โดยก่อนหน้านี้ นายไจ๋เจิ้นอู่ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และประชากร มหาวิทยาลัยประชาชนจีน ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวว่า ตามความเชื่อหรือค่านิยมแต่ดั้งเดิมของจีน คนจีนจำนวนมากจะมีแนวคิดโน้มเอียงที่ว่าอยากมีลูกในปีมงคลอย่างมังกร ม้าหรือลิง เป็นต้น โดยเฉพาะคนทางเหนือ จะยึดติดในเรื่องนี้เป็นพิเศษกว่าด้วย ดังนั้น จึงมีบางคนที่วางแผนว่าจะไม่มีลูกปีแพะรอถึงปีลิงดีกว่า
สำหรับครอบครัวที่มีลูกสองคนแล้ว พ่อแม่ชาวจีนกลุ่มนี้มีความรู้สึกหรือประสบกับปัญหาใดบ้างนั้น รายงานผลสำรวจความคิดเห็นจำนวน 12,000 ครอบครัวแสดงว่า ปัญหาที่สร้างความลำบากให้กับพ่อแม่ชาวจีนที่มีลูกสองคนนั้น แม้เรื่องเศรษฐกิจจะสร้างแรงกดดันใหญ่หลวงตามมาด้วย แต่ก็ไม่มากเท่ากับเรื่องของการดูแลลูก โดยมีถึงร้อยละ 86.5 ระบุว่า "ไม่มีคนเลี้ยงลูก" เป็นเรื่องหนักอกที่สุด
ครอบครัวจีนที่มีลูกสองคนที่ร่วมตอบสำรวจเกือบร้อยละ 60 ระบุว่า มีความกดดันด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับ "ธรรมดา" หรือ "เล็กน้อย" เท่านั้น โดยหลังจากมีลูกอีกหนึ่งคนแล้วรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ภายใน 2,000 หยวน และจะใช้ไปกับเรื่องอาหารและของใช้ประจำวันเช่น ผ้าอ้อม ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะมีลูกคนที่สองหรือไม่ คือ สามีภรรยามีความรักใคร่กลมเกลียวกันดี เพราะผลสำรวจชี้ว่า การที่ฝ่ายสามีหรือพ่อของลูกมีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลลูก ทำให้การเลี้ยงลูกคนที่สองไม่ลำบากเกินไปนัก
สำหรับปัญหาที่ว่าใครจะเป็นคนเลี้ยงลูก ทำไมจึงกลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันให้กับครอบครัวมากสุดนั้น มีผู้ตอบสำรวจกว่าครึ่งระบุว่า การเลี้ยงลูก 2 คน เป็นเรื่องที่เรียกว่า "1+1 มากกว่า 2" คือไม่เพียงต้องประสบปัญหาเดียวกับครอบครัวที่มีลูกคนเดียว แต่ยังต้องผจญกับเรื่องคนโตกับคนเล็กทะเลาะแย่งของหรือแย่งความรักจากพ่อแม่ด้วย และเพื่อแก้ปัญหาลูกสองไม่มีคนดูแล คุณแม่จีนบางส่วนถึงกับต้องลาออกจากงาน โดยมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ระบุว่ายินดีกับการเป็นแม่บ้านเต็มตัว
แน่นอนว่า หลังจากคนรุ่นลูกมีหลานคนที่ 2ให้แล้ว คนรุ่นปู่ย่าตายายทั้งหลายก็มีมากถึงร้อยละ 70 ที่ขอมีส่วนร่วมในการช่วยเลี้ยงดูหลาน และอีกร้อยละ 8 ยอมออกเงินจ้างพี่เลี้ยงเด็กให้ด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเกือบร้อยละ 80 ได้มีส่วนร่วมใกล้ชิดในการช่วยเลี้ยงหลานคนที่ 2 ด้วย
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府