นอกจากตัวอย่างความคิดกังวลของเด็กนักเรียนชั้นป. 3 ของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในเมืองกว่างโจวของจีน ที่ถ่ายทอดผ่านการตอบคำถามข้อสอบวิชาภาษาจีนเกี่ยวกับการที่พ่อแม่จะมีน้องให้ตนเองนั้น มีเด็กหลายคนตอบแบบมีหลักการเหมือนกับเป็นผู้ใหญ่ตัวน้อยๆ อย่างที่เอ่ยถึงไปแล้ว
ยังมีบางคนไม่เห็นด้วยกับการมีสมาชิกใหม่ และหยิบยกเหตุผลห่วงกังวลถึงสุขภาพของผู้ปกครองว่า " หากแม่จะต้องผ่าท้องคลอดล่ะก็ ผลที่ตามมาภายหลัง หนูไม่กล้าคิดเลย ดังนั้น ขอให้แม่รักษาสุขภาพดีกว่า อย่ามีน้องอีกเลย" บางคนว่า อยากมีน้องชายเหมือนกัน แต่กลัวว่าถ้ามีอีกคนแม่คงจะดูแลไม่ไหว เพราะ "แค่คลอดลูกก็ลำบากมากแล้ว" พยายามชักแม่น้ำทั้งห้า หวังเกลี้ยกล่อมให้แม่และพ่อคิดทบทวนให้ดีก่อนจะมีลูกอีกคน เป็นต้น
ดังนั้น หลังรัฐบาลจีนยอมเปิดกว้างเรื่องให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้สองคนเหมือนกันหมดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะว่า ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของลูกคนโต หากคิดจะมีลูกคนที่สอง ควรต้องผ่านด่านจิตใจของคนแรกให้ได้ก่อน ซึ่งในคำตอบข้อสอบนี้ก็มีเด็กหลายคนที่ต่อต้านอย่างรุนแรงปรากฏให้เห็นด้วย
"หนูไม่เอาทั้งน้องชายหรือน้องสาวเลยได้มั๊ย? เพราะหากมีเพิ่มมาอีกคน หนูก็ไม่ใช่ลูกคนเดียวอีกต่อไปแล้ว พ่อกับแม่คงต้องรักน้องมากกว่าแน่ มีอะไรเกิดขึ้นกับหนูก็คงไม่มาช่วยแบบไม่คิดชีวิต เพราะในใจของพ่อกับแม่คงคิดว่า ไม่เป็นไร ตายไปคนยังมีอยู่อีกคนน่ะซิ" ชัดเจนขนาดนี้ ชาวเน็ตเห็นแล้วบอกทั้งรู้สึกสงสารเด็ก แต่ก็มองข้ามปัญหานิสัยลูกคนเดียวของเด็กจีนที่แสดงออกรุนแรงแบบนี้ไม่ได้เหมือนกัน ทำอย่างไรจึงจะสร้างความสมดุลทางสภาพจิตใจของลูกทั้งสองได้ เป็นเรื่องที่พ่อแม่จีนต้องขบคิดพิจารณาอย่างหนัก
ด้านครูอาจารย์แสดงความเห็นว่า นี่ไม่ใช่เพียงคำถามธรรมดาทั่วไปเท่านั้น ยังเป็นการพูดคุยที่แสดงความเห็นได้อย่างเสมอภาคด้วย โดยครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาที่ออกข้อสอบดังกล่าวระบุว่า วงเพื่อนในสังคมออนไลน์ของตนเปิดมาก็เห็นเรื่องนี้แชร์กันพรึ่บไปหมด คำตอบที่หลากหลายแสดงถึงความคิดอ่านของเด็ก เพราะคำถามนี้ไม่เพียงให้ตอบว่ายินดีหรือไม่ แต่ให้เด็กระบุถึงเหตุผลด้วย บางคนตอบอย่างมีหลักการแสดงถึงทักษะทางความคิด และความเฉลียวฉลาด เพราะแม้ตนจะไม่อยากมีน้องแต่ไม่บอกตรงๆ หยิบยกเรื่องความลำบากในการเลี้ยงดูหรืออื่นๆ มาเกลี้ยกล่อมพ่อแม่
การให้เด็กตอบคำถามแบบแสดงความคิดเห็นของตนได้ ไม่เพียงทำให้เด็กรู้จักขบคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเท่านั้น แต่ยังฝึกให้เด็กได้รู้จักคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะการที่เด็กตอบว่า เกรงพ่อแม่จะเหนื่อยยากลำบาก หรือว่าปกติตนเองซนมาก หากพ่อแม่มีลูกอีกคน คงจะยุ่งหัวหมุนเป็นแน่ เท่ากับว่าได้คิดทบทวนพฤติกรรมของตนเองแล้วด้วย นอกจากนี้ ทำให้ครูและผู้ปกครองได้รับรู้ความในใจของเด็ก รวมถึงการที่เด็กตอบว่าการคลอดลูกเป็นเรื่องที่เจ็บปวดทรมานกระทั่งเสียชีวิตได้นั้น ทำให้เห็นถึงจุดบกพร่องในการให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชน ทางโรงเรียนจะนำไปปรับปรุงแนวทางให้การศึกษา และให้ครูอาจารย์ชี้นำเด็กๆ ในความกังวล
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府