กาสะลองส่องจีน ตอน 45 : วัดพิชัยญาติการาม ความสวยงามตามแบบฉบับ "จีน ๆ"
  2015-12-18 17:50:22  cri

ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผมได้กลับมาพักผ่อนที่เมืองไทย ส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดเชียงใหม่ จะมีก็วันท้าย ๆ ที่เดินทางลงมากรุงเทพฯ พบปะเพื่อนฝูงเติมเชื้อไฟก่อนกลับเข้าสู่ชีวิตการทำงานอีกครั้ง ส่วนบุคคลที่ผมได้พบในวันนี้เรียกได้ว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้ผมเดินทางมาอยู่ในจุดนี้เลยก็ว่าได้

ผมหวังจะได้เอนกายใช้ชีวิตสโลไลฟ์แบบที่กำลังฮิต ๆ แต่ผิดถนัดครับ คุณปิติรัชต์ จูช่วย (โจ๊ก) นักเขียนบทความอิสระบุคคลต้นเรื่องของกาสะลองส่องจีนสัปดาห์นี้เล่นลากผมเดินทางไปทำงานกับเขาด้วย แต่เป็นไงเป็นกันครับ เวลามีน้อยใช้สอยให้สุด ๆ

คุณโจ๊กพาผมทัวร์วัดรอบกรุงเทพฯ ซึ่งวัดที่เราไปก็มีตั้งแต่วัดอารามหลวง ยันวัดเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอกไม่บอกใคร แต่มีอยู่วัดหนึ่งที่พอเดินทางเข้าไปแล้วต้องร้อง เฮ้ย!! ตลอดทาง ด้วยไม่คิดว่าจะมีศิลปะประเภทนี้สอดแทรกกันอย่างกลมกลืนภายในวัด

วัดพิชัยญาติการาม สร้างขึ้นโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือที่เรียกกันโดยลำลองว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ได้บูรณะปฏิสังขรณ์จากวัดร้างในสวนริมคลองย่านฝั่งธนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสถาปัตยกรรมนั้นเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็คือการใช้ศิลปะจีน ที่ชัดเจนที่สุดคือ ลักษณะอาคารต่างๆ ไม่มีเครื่องลำยอง (เครื่องประดับส่วนบนของหลังคา) คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นไม้จำหลัก เปลี่ยนเป็นงานก่ออิฐถือปูน หน้าบันเป็นปูนปั้น ประดับกระเบื้องเคลือบสี เพื่อความคงทนที่มากกว่า ซึ่งวัดพิชัยญาติการามนี้นอกจากจะใช้ศิลปะจีนตามพระราชนิยมแล้ว ก็คงเป็นด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าพระยาพระองค์น้อยนี้ได้กำกับดูแลพระคลังสินค้า มีเรือสำเภาแต่งไปข้าขายกับจีน จึงได้รับเอาอิทธิพลศิลปะจีนมาใช้และสามารถจัดหาของประดับตกแต่งได้ง่ายยิ่งขึ้น และในบรรดาของประดับตกแต่งเหล่านี้ มีสิ่งของที่เป็นความพิเศษไม่เหมือนใคร ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างสองแห่งใหญ่ๆที่รู้สึกประทับใจตามที่คุณโจ๊กได้อธิบายไว้แล้วกัน

อย่างแรกเลยคือ "งานเต็งลั้ง" ความจริงแล้วคำว่า "เต็งลั้ง" เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า โคมไฟ จีนกลางเรียก "เติ๊งหลง" แต่พอมาบ้านเราก็เข้าใจกันไปอีกแบบ งานเต็งลั้งจะหมายถึงกรอบรูปกระจกใสลวดลายงดงาม ตัวกระจกจะแกะสลักเป็นลายโบตั๋นและพันธุ์พฤกษาขนาดพอดีกับกรอบรูป เขียนลวดลายเป็นภาพเครื่องมงคลจีน ตั้งบนโต๊ะบูชาต่างๆ แขวนไว้เหนือประตูหรือหน้าต่างพระอุโบสถ คุณโจ๊กเล่าว่างานศิลปะชนิดนี้นิยมมากในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยเรามักสั่งทำและนำเข้าจากจีนหรือเวียดนาม

การทำงานเต็งลั้งต้องใช้ทักษะและความสามารถของศิลปินสูงมาก เพราะจะต้องวาดภาพจากด้านหลังของกระจกใส เพื่อให้ด้านหน้าของกระจกเป็นเครื่องป้องกันภาพด้านหลัง เห็นแบบนี้ราคาสูงมากนะครับ จะแขวนไว้ก็เฉพาะวัดหลวง วัดสำคัญที่ขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยนั้นเป็นผู้อุปถัมป์ เช่น วัดโพธิ์บางโอ วัดนางนอง หรือพระที่นั่งสำคัญในพระราชวัง เช่นพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ซึ่งสร้างเป็นพระที่นั่งอย่างจีนแท้เท่านั้น

สงสัยเหมือนผมไหมครับว่าทำไมต้องแขวนไว้เหนือประตูหน้าต่าง คุณโจ๊กเล่าให้ฟังอีกว่านอกจากงานประดับตกแต่งเพื่อความสวยงามแล้ว งานเต็งลั้งยังทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยกระจายแสงสว่างยามวิกาลสมัยที่ไทยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วย ด้วยการแขวนงานเต็งลั้งเหนือช่องประตูและหน้าต่างพระอุโบสถ ก็จะรับกับโคมไฟห้อยเพดานหรือที่เรียกกันว่า "อัจกลับ" พอดี ซึ่งเมื่อจุดไฟในโคมอัจกลับแล้ว กระจกผิวหน้าของงานเต็งลั้งก็จะช่วยกระจายแสงให้พระอุโบสถสว่างไสวนั่นเอง ยังมีเรื่องเล่ากันต่อมาเกี่ยวกับความสว่างไสวของพระอุโบสถในยามค่ำคืนด้วยว่า เนื่องจากในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหน่วยงานที่มีชื่อว่า "กรมสังฆการี" ทำหน้าที่ตรวจตราวัดต่างๆ เรื่องการศึกษาพระธรรมวินัยและบำรุงหน่วยงานของสงฆ์ ถ้าเจ้าอาวาสหรือพระครูวัดใดจะได้เลื่อนสมณศักดิ์เร็วหรือไม่นั้น สังฆการีจะพิจารณาจากการมาตรวจตราในยามวิกาล ถ้ามาแล้วเห็นพระอุโบสถจุดไฟสว่างไสวบอกหนังสือธรรมะกันจนดึกดื่น ก็เป็นอันว่าใช้ได้ เหมาะแก่การเลื่อนสมณศักดิ์โดยเร็วนั่นเอง

สัปดาห์หน้ายังคงอยู่ที่วัดพิชัยญาติครับ ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่ถือได้ว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทย ส่วนจะเป็นอะไรอย่าลืมติดตามกันนะจ๊ะ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040