จีน-ไทยพี่น้องกัน: เบื้องหลังมิตรภาพและความสัมพันธ์
  2016-01-26 19:33:36  cri

กรุงเทพฯ – กว่า 700 ปีมาแล้วที่ไทยและจีนได้มีการไปมาหาสู่กัน ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าราชทูตของจีนถูกส่งตัวมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างช่วงราชวงศ์ฮั่นและถัง แต่การแลกเปลี่ยนทางการทูตนั้นได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัยของไทยและความสัมพันธ์ทางการค้าโดยเฉพาะการค้าทางทะเลรุ่งเรืองมากในสมัยอยุธยา

ธนาคารกรุงเทพจัดงานเสวนาเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ภายใต้หัวข้อ "จีน-ไทยพี่น้องกัน: เบื้องหลังมิตรภาพและความสัมพันธ์" เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 ณ ห้องประชุมชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม โดย มีนายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยให้เกียรติร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายนิ่ง ฟู่ขุยกล่าวว่าตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชาวไทยได้เชิญชาวจีนมาช่วยทำและสอนเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผา ปัจจุบันมีนักเรียนจีนมาเรียนที่ไทยและนักเรียนไทยไปเรียนที่จีนเป็นจำนวนหลักหมื่น นักเรียนไทยที่ไปเรียนที่จีนคนแรกเมื่อ 600 ปีที่แล้ว และได้สร้างคุณประโยชน์ต่อวงการการศึกษาโดยทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ชาวจีน ให้กำเนิดพจนานุกรมจีนไทยฉบับแรก คือ เซียนหลัวอี้หวี่《暹罗译语》 ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้ในหอสมุดในกรุงปักกิ่ง

จีนมีคำกล่าวไว้แต่โบราณว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดของประชาชน ความใกล้ชิดของประชาชนขึ้นอยู่กับความเข้าใจระหว่างกัน" ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการไปมาหาสู่ของประชาชนเป็นหัวใจหลักของความสัมพันธ์ และจากประโยคคลาสสิคที่กล่าวว่า "จงไท่อี้เจียชิน" หรือ "จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน" ทำให้เราเห็นภาพความสัมพันธ์ของไทยและจีนได้ว่าเป็นดั่งพี่น้องที่สายเลือดไม่สามารถตัดขาดได้

จากประสบการณ์ที่ท่านเคยอยู่ที่เกาหลี พบว่าคนเกาหลีรู้จักและคุ้นเคยกับวรรณกรรมชื่อดังของจีนเป็นอย่างดี แต่เมื่อมารับตำแหน่งที่นี่ก็คาดไม่ถึงว่าคนไทยจะรู้จักกับวรรณคดีคลาสสิคของจีนหลายเรื่อง กระทั่งผู้นำประเทศยังเคยยกตัวอย่างคำพูดของตัวละครเอกคือขงเบ้งจากหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน-สามก๊ก

มีสามปัจจัยหลักที่ทำให้คนจีนอยากมาเยือนประเทศไทย ซึ่งได้แก่ ภาพยนตร์, คำพูดปากต่อปาก และภาพถ่าย เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพัฒนาก็ส่งผลดีต่อภาคบริการโดยจะเห็นได้ว่ามีเที่ยวบินตรงระหว่างไทยและจีนเกิดขึ้นมากมาย โดยเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 3,000 เที่ยวในหนึ่งปี

ส่วนเรื่องความร่วมมือรถไฟไทยจีน รัฐบาลได้มีการเจรจาไปแล้ว 9 ครั้งและยังจะมีการเจรจาเพิ่มเติมอีก ดังนั้นข้อมูล ณ ขณะนี้ยังไม่ใช่ที่สิ้นสุด โดยเฉพาะหัวข้อที่เป็นที่สนใจคือเรื่องค่าก่อสร้างและดอกเบี้ย สำหรับค่าก่อสร้างนั้นมีเสียงทักท้วงว่าราคาสูงมากไปหรือไม่ แต่ขอยืนยันว่าราคาที่จีนคำนวณให้นั้นนับว่าเป็นราคาที่ต่ำแล้วและหากสงสัยสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ด้านอัตราดอกเบี้ยนั้น ถึงแม้ว่าจีนอาจจะไม่ได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะคงหลักการแบบวิน-วินและให้ไทยได้รับประโยชน์สูงที่สุด

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040