อินทนิล อินไชน่า: ณัฏฐนิจ แช่มสุวรรณวงศ์ (ตอนที่1)
  2017-01-12 11:49:10  cri

ยากสุดของการเรียนที่จีนเทอมแรกคือภาษาและการปรับตัว

นางสาวณัฏฐนิจ แช่มสุวรรณวงศ์ ว่าที่ดอกเตอร์เพราะใกล้จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ 10 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในจีน โดยจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งแล้วไปทำงานที่ฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำจีน ก่อนที่จะศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกันด้วยทุนรัฐบาลจีน เมื่อถามว่าทางด้านการศึกษาจีนเปลี่ยนไปเยอะไหมในช่วงสิบปีนี้ คำตอบที่ได้คือจีนเปลี่ยนแปลงเยอะมากทั้งทางด้านการเปิดรับคนต่างชาติที่แต่ก่อนคนต่างชาติค่อนข้างน้อย คนไทยก็จะน้อยมาก แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าคนไทยเฉพาะในมหาวิทยาลัยปักกิ่งมีเกินร้อย ทำให้ตอนนี้เราไม่รู้จักกันทั้งหมด ซึ่งเมื่อก่อนพูดถึงใครก็จะรู้ แล้วตอนนี้สังคมไทยที่เรียนในปักกิ่งก็กว้างขึ้น เรียนในหลายๆคณะมากขึ้น ปัจจุบันปริญญาตรีก็มาเรียนกันมาก ไม่เฉพาะปริญญาโท ปริญญาเอกอย่างในอดีต ซึ่งมีทั้งที่ได้รับทุนและที่มาเรียนด้วยทุนส่วนตัว

มีพื้นภาษาจีนมาจากปริญญาตรีพอมาเรียนที่จีนยากไหม

แม้มีพื้นภาษาจีนมาแต่เมื่อมาเรียนปริญญาโทร่วมกับคนจีนต้องบอกว่ายากมาก เพราะว่าเวลาที่เราเรียนจากคณะอักษรศาสตร์เมื่อเราเรียนมาทั้งหมดแล้วจริง ๆ ความรู้เรายังไม่เท่าด้านปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอกจากที่เขาเป็นเจ้าของภาษาแล้ว ความรู้ที่เราเรียนมาทั้งหมดในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่เขาจะเรียนตอนมัธยม พอเขาต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยและต้องมีพื้นทางด้านนั้นเขาจะเรียนมาค่อนข้างเยอะ แล้วพอเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็จะเรียนลึกไปอีก เมื่อเราต้องมาเรียนร่วมกับเขา อาจารย์ก็จะให้เราไปร่วมเรียนกับนักศึกษาปริญญาตรีในหลาย ๆ วิชาด้วย ซึ่งไม่เฉพาะคนต่างชาติ สำหรับคนที่มาจากมาหวิทยาลัยอื่นที่มาต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอกถ้าไม่เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งมาก่อนอาจารย์ก็จะให้ไปเรียนกับพวกนักศึกษาปริญญาตรีด้วย เพื่อปูพื้นให้แน่น แล้วบางทีอาจารย์ก็จะให้สอบด้วย อย่างตอนที่มาเรียนปริญญาโทอาจารย์ให้เรียนวิชาที่อาจารย์สอนปริญญาตรีด้วยแล้วก็ให้ร่วมสอบทุกอย่าง เพื่อให้เรามีความรู้เท่ากับเพื่อนที่อยู่ในชั้นเดียวกับเรา

การเรียนของนักศึกษาจีนกับนักศึกษาไทยเหมือนหรือต่างกันมากๆตรงไหน

จะต่างกันค่อนข้างเยอะในแง่ลักษณะนิสัยในการเรียนรู้ เพราะคนไทยจะค่อนข้างรักสบาย แต่คนจีนจะเรียนหนักมากด้วยวิชาที่มหาวิทยาลัยจัดเองก็หนักอยู่แล้ว ตัวคนจีนเองก็ขยันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเขาเลิกเรียนตอนสี่โมงเย็นพอเขาไปกินข้าวเสร็จเขาก็จะกลับหอพักหรือไปห้องสมุดหรือนั่งอยู่ที่อาคารเรียน นั่งอ่านหนังสืออยู่อย่างนั้นจนถึงสี่ทุ่มตึกปิดแล้วจึงค่อยกลับ ซึ่งตอนเรียนอยู่ที่จุฬาฯตัวเราเองก็ไม่เคยทำอย่างนี้ ตอนแรกที่เราเห็นเขาเป็นแบบนี้เราก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนหลังก็รู้สึกว่าลองทำดูบ้าง ลองไปอ่านหนังสือกับเขาบ้างซิ ตอนแรกก็แปลก แต่ก็รู้สึกว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อคนจีนมากขึ้น แล้วเวลาเราอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจอะไร เราก็ถามเขาตรงนั้นได้ทั้งความรู้ได้ทั้งเพื่อน จุดที่นักศึกษาจีนจะไปอ่านหนังสือจุดแรกคือห้องสมุดจองโต๊ะไว้เรียบร้อย มีทั้งที่เอาหนังสือที่มีไปอ่านและที่ไปยืมจากห้องสมุดมาอ่านบางคนก็ยืมกลับไปด้วย ห้องสมุดจะเป็นจุดรวมของนักศึกษา หาเพื่อนไม่เจอก็ไปเดินหาที่ห้องสมุด เจอแน่ ๆ

ที่นั่งในห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จะมีห้องหนึ่งสำหรับอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก จะเป็นห้องที่เราอ่านหนังสือเดี่ยว ๆ มีกุญแจ อันนี้ต้องไปจองตั้งแต่ห้องสมุดเปิดจึงจะมีโอกาสได้ ถ้าไปหลังจากนั้นส่วนใหญ่จะไม่มี เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่จะพักในมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งที่เขาจะมาห้องสมุดเพราะที่พักของเขาจะอยู่กันห้องละประมาณ 4 คนแล้วเขารู้สึกว่ามันอึดอัด เวลาอ่านหนังสือเขาจะมาหาที่ที่มันสงบและมีพื้นที่กว้างหน่อย เพราะอ่านที่หอพักไม่สะดวกก็มาอ่านที่ห้องสมุด บางมหาวิทยาลัยจัดให้นักศึกษาพักห้องละ 8 คนก็มี ดังนั้นเวลาอ่านหนังสือจึงต้องพึ่งห้องสมุดหรืออาคารเรียน ห้องสมุดจะเปิดเวลา 08.00 น. – 22.00 น. ถึงเวลาจะปิดเขาก็จะประกาศให้ออกจากห้องสมุดได้แล้ว

มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีซุ้มชมรมอย่างในมหาวิทยาลัยที่บ้านเราหรือไม่

ที่รู้มาห้องสำหรับชมรมเลยมีไม่มาก เวลาที่ชมรมจะจัดพบกันต้องไปยืมห้องระบุวันเวลาให้ชัดเจน คนที่จะไปร่วมชมรมก็ต้องไปตามเวลาที่กำหนด พอหมดเวลาทุกคนก็จะต้องออกจากห้องเพื่อให้ชมรมใหม่เข้าไปใช้ห้องต่อ เป็นลักษณะหมุนเวียนกันใช้สถานที่ไม่ได้มีลักษณะว่าตรงนี้เป็นที่ตั้งของชมรมนี้

เวลาเข้าชมรมจะได้เจอเพื่อนหลาย ๆ คณะ อย่างไปเข้าชมรมเซน ซึ่งเป็นชมรมนั่งสมาธิ แล้วก็ไปเข้าชมรมคาราเต้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคนที่มาจากต่างคณะกันแต่มาชอบในสิ่งเดียวกัน บุคลิกก็จะไม่เหมือนกัน อย่างคาราเต้ส่วนใหญ่จะโหดทุกคน ส่วนคนที่อยู่ในชมรมเซนจะค่อนข้างนิ่งแล้วพูดอะไรก็จะกลายเป็นทางด้านพุทธศาสตร์ ไปเข้าชมรมนี้พร้อมกัน ปรากฏว่าต่างกันสุดขั้ว ก็มีแอบขำบ้าง แต่ที่ดีก็คือได้รู้แนวคิดของพวกเขาด้วย

เรียนร่วมกับน้องปริญญาตรีนานไหม

เรียนร่วมกับน้องปริญญาตรีอยู่ 1 – 2 ปีตามแต่ว่าอาจารย์จะให้เรียนกี่วิชา อย่างถ้าให้เรียน 4 วิชา ปีแรกอาจเรียนได้แค่ 1 วิชา เพราะเวลาไม่เอื้อไปชนกับเวลาที่เราเลือกเรียนปริญญาโท ก็อาจจะไปเลือกเรียนตอนปริญญาโทปี 2 แทน จะเรียนร่วมกับปริญญาตรีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคำแนะนำของอาจารย์ที่จะรู้ว่าเราควรเสริมวิชาไหนอย่างไร เราก็ไปจัดสรรเวลาของเราเอง อย่างตอนเรียนปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ ภาษาจีน เขาให้เราเรียน 3 ปี ตลอดช่วง 3 ปีด้วยความอยากรู้ของเราเราก็ไปฟังตลอด นอกจากที่อาจารย์สั่งเรายังสามารถเข้าไปฟังได้ตามที่เราต้องการด้วย ทั้งในคณะเดียวกันหรือคณะอื่นก็ได้ บางวิชาอาจต้องขออาจารย์ผู้สอน บางวิชาก็ไม่ต้องขอ

เพื่อนคนจีนมีส่วนช่วยมากน้อยแค่ไหน

เพื่อนคนจีนมีส่วนช่วยอย่างมาก อย่างปีแรกที่เข้าไปเรียนกับเด็กปีหนึ่ง เราจดเล็คเชอร์ไม่ทันคือจดเป็นตัวภาษาจีนไม่ทัน แล้วเราก็นึกตัวไม่ออก ฟังอาจารย์ก็ไม่ทันเพราะว่าเวลามาถึงที่เมืองจีนสำเนียงการพูดจะเป็นธรรมชาติไม่เหมือนที่เราเรียนที่เมืองไทยซึ่งอาจารย์เขาจะออกเสียงชัดทุกตัวแล้วก็พูดค่อนข้างช้า แต่ที่นี่จะพูดเร็วเราก็ฟังไม่ทัน แล้วอีกอย่างหนึ่งวิชาที่เรียนเป็นศัพท์เฉพาะ แล้วก็มีศัพท์ที่เป็นภาษาอังกฤษแต่เขามาแปลเป็นภาษาจีนซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นอะไร ก็ต้องคอยถามเพื่อนคนจีนว่ามันเป็นตัวไหน ถ้าเขาพูดเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ เราก็ต้องไปเสิร์ชเอาอีกทีว่าคำนี้เขาพูดเป็นภาษาจีนโดยแปลมาจากภาษาอังกฤษ มันคืออะไร คือถอดกันไปถอดกันมาเพื่อให้เข้าใจว่าเขาพูดเรื่องอะไร ตรงนี้เพื่อนจะช่วยบอกเป็นภาษาจีนเพราะเวลาเป็นภาษาอังกฤษเขาจะนึกไม่ออก เพราะเขาก็เรียนจีนเป็นหลัก ศัพท์เฉพาะเขาก็จำเป็นภาษาจีนไปแล้ว บางคนไม่ได้ศึกษาว่าภาษาอังกฤษพูดว่าอะไรเขาก็จะพูดไม่ได้

ใช้เวลาปรับตัวนานไหม

กว่าที่ว่าอาจารย์พูดอะไรแล้วเราจดทัน เทอมแรกพูดตรงๆว่าเรียนไม่รู้เรื่องเลย เวลาต้องทำรายงานส่งตอนนั้นก็หาข้อมูลไม่เป็นว่าต้องเข้าไปในเว็บแล้วกดหาข้อมูลอย่างไร เทอมแรกเพื่อนส่งข้อมูลมาให้แล้วบอกว่าเธออ่านข้อมูลเหล่านี้นะแล้วเธอก็เขียน ในจีนจะมีเว็บสำหรับหาบทความของจีน พอเพื่อนส่งข้อมูลมาให้เราก็เริ่มถามเขาว่าต้องไปค้นอย่างไร แล้วเราก็เริ่มค้นเอง พอปริญญาโทปีหนึ่งเทอมสองก็เริ่มจดทัน เทอมแรกที่เรียนรูสึกว่าเวลามันนานมาก อาหารก็กินไม่ได้ ผอมไปเกือบสิบกิโลฯ เรากลัวเล็คเชอร์ไม่ทันอ่านหนังสือเองก็อ่านไม่รู้เรื่อง จะทำการบ้าน จะนอนดึกอย่างนี้ เพราะตอนนั้นไม่คุ้นกับอาหารจีน ก็จะเอาขนมที่เอามาจากเมืองไทยมานึ่ง มาแกะกิน เทอมแรกเป็นเทอมที่ทรมานที่สุด กลับบ้านไปที่บ้านถามว่าเมืองจีนไม่มีอะไรให้กินหรือลูก จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องอาหารอย่างเดียว แต่มันคือความกังวลความเครียดว่าเราจะไม่ทันเขา กังวลว่ามาแล้วเราจะเรียนผ่านไหม จะบอกว่าเทอมแรกยากที่สุดไหม มันก็ยากทุกเทอม ยากคนละแบบกัน ตอนแรกยากเรื่องภาษา การปรับตัว เราเรียนกับเจ้าของภาษาเขาจะถนัด แถมอาจารย์ที่สอนท่านก็มาจากต่างถิ่นกัน สำเนียงการพูดก็จะไม่เหมือนกัน แล้วบางท่านติดสำเนียงถิ่นเยอะมาก เราเรียนเป็นสำเนียงจีนกลางมาตรฐาน ก็จะไม่เหมือนกัน ตอนแรกเราไม่เข้าใจว่าเขาพูดอะไร แล้วเวลาอาจารย์บางท่านเขียนบนกระดานเขาก็เขียนเหมือนกับเราเขียนภาษาไทยคือเขียนหวัด เขียนเร็ว เราเรียนมาจากเมืองไทยทุกตัวที่อาจารย์เขียนเส้นจะชัด แต่ว่าของเขาจะเป็นเส้นติดต่อกัน เราก็งงว่าอาจารย์เขียนอะไร ภาษาจีนเขียนเป็นตัว ๆ ไม่เหมือนภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยที่พอจะเดาเอาได้ แต่ว่าการเขียนเป็นขีดเป็นเส้นแบบจีนนี่ติดกันแล้วอ่านไม่รู้เรื่องเลย ต้องถามเพื่อนคนจีนเอาบ้าง บางทีเพื่อนคนจีนก็อ่านไม่ออกเหมือนกัน คืออาจารย์บางท่านจะมีเอากลักษณ์ในการเขียน เขียนสวยมากแต่อ่านไม่ออกว่าเป็นอะไร เราไม่เข้าใจถามเพื่อนคนจีน เพื่อนคนจีนก็จะขมวดคิ้ว เพราะเขาก็ไม่เข้าใจ แล้วเขาก็จะถามกันเองแล้วค่อยมาบอกเรา

ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติอาจารย์ช่วยเราบ้างไหม

อาจารย์ที่ปรึกษาอยากให้มีความรู้เยอะ ๆ ก็จะย้ำตลอดว่าต้องไปเรียนเยอะ ๆ นะ ต้องมีความรู้ให้แน่น รู้ให้ลึกและรู้ให้กว้างด้วย อาจารย์จะย้ำว่าไม่ใช่ว่าเราคิดว่าทางเรื่องวิชาการผลสรุปมันควรจะเป็นอย่างนี้แล้วต้องเป็นอย่างนี้ ๆ เท่านั้น เราต้องมองให้กว้างและรับความคิดเห็นของคนอื่นมาพิจารณาด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะคิดว่าอาจารย์ที่ปรึกษาของเราเป็นอาจารย์ที่เปิดกว้างทางความคิดให้มีการวิจัย แล้วก็จะบอกว่าเราต้องมีความคิดที่แปลกใหม่ เพื่อจะได้พิสูจน์ความจริงในเรื่องของภาษาได้ แต่ว่าการมีความคิดใหม่ ๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาใช้เกี่ยวกับทางด้านภาษาอย่างเดียวเท่านั้น อย่างตัวอาจารย์เองตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าท่านมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องบ้านเรื่องที่ดินอะไรอย่างนี้เยอะมาก อาจารย์มีชื่เสียงทางด้านภาษาศาสตร์ อาจารย์เล่าให้ฟังว่าลูกชายไม่ได้มาทางด้านภาษา แต่ไปทางด้านคอมพิวเตอร์ แล้วก็ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ชอบเล่นเกมจนอยากไปเรียนญี่ปุ่น ในที่สุดจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโตเกียว รู้ลึกทางด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ได้รู้ด้านภาษาศาสตร์ แต่เขามาคุมด้านภาษาศาสตร์อีกทีหนึ่ง อาจารย์ถามลูกชายว่า ไม่มีความรู้ทางภาษาศาสตร์แล้วไปคุมเขาได้อย่างไร ลูกชายบอกว่า ก็แบ่งงาน สงสัยอันนี้ก็ให้คนนี้ไปทำ มันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการซึ่งจำเป็นมากสำหรับชีวิตของเราทุกคน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า ความรู้มันสามารถเอามาผสมผสานกันได้ ส่วนการจะผสมผสานกันแล้วเกิดประโยชน์แค่ไหน ก็อยู่ที่วิธีการคิดของเราและความรู้ที่เรามี (อย่าพุ่งไปเรื่องที่เรียนอย่างเดียว ให้สนใจสังคมรอบข้างด้วย เพราะจริง ๆ ชีวิตก็ไม่ได้เอกไปทางด้านใดด้านเดียว มันต้องผสมกลมกลืนกัน)

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040