ความเป็นมาและประเพณีในวันล่าปา
  2016-01-18 15:14:14  cri

วานนี้ ( 17 ม.ค.ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งชาวจีนเรียกว่า เทศกาล "ล่าปาเจี๋ย"

วันล่าปาเจี๋ยปีนี้ ที่กรุงปักกิ่ง ท้องฟ้าสดใสเป็นสีคราม ไม่มีหมอกควันแม้แต่น้อย จะเห็นได้ว่า ชาวปักกิ่งพากันไปเล่นสกี หรือเดินตามธรรมชาติท่ามกลางลมแรงที่ทำให้อากาศสดใสเหมือนเมื่อวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา เนื่องจากว่า วันล่าปาเป็นเทศกาลที่ไม่มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง แต่จะมีธรรมเนียมนิยมในการรับประทานอาหารประจำเทศกาล

   ชาวจีนมักจะพูดว่า ผ่านวันล่าปาแล้วก็จะถึงเทศกาลตรุษจีน ในวันล่าปา ท้องที่ต่างๆ ของจีนต่างมีธรรมเนียมนิยมในการรับประทานอาหารดังกล่าวนี้ เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่รับประทานโจ๊กที่ทำจากธัญญาหารอย่างน้อย 8 อย่าง ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตชนบทของมณฑลอันฮุย ทุกครอบครัวจะทำเต้าหู้ล่าปาก่อนวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ส่วนภาคเหนือของจีนบางพื้นที่มีความนิยมกินบะหมี่ล่าปาในเช้าวันนั้น โดยทำซอสด้วยผลไม้และผักชนิดต่างๆ แต่เนื่องจากวันล่าปาอยู่ในช่วงที่มีอากาศหนาวจัด การรับประทานอาหารเหล่านี้ทั้งได้ความอบอุ่น และมีโภชนาการด้วย

ในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณกรุงปักกิ่ง นครเทียนสิน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะนิยมทำกระเทียมล่าปาในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 โดยจะนำกระเทียมแช่ลงไปในจิ๊กโฉ่วน้ำส้มสายชูจีน แล้วปิดภาชนะบรรจุให้แน่น วางตัวทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ในที่แห้งและเย็น กระเทียมจะค่อยๆ กลายเป็นสีเขียว ไว้ทานกันในช่วงตรุษจีน กระเทียมล่าปาจะออกรสเปรี้ยวหวาน ไม่เผ็ด จึงได้รับความชื่นชอบจากผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ปกติไมjชอบรสเผ็ดของกระเทียม

กล่าวถึงความเป็นมาของกระเทียมล่าปา เล่ากันว่า พ่อค้าภาคเหนือส่วนใหญ่จะชำระบัญชีก่อนวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 เพื่อไม่ให้หนี้สินค้างไว้ผ่านปีเก่าและเป็นสิริมงคลต่อปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ คำว่า "กระเทียม" นั้นในภาษาจีนออกเสียงว่า "ซ่วน" ออกเสียงเดียวกับอีกคำหนึ่งที่มีความหมายว่า "ชำระหนี้" จึงค่อยๆ เกิดความนิยมที่ใช้กระเทียมล่าปาเปรียบเทียบคำว่า "ชำระหนี้ในวันล่าปา" จนถึงยุคปัจจุบัน แม้ว่ากระเทียมล่าปาทานอร่อยมากก็ตาม แต่ชาวจีนแต่ละครอบครัวต้องทำเองที่บ้าน จะไม่มีการขายกระเทียมล่าปาในร้านหรือตลาด เพราะว่า กระเทียมที่ทำแบบนี้หมายถึงการบังคับให้ชำระหนี้สิน

การรับประทานโจ๊กล่าปาเป็นประเพณีเก่าแก่ที่เริ่มต้นจากสมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่อถึงเช้าตรู่วันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 จะต้องมีการทำข้าวต้ม 5 รสที่นำของมงคล 7 อย่างปรุงรวมกัน ประเพณีนี้เกิดจากสมัยราชวงศ์ซ่งเมื่อ 1,000 ปีก่อน และได้รับความนิยมเพิ่มสูงสุดในราชวงศ์ชิง

วิธีการทำโจ๊กล่าปามีสูตรแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปแล้ว ข้าวเป็นส่วนประกอบหลัก และยังมีการผสมผลไม้แห้ง ธัญพืช และถั่วลงไปด้วยหลายชนิด ในค่ำคืนวันขึ้น 7 ค่ำเดือน 12 แต่ละครอบครัวจะเตรียมล้างข้าวสาร พุทราแห้ง องุ่นแห้ง ธัญพืชต่างๆ รอถึงเที่ยงคืนแล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มรวมกัน แล้วต้มด้วยไฟอ่อนข้ามคืน ถึงเช้าตรู่ของวันใหม่จึงถือว่าทำเสร็จเรียบร้อย

ตามประเพณีเก่าแก่ หลังจากต้มโจ๊กเสร็จแล้วต้องนำมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้าก่อน และแบ่งส่วนหนึ่งมอบแก่เพื่อนบ้าน หลังจากนั้นจึงนำมารับประทานร่วมกันในครอบครัว หากมีโจ๊กเหลืออยู่ก็สามารถเก็บค้างคืนรับประทานต่อได้อีกสองสามวัน หากบ้านใดมีโจ๊กล่าปาเหลือทานจากวันขึ้น 8 ค่ำก็ถือว่าเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น เพราะแทนความหมายว่า ครอบครัวนั้นจะมี 'เหลือกินเหลือใช้' ตลอดทั้งปี

สำหรับความเป็นมาของเทศกาลล่าปานั้น มีเรื่องเล่าและที่มาหลายสาย ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนของจีน เล่ากันว่า นี่เป็นประเพณีมาจากอินเดียโบราณเพื่อรำลึกวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ในช่วงการบำเพ็ญทุกรกิริยา พระองค์เสวยแต่ข้าวต้มหรือโจ๊กธัญพืช ต่อมา ผู้คนจึงถือเอาวันสำคัญทางศาสนานี้เป็นวันรับประทานโจ๊กล่าปาสืบต่อมา

นอกจากการบอกเล่าความเป็นมาสายศาสนาแล้ว ยังมีนิทานพื้นบ้านกล่าวถึงที่มาของการกินโจ๊กล่าปา และเป็นนิทานที่ผู้ใหญ่นิยมบอกเล่าเพื่อสั่งสอนเด็กๆ ให้มีความประพฤติอันดีงาม

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040