การทูตปิงปองระหว่างจีน-ไทย (2)
  2015-10-15 11:10:34  cri

ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยมีประวัติมาช้านาน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่ยืนยันได้ว่า นับแต่อดีต ชาวไทยและชาวจีนมีความสัมพันธ์ระหว่างกันมาโดยตลอด ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า ชาวจีนและชาวไทยมีการทำการค้าขายกันตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการต่างๆ ระหว่างกันด้วย มีวัตถุโบราณจากจีนเป็นจำนวนมากบ่งบอกว่า ชาวจีนเดินทางมาแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานับพันปี ดังนั้นความสัมพันธ์ของสองประเทศจึงสนิทแนบแน่นมาโดยตลอด

จนกระทั่งเมื่อราชสำนักชิงแห่งประเทศจีนพ่ายแพ้ให้กับกองกำลังตะวันตกในสงครามฝิ่น ประกอบกับการที่ไทยเริ่มทำการค้ากับทางตะวันตกมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนจึงเริ่มลดลงตามลำดับ แต่ในด้านประชาชนแล้วก็ยังคงมีการเคลื่อนย้ายกันมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นทำสงครามรุกรานจีน ประชาชนจีนได้รับความเดือดร้อนมาก จึงส่งผลให้มีกลุ่มชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาวจีนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เช่น ไห่หนาน ฝูเจี้ยน กว้างตุ้ง เป็นจำนวนมากได้อพยพมาประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ

เมื่อปี 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น ไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาลไทยมีแนวความคิดที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน โดยมีคุณสังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่ม แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกรัฐประหารเสียก่อน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนต้องห่างเหินกันไปอีกหลายปี

ปลายปี 1971 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ไทยเริ่มติดต่อกับจีนอย่างไม่เป็นทางการผ่านหลายช่องทาง รัฐบาลจีนก็พร้อมพัฒนาความสัมพันธ์กับไทย โดยเชิญชวนให้รัฐบาลไทยส่งคณะนักกีฬาปิงปองไปร่วมแข่งขันปิงปองชิงชนะเลิศแห่งเอเชียที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดโดยสหพันธ์ปิงปองแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 2-7 กันยายนปี 1972 นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "การทูตปิงปอง" โดยไทยตัดสินใจส่งคณะนักกีฬาปิงปองจำนวน 20 คนไปร่วมการแข่งขันครั้งนี้

วันที่ 5 กันยายน ปี 1972 นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะนักกีฬาไทยได้มีโอกาสเข้าพบนายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน โดยนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลได้แสดงท่าทีว่า ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับไทย และยินดีทำการค้าขายกับไทยด้วย

จากนั้น กระบวนการที่จะสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้เริ่มต้นขึ้น ในที่สุด เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมปี 1975 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1975

นอกจากการเยือนอย่างเป็นทางการแล้ว ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล และประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งภายหลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เล่าถึงเหตุการณ์การพบกับประธานเหมาในครั้งนั้นอย่างละเอียดว่า ผู้ที่เข้าพบกับประธานเหมามี 4 คน คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายประกายเพชร อินทุโสภณ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนอยู่ในระดับที่ดีมากและดีขึ้นโดยลำดับ การค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีนได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อประเทศจีนเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ก็ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลดีไปด้วย เพราะวัฒนธรรมและทำเลที่ตั้งได้เปรียบกว่าประเทศอื่น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040