวยอร์กซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล มีสถานีถ่ายทอดในอัฟริกาในที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะตอบสนองคนดูผู้ชมทั่วโลกที่อยากจะทราบข่าวสารโดยตรงจากจีน ซึ่งก็ดีเพราะว่าจะเห็นว่าจีนให้ความสำคัญนี้มาก และข่าวสารเหล่านี้จีนเข้าใจดีมากว่า ถ้าไม่ผลิตมาเอง มัวแต่พึ่งข่าวสารหรือสารสนเทศจากประเทศอื่นโดยเฉพาะจากโลกตะวันตกก็จะมีการมองที่ผิดเพี้ยนจากสภาพความจริง ฉะนั้นการมีสำนักข่าว การมีข่าวคราวออกมาเองจากแหล่งข่าวที่เป็นประเทศจีนทำให้ข่าวเกี่ยวกับประเทศจีนไม่คลาดเคลื่อนเหมือนกับที่ฟังรายงานจากต่างประเทศ จะเห็นว่าการเดินทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไปสหรัฐฯครั้งนี้ ถ้าอ่านสื่อมวลชนของจีนแล้วจะเห็นว่ามีการเน้นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างมิตรภาพและผลประโยชน์ความร่วมมึอ ในขณะที่สื่ออีกฝั่งจะเน้นไปที่ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่จะต้องแก้ไข ฉะนั้นจะเห็นว่าถ้าไม่มีข่าวจากฝ่ายจีนแล้ว จะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯไม่ได้แนบแน่นอย่างที่เห็นกัน ตามจริงแล้วความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ นั้นสนิทสนมกันมากแม้จะมีความเห็นประตรงกัน

อาจารย์มีมุมมองต่อ "ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่" ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเน้นในช่วงระหว่างการเยือนสหรัฐฯอย่างไร

ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงพูดถึงคือความสัมพันธ์ที่สองมหาอำนาจต้องยอมรับถึงผลประโยชน์ที่มีต่อกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ลำบากมาก เพราะสหรัฐฯเป็นมหาอำนาจอยู่ประเทศเดียวมาก่อน ฉะนั้นการที่มีจีนเข้ามาขอแบ่งพื้นที่นั้นยังต้องใช้เวลา และจะเห็นว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเองก็มีความทะเยอทะยานที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทตัวเองในการดึงจีนเข้ามาในฐานะมหาอำนาจอันดับที่ 2 ฉะนั้นการเดินทางครั้งนี้จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่น ความไว้ใจในระดับสูงให้มั่นคง เพราะหากความเชื่อมัน ความไว้วางใจไม่ดี ก็จะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพระหว่างสองประเทศ ซึ่งก็จะมีผลต่อการเมืองของทั้งสองประเทศ

จีนเองก็ต้องพิสูจน์ว่าการขยายบทบาท ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองจะมีผลทำให้ระบบการเมืองระหว่างประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผู้นำจีนแสดงความปราถนาอย่างแรงกล้า แต่ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ ในช่วงหลังนี้จะเห็นว่าจีนให้ความสนใจในการร่วมมือเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเกี่ยวกับกองกำลังรักษาสันติภาพ ซึ่งได้ส่งออกไปจำนวนหลายพันคน ประเด็นนี้หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักเท่าที่ควรถึงบทบาทนี้ จีนเองสนับสนุนบทบาทขององค์การสหประชาชาติมากที่สุดเสียด้วยซ้ำ หลายคนก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ฉะนั้นประเทศจีนยังเป็นน้องใหม่ในลักษณะที่ว่ายังจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเองมีอำนาจ มีพลังทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถมีบารมีที่แสดงออกมาให้เห็นในเรื่องเกี่ยวกับธรรมาภิบาล นิติรัฐ ซึ่งทางโลกตะวันตกถามหาอยู่เสมอ ซึ่งทางจีนก็เข้าใจดีและพร้อมจะเข้าร่วมในกิจกรรมทุกอย่างที่แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติเหล่านี้

จีนย้ำเสมอว่าระหว่างจีนกับสหรัฐฯมีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าความขัดแย้ง อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นความขัดแย้งที่สามารถแก้ไขได้ และความขัดแย้งโดยตรงระหว่างสหรัฐฯกับจีนโดยตรงมีเป็นบางเรื่อง เช่นเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์และเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกล่าวหาว่าสหรัฐฯเข้ามาวุ่นวายในเรื่องนี้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นคู่กรณี จะเห็นว่าปัญหาระหว่างสองประเทศที่มีสามารถแก้ไขได้ และความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับจีนตามจริงมีมากพอสมควรยกตัวอย่างในกรณีช่วยกันในเรื่องผลักดันนโยบายต้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ความร่วมมือในเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์หรือแก๊สพิษ เรื่องภาวะโรคร้อน เรื่องขจัดโรคติดต่ออีโบลา แต่แน่นอนสื่อมวลชนเน้นเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างอาเซียน 4 ประเทศกับจีน ตรงนี้ทางผู้นำสหรัฐฯก็อาศัยข้อพิพาทตรงนี้แสดงบทบาทสนับสนุนฟิลิปปินส์ในฐานะที่ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรสหรัฐฯ จะเห็นว่าสหรัฐฯไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงและพยายามแสดงบทบาท แต่ลึก ๆ จะเห็นว่าสหรัฐฯกับจีนมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับที่ดีมาก ๆ เรียกว่าดีกว่าระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย หรือว่าจีนกับรัสเซียด้วยซ่้ำไป

สำหรับความสัมพันธ์จีนไทย ในมุมมองของอาจารย์ ไทยจะต้องปรับองคาพยพอย่างไรให้เอื้อและได้ประโยชน์ร่วมกันกับจีนมากขึ้น

ความสัมพันธ์ไทยจีนเป็นความสัมพันธ์ที่มีความพิเศษและแปลกมาก เพราะไทยจีนมีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมเก่าแก่นานถึง 2,000 ปี และความรู้สึกที่ไทยจีนมีคือเราเป็นพี่น้องอยู่บ้านเดียวกัน แต่สายสัมพันธ์ไทยจีนยังไม่บูรณาการเท่าที่ควร จากที่ติดตามจะเห็นว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เน้นหนักไปทางการค้า ทางท่องเที่ยว การส่งเสริมวัฒนธรรม ภาษา แต่ผมคิดว่าควรจะมีมากกว่านี้เพื่อให้เท่าเทียมกับความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ยกตัวอย่างปีนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวมีการคาดคะเนว่า นักท่องเที่ยวจีนจะมาเที่ยวไทยเกือบ 6 ล้านคนต่อปี อาจจะลดน้อยไปนิดนึง ถ้าบวกลบคูณหารกัน ตกแล้ววันหนึ่งจะมีชาวจีนมาเที่ยวอย่างน้อย ๆ เกือบหมื่นเจ็ดพันคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนการแลกเปลี่ยนประชาชนที่มากที่สุดในโลก ฉะนั้น ไทยจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการหลั่งไหล่ของคนจีนเข้ามา มิฉะนั้นแล้วจะมีผลเสีย เพราะคนจีนมีวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น เป็นวัฒนธรรมตั้ง 5 พันปี มีนิสัยบางอย่างที่คนไทยเห็นแล้วอาจมองว่าแปลก เช่นการพูดจาเสียงดัง การเดินทาง การรับประทานอาหาร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งคนจีนมีมาเป็นอุปนิสัย ฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจและตอบรับอย่างเช่นความรู้ภาษาจีน การมีป้ายเป็นภาษาจีน ซึ่งมีอยู่ เช่นศูนย์การค้า ตามฟู้ดคอร์ทต่าง ๆ ก็จะเห็นมีภาษาจีน แต่ไม่เพียงพอ ล่าม นักท่องเที่ยวภาษาจีนไม่พอ ตอนนี้มีล่ามจากประเทศเพื่อนบ้านรัสเซีย เวียดนาม ซึ่งพูดจีนได้มาแย่งงานที่เมืองไทย คนไทยก็ไม่พอใจแต่เราก็มีขีดความสามารถในการพูดจีนน้อยมาก จะเห็นว่ามีคนไทยเรียนภาษาจีนประมาณ 8 แสน 5 หมื่นกว่าคน ผ่านสถาบันการสอน 3 พันกว่าแห่ง แต่ก็ยังไม่พอ เพราะการศึกษาภาษาจีนในไทยคุณภาพยังไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาหลักสูตรให้ดี เหมือนกับที่คนไทยให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ซึ่งให้ความสนใจมากแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ฉะนั้นภาษาจีนเป็นภาษาที่เราต้องยอมรับว่าในอนาคต เนื่องจากเราอยู่ในเอเชียด้วยกัน การติดต่อระหว่างจีนกับอาเซียน จีนกับไทย จะมีมากขึ้นเรื่อง เราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ใช่อยากจะเห็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะ ๆ แล้วก็ดี ไม่ใช่อย่างนั้น ผมคิดว่าไทยยังไม่มีการวางแผนที่ดี ที่จะปรับรับมือประเทศจีน การเพิ่มความสัมพันธ์ในทุกมิติกับจีน ยกตัวอย่างตอนนี้ที่ดีขึ้นมากก็คือ จำนวนนักศึกษาไทยซึ่งมาเรียนในจีน ล่าสุดมีประมาณ 2 หมื่นกว่าคน ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม และมีความหลากหลายมากขึ้น ในสมัยก่อน เวลาคนไทยมาจีน มาเรียนภาษากับเรียนฝังเขียนเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร เรามีความจำเป็นที่จะต้องเรียนวิชาสาขาต่าง ๆ เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ภาษาจีนโบราณ ซึ่งจำเป็นมาก ๆ เพราะจำทำให้เราเข้าใจ ดูสิครับ ตอนนี้นักวิชาการไทยที่ศึกษาภาษาจีน เข้าใจจีนได้อย่างดี เขียนตำราจากแหล่งอ้างอิงเป็นภาษาจีนแทบไม่มีเลย พูดไปไม่มีใครเชื่อ เพราะจีนกับไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เป็นเสาหลักของอาเซียนก็ว่าได้ แต่ความเข้าใจของคนไทยต่อประเทศจีนยังน้อยมาก ๆ ยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นที่จะต้องแก้ไขครับ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040