น้องโบว์ นางสาวริญญารัศมิ์ อริยกุศลสุทธิ นักศึกษาปริญญาโทรจากมหาวิทยาลัยจงยางซี่จวี่เสวียย่วน(中央戏剧学院)หรือThe Central Academy of Drama กรุงปักกิ่ง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่ผลิตบัณฑิตให้กับแวดวงวิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีน เล่าชีวิต 4 ปีในจีน ที่เธอย้ำว่าต้องมั่น และอย่ายอมแพ้ เริ่มจากการทะลายกำแพงเรื่องภาษาซึ่งไม่ง่าย เคยท้อ แต่ก็ไม่เกินความพยายาม
มาเรียนที่นี่ยากมาก(เสียงลากยาว)คือต้องใช้ภาษาจีนซึ่งไม่ใช่ภาษาบ้านเกิดของเรา แม้เราเรียนนิเทศมาก่อนก็ตามแต่ที่นี่มันลึกซึ้ง เราไปนั่งฟังน้องปริญญาตรีปีหนึ่งเรียนเขาเรียนลึกมากเรียนหุ้น การตลาด การลงทุนเรียนอะไรที่มันลึก แล้วเด็กปีหนึ่งสามารถออกไปถ่ายหนังได้เลย เพราะของที่ไทยเรากว่าจะแยกสาขาก็ปีสองหรือปีสาม แต่ที่นี่เขาแยกตั้งแต่แรกเลยว่าจะเรียนควบคุมการผลิต กำกับการแสดง พิธีการ การแสดง หรือจะเรียนวิทยุ เราเลือกเรียนควบคุมการผลิต
จบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่เคยเรียนภาษาจีนในชั้นเรียนมาก่อน พอรู้บ้างเล็กน้อยจากที่คุณพ่อสอนมา เราได้ทุนซีเอสซี(CSC - China Scholarship Council)ซึ่งเป็นทุนรัฐบาลจีนเขาให้ทุนเราเรียนภาษาจีนเป็นการปูพื้นปีหนึ่งก่อน พอเราเรียนไปปีหนึ่งรู้สึกยังไม่แน่นคือรู้สึกว่าเรียนภาษาจีนปีหนึ่งนี่ถ้าเราใช้ชีวิตประจำวันหรือเรียนสาขาอื่นได้ แต่ถ้าหากเรียนเฉพาะด้านอย่างที่เราเรียน คิดว่ามันไม่พอ ก็เลยขอเขาเพิ่มอีกหนึ่งปีเขาก็ให้ เพราะทุนซีเอสซีเขาจะให้สูงสุดคือ 5 ปีซึ่งรวมทั้งทุนเรียนภาษาและทุนเรียนปริญญาด้วย ซึ่งเราดูแล้วว่าทุนปริญญาโทเขาให้เรา 3 ปี ดังนั้น 2ปีแรกก็เลยขอเรียนภาษาจีนปูพื้นให้ค่อนข้างแน่นหน่อย
แรก ๆ ที่มาเรียนเครียดมาก ร้องไห้อยากกลับบ้านเพราะมหาวิทยาลัยอื่นยังมีคนไทย แต่ที่นี่ไม่มีคนไทย ภาษาอังกฤษเราก็งูๆปลาๆ แถมเหล่าซือ(อาจารย์)หรือใครก็แล้วแต่ เขาจะใช้ภาษาจีน นอกจากเพื่อนที่เป็นต่างชาติด้วยกัน เราก็รู้สึกว่ายากมากเพราะว่าจะพูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ต้องพูดภาษาจีนอย่างเดียว ภาษาไทยก็ไม่มีใครพูดกับเรา คิดหลายรอบอยากกลับบ้าน โทรไปหาคุณพ่อคุณแม่ท่านก็บอกว่านี่คือความสำเร็จของเราเพื่ออนาคตของเรา..อดทนหน่อย เดี๋ยวก็สำเร็จ จริง ๆ ถึงตอนนี้แม้ใช้ภาษาจีนมา 4 ปีก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจ เวลาเรียนที่นี่ไม่เข้าใจก็ถามเพื่อน อย่างเรียนการลงทุน ตลาดหุ้น การบัญชีพวกเขาจะมีพื้นฐานแต่เราไม่มีก็จะงง เพราะเราเรียนนิเทศศาสตร์ไม่ได้เรียนบริหารธุรกิจหรือการเงินหรือเรียนกฎหมายมา ในห้องเรียนพอเราไม่เข้าใจหน้าตาเราก็จะแนวเควสชั่นมาร์ค แต่ดีที่มีเหล่าซือมีเพื่อน เขาจะคอยช่วยเราตลอดเพราะรู้ว่าเราเป็นต่างชาติ จะมาอธิบายหรือบางทีก็จะบอกว่าไม่เป็นไรนะนั่งฟังไปก่อน ถ้าตรงไหนไม่เข้าใจเขาจะอธิบายให้ฟังทีหลังหรือแนะนำให้เราไปหาเนื้อหาตรงนี้นะ ไปหาในไป่ตู้หรือห้องสมุด
ได้ทุนซีเอสซี
ก่อนขอทุนได้ศึกษาเรื่องทุนมาสองปี แต่ไม่ได้ขอเพราะคุณพ่อไม่อยากให้ไปเรียนต่างประเทศเนื่องจากเป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้องสี่คนแล้วที่สำคัญคือสนิทกับคุณพ่อ พอจบเราก็ทำงานในไทยความที่ชอบเรื่องทุนก็เลยแอบขอทุนโดยไม่ได้บอกที่บ้าน พอได้ทุนคุณพ่อเจอเอกสารตกใจโทรมาถามเราที่ทำงานว่าไปขอทุนมาได้อย่างไร แลยเล่าให้ฟังว่าติดตามเรื่องทุนมาสองปีแล้ว เราไปหาหนังสือเกี่ยวกับทุนอย่างที่ซีเอ็ด ทุนรัฐบาลจีน ทุนจีนทั้งอ่านจากหนังสือและค้นหาจากอินเตอร์เน็ตว่าทุนที่มาจีนมีอะไรบ้าง ซึ่งเขาก็จะแบ่งออกมาว่าเป็นทุนเต็มจำนวน ทุนครึ่งหนึ่ง อะไรอย่างนี้ ทุนซีเอสซีจะเป็นทุนรัฐบาลจีนที่ให้เต็มจำนวน ทุนขงจื่ออาจจะให้แต่ที่เรียนหรืออะไรอย่างนี้ต้องดูรายละเอียด นอกจากนี้ก็ยังมีทุนของมณฑล ทุนของมหาวิทยาลัย
ขอทุนยากไหม
เราต้องสมัครในเว็บไซต์เขาก่อน แล้วก็รวบรวมเอกสารที่เขาต้องการส่งมาจีน ตอนนั้นส่งมาสามมหาวิทยาลัย มีที่หนึ่งเรียกมาให้ทุนปริญญาโทหลักสูตภาษาอังกฤษ แต่เราตั้งใจว่าเรามาจีนอยากได้ภาษาจีน ยังไงก็ต้องเรียนภาษาจีน ต่อมามหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่นี้ก็ติดต่อมาทางอีเมลแต่เขาไม่ได้สัมภาษณ์เราทางสไกป์ เขาสัมภาษณ์ทางอีเมล แล้วเขาก็ส่งเป็นจดหมายภาษาจีนมาว่าอยากได้เอกสารเพิ่มเติมโน่นนี่นั่น ตอนนั้นภาษาเราก็ไม่ได้ ก็ใช้กูเกิล ทรานสเลท ก็อปปี้วาง ๆ อย่างนี้ แล้วส่งเอกสารกลับไปหลายรอบ แล้วเขาก็เงียบหายไปเลย คิดว่าคงไม่ได้แล้ว แต่ในที่สุดเขาก็ส่งเอกสารตอบรับมา ตอนที่มาเรียนปูพื้นภาษาจีนก็มีเราเป็นคนไทยคนเดียวนอกนั้นต่างชาติหมด
ทุนที่ได้มาพอใช้ไหม
ไม่พอ ต้องเก็บหอมรอมริบ ประหยัดเอา คือทำกับข้าวกินเอง กินข้าวข้างนอกน้อยมาก สังสรรค์กับเพื่อนน้อยลงและพยายามไม่ไปเที่ยว
ทีวีฟิล์มที่เรียน เขาแบ่งเป็นสาขากำกับการแสดง ควบคุมการผลิต พิธีกร เราเลือกเรียบควบคุมการผลิตเขาก็จะให้เราเรียนตั้งแต่ตอนแรกเลยว่าถ้าเราจะทำหนังเรื่องหนึ่งหรือซื้อหนังมาเรื่องหนึ่งเราจะต้องลงทุนอะไรยังไงบ้าง เขาจะสอนแบบเจาะลึกอย่างหุ้นก็ต้องเรียน คำนวณ การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจอะไรอย่างนี้ ความที่เราอยากรู้ว่าสาขาอื่น ๆ เรียนอย่างไร เราก็จะขอไปนั่งฟังนั่งเรียนด้วยซึ่งเขาก็อนุญาต เขาจะลงลึกตั้งแต่ปีแรก อย่างการถ่ายหนังเป็นอย่างไร การวัดแสงสีเสียง อย่างการกำกับ การเขียนบทละครบทภาพยนตร์ขั้นแรกควรเตรียมอะไรทำอย่างไร อย่างหลักสูตรพิธีกรก็เคยไปนั่งฟัง คือมหาวิทยาลัยที่เราเรียนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการแสดง เขาก็จะส่งพวกที่เรียนสาขาพิธีกรไปเรียนกับสาขาการแสดงด้วย เขาจะส่งไปฝึกพูดเพราะมหาวิทยาลัยนี้เน้นว่าแม้จะอยู่มณฑลไหนต้องพูดภาษาจีนได้ชัด เพราะแต่ละมณฑลก็มีภาษาพูดที่แปร่งออกไปหรือบางทีก็มีภาษาท้องถิ่น ทำให้พูดภาษาจีนกลางไม่ชัด เขาก็จะปูพื้นตั้งแต่สำเนียงการพูดว่าคุณต้องพูดภาษาจีนกลางให้ชัดซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเป็นพิธีกรหรือนักแสดงต่อไป เพราะที่จีน ดารา นักร้อง นักแสดงมักต้องผ่านจากมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องนี้มาซึ่งต่างจากบ้านเรา ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะเขามีสถานีโทรทัศน์เยอะมากนักแสดงต้องมีฝีมือจริง ๆ ถึงจะได้ กว่าจะมาเป็นนักแสดงอันดับหนึ่งกว่าจะมีชื่อเสียงอย่างกงลี่ เติ้งเชา ต้องฟันฝ่ามามาก
จุดเด่น ๆ ที่ได้จากการเลือกเรียนทีวีฟิล์มคือได้ปฏิบัติจริง ได้เรียนอย่างลึก ที่คิดว่าเราเอาออกมาทำงานได้จริง เพื่อนที่เรียนด้วยกันทั้งรุ่นเดียวกันรุ่นพี่รุ่นน้องดีมากคอยแนะนำคอยช่วยกัน ชวนกันไปดูงานซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับฟิล์ม อคาเดมี(Film Academy) และความร่วมมือกับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะเชิญวิทยากรซึ่งเป็นบุคคลในวงการมาบรรยายพิเศษและมักให้โอกาสนักศึกษาที่สนใจไปร่วมงานได้
น้องริญญารัศมิ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า ก่อนจะเลือกเรียนหรือเลือกทำอะไร ให้ชั่งใจให้มั่นว่าเราชอบอะไร จากนั้นให้หาข้อมูล ลงมือ อย่ายอมแพ้แม้เจออุปสรรคยังไง อย่างที่เธอเจอเรื่องกำแพงภาษาที่เคยคิดว่าจะถอดใจ พอทะลายมันได้ก็จะมีความสุข ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น จริง ๆ