กาสะลองส่องจีน ตอน 47 : "เชียงรุ้ง" มีดีอะไร? ตอนที่ 3 (การท่องเที่ยวนอกตัวเมือง)
  2016-02-19 17:04:33  cri

สัปดาห์นี้อาจจะเดินทางกันไกลนิดหน่อยนะครับ 2 สถานที่ที่ผมจะพาคุณผู้อ่านไปนั้น อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 45 นาที ไปเองคงจะยากสักเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับความคุ้มค่าแล้ว ผมขอพิสูจน์จากภาพที่ถ่ายมาเลยก็แล้วกัน

สถานที่แรกเรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมตัวชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของสิบสองปันนา อ่านแล้วอาจจะร้อง เอ๋? กันใช่ไหมล่ะครับ คงไม่คิดว่าพื้นที่แถบนี้จะมีชุมชนมุสลิม แต่จริง ๆ แล้วมีครับ ห่างจากตัวเมืองจิ่งหงตามที่ผมบอกประมาณ 45 นาที ระหว่างทางก็สูดโอโซนให้ชุ่มปอดพร้อมกับดูป่ากล้วยกันพลาง ๆ

หมู่บ้านมุสลิมแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของสุเหร่าที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดด้วย เท่าที่ได้ฟังผู้ใหญ่บ้านเล่ามา แกย้ำว่าทุกคนในหมู่บ้านนับถือศาสนาอิสลามหมดทุกคน ไม่ว่าจะชายหรือหญิง หากใครจะแต่งงานแล้วคู่ของตนไม่ได้นับถืออิสลามก็ต้องเปลี่ยนศาสนาเสียก่อน

มีหนึ่งความประทับใจเกิดขึ้นที่นี่ครับ เพราะตอนไปถึง คุณน้าอายุเยอะแล้วล่ะ ทักทายผมเป็นภาษาเหนือ ในใจนี่รู้สึกชนะมาก (ย้อนกลับไปตอนลงจากเครื่องเมื่อวันก่อน เพื่อนภาคภาษาอิตาลีพูดเย้ย ๆ ว่าผมโวว่าคนท้องถิ่นที่นี่พูดภาษาไทยได้) พอถามไถ่ก็รู้ว่าแกเคยไปทำงานที่แม่สายเกือบสิบปี จนตอนนี้ส่งลูกเรียนจบโทในไทยเรียบร้อย

หลังทักทายผู้ใหญ่บ้านพอหอมปากหอมคอ สาวเจ้าคนหนึ่งก็ปรากฎตัวขึ้น เธอคนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจค้าใบชาผู่เอ่อร์รายใหญ่ที่สุดของจังหวัดครับ ผมล่ะชอบการแต่งกายของเธอจริง ๆ ผสมผสานเอกลักษณ์ของชนชาติและแบรนด์เนมระดับโลกได้เข้ากั๊นเข้ากัน

นอกจากกล้วยและนกยูงแล้ว หลัง ๆ มานี้จิ่งหงขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกชาผู่เอ่อร์คุณภาพดีครับ ส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งมาขายในบ้านเรา มักจะไปทางกวางโจว ซื่อชวน หรือซานตงโน่น แต่ที่น่าสังเกตคือคนในชุมชนกลับไม่ได้เป็นเจ้าของไร่ เพราะปล่อยให้นายทุนมากว้านซื้อ-เช่าที่ดินไปทำแทน แล้วก็คนในชุมชนเองอีกนั่นแหละที่กลับมาเป็นแรงงานเก็บ คัด แยก หรือแปรรูป

โรงงานชาที่นี่ไม่เล็กนะครับ แต่ละอาคารก็แบ่งสัดส่วนหน้าที่ทำงานกันอย่างชัดเจน มานี่ถึงเข้าใจจริง ๆ ว่ากว่าจะมาเป็นชาให้เรา ๆ ได้ดื่มกันมันไม่ได้ทำง่าย ๆ พ่อค้าแม่ค้าคนไหนขายชาให้ก้อนละเป็นพันก็อย่าไปต่อเขาเยอะนะครับ ชาบางชนิดมันก็มีคุณค่าและสรรพคุณที่สมควรแก่ราคานั้น ๆ จริง ๆ

เมื่อพูดถึงชา จะไม่พูดถึงการชงชาก็คงไม่ได้ เริ่มต้นที่โต๊ะกันก่อน โต๊ะที่ทุกท่านเห็นเป็นโต๊ะสำหรับชงชาโดยเฉพาะ ลักษณะไม้เป็นไม้เนื้อแข็งนำเข้ามาจากเกาะไหหลำ สนนราคามูลค่าตัวละเกือบ 7 หมื่นบาท ส่วนการตวงใบชาตากนั้น ผู้ชงจะต้องนับจำนวนแขกเสียก่อน ซึ่งนั่นหมายถึงจำนวนถ้วยที่ต้องรินชาให้ด้วยเช่นกัน ชาแต่ละถ้วยจะใช้ปริมาณชาตากประมาณ 4 กรัม น้ำจากชาที่ชงในถ้วยแรกจะเททิ้งครับ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการล้างใบชา ส่วนถ้วยที่สองก็จะนำมาล้างแก้ว ทิ้งอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นชาที่พร้อมสำหรับดื่มจริง ๆ ก็จะอยู่ในถ้วยที่สาม และสามารถชงติดต่อกันได้มากที่สุดไม่เกิน 30 รอบ

จากที่เห็นเป็นแผ่น ๆ แบบนั้น หนักประมาณ 357 กรัมครับ ชาผู่เอ่อร์ที่คุณภาพปกติมาตรฐานก็จะขายกันอยู่ที่แผ่นละประมาณ 180 หยวน หรือเกือบ ๆ หนึ่งพันบาท ถ้ามาซื้อถึงที่จิ่งหงก็ต่อลงได้อีกหน่อย

ใบชาที่ชงเสร็จแล้วอย่าเพิ่งทิ้งนะครับ จะเอาไปยัดใส่หมอนให้นอนหลับง่าย ต้มกับน้ำแช่เท้าดับกลิ่นก็ได้ หรือเอาไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ก็ไม่ว่ากัน สรรพคุณพี่แกล้านแปดจริง ๆ

สัปดาห์หน้าผมจะพาคุณผู้อ่านไปอีกแห่งหนึ่งครับ ที่นี่ถือว่าเด็ดที่สุดของทริปเลยก็ว่าได้ กับหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า...ผมได้มาสิบสองปันนาแล้วจริง ๆ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040