อย่าลืมบุญคุณในหลวง
  2016-10-26 16:38:57  cri

โอ้พระร่มโพธิ์ทองของทวยราษฎร์

ไทยทั้งชาติซึ้งพระคุณอุ่นเกษา

ได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา

พระเมตตาปกเกล้าฯเนาเนิ่นนาน

ทุกแห่งหนเขตคามสยามรัฐ

ยามวิกฤตภัยพิบัติเกินกล่าวขาน

ทรงแก้ไขจนชาวไทยพ้นภัยพาล

ได้ชื่นบานด้วยเดชะพระบารมี

เจ็ดทศวรรษทรงเกื้อหนุนไทยอุ่นหล้า

สี่ห้าชั่วนานเนาสมศักดิ์ศรี

ผองชาวไทยร่วมเย็นทั้งธาตรี

เพราะเรามีพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักใจ

ชั่วปู่ย่าตายายลูกหลานเหลน

ไม่เคยเว้นจงรักภักดีใฝ่

ทั้งเมื่อนี้ เมื่อหน้า นานเท่าใด

เสด็จสวรรคาลัยไทย-จีนรำลึก

ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ภาคภาษาไทย

สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศแห่งชาติจีน

(ผศ.เกื้อพันธ์ นาคบุปผา ประพันธ์)

อย่าลืมบุญคุณในหลวง

แต่เล็กจนโตเตี่ยแม่พร่ำบอกพวกเราว่าอย่าลืมบุญคุณในหลวง เพราะในหลวงเราจึงมีน้ำทำไร่ทำนา มีปลานิลกิน มีโอกาสมากกว่าเก่า

เมื่อเราย้ายจากครอบครัวใหญ่แบบครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนโดยทั่วไปมาอยู่บ้านปลายนาที่มีแต่ผืนนากับต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติจากความกรุณาของนกหนูที่คาบมากินเนื้อแล้วทิ้งเม็ดไว้ ยามเม็ดพืชพันธุ์ที่แก่จัดเหล่านี้เจอเข้ากับดินเจอเข้ากับน้ำเป็นความลงตัวก็งอกงามเติบใหญ่เป็นพุทรา ตะขบ ตะโก มะขามเทศ ให้พวกเราได้พึ่งพาอาศัยเป็นอาหารอันโอชะของสมัยนั้น ความเป็นคนขยันของเตี่ยแม่เกณฑ์ลูก ๆซึ่งยังเป็นเด็กมาช่วยกันปลูกต้นไม้สารพัดทั้งกล้วย ขนุน มะละกอ มะม่วง มะเฟือง น้อยหน่า ลูกจัน มะพร้าว ส้มโอ ส้มเขียวหวาน และยังปลูกผักต่าง ๆ เอาไว้ด้วย ช่วงแรก ๆ เราอาศัยน้ำฝนและน้ำจากบ่อบาดาลมารด ต่อมาเตี่ยเริ่มขุดสระขนาดใหญ่ 3 สระเวลาฝนตกจึงมีที่เก็บกักน้ำ นอกจากตุ่มเก็บน้ำฝนที่ตั้งเรียงรายกันอยู่รอบบ้าน ในสระปลูกดอกบัว รอบสระทำเป็นแปลงปลูกผักและปลูกผลไม้มะพร้าว กล้วย ขนุน ฝรั่ง ส้ม มะม่วง สลับกันไป มีการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่และเลี้ยงปลาด้วย จากบ้านสองชั้นซึ่งเป็นบ้านยกพื้นหลังย่อม ที่ใต้ถุนไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมากมายเพียงไว้สอดจอบเสียมอุปกรณ์ทำมาหากินหลบแดดหลบฝนเท่านั้น บนชั้นสองยังเจียดส่วนหนึ่งเป็นยุ้งเก็บข้าว ช่วงแรกบ้านหลังนี้โดดเด่นมองเห็นแต่ไกลเพราะตอนที่ปลูกบ้านใหม่ ๆ บริเวณนั้นเป็นที่ว่างเปล่าที่มีเพียงต้นตาลสองต้นอยู่เยื้องหน้าบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปบ้านกลับถูกแมกไม้ปกคลุมจนไม่เห็นแม้แต่หลังคา

ยังจำได้เมื่อกลับจากทำไร่ทำนาภาคเช้าเข้ามาพักกินข้าวเที่ยงที่บ้านเตี่ยกับแม่จะรีบกินข้าว แล้วก็จัดการเอาขนุนสุก ฝรั่ง มะม่วงที่มีทั้งมะม่วงมันมะม่วงสุก น้อยหน่า มะเฟือง มันสำปะหลัง มันเทศ ฯลฯ แล้วแต่ว่าช่วงนั้นในไร่จะมีผลไม้อะไร นอกจากนี้บางทีก็มีผักที่เก็บมาจากไร่นาอย่างถั่วฝักยาวที่แม่ชอบทำค้างปลูกริมคันนา พริก มะเขือต่าง ๆ ถ้าเหลือกินก็เก็บไปขาย บางทีพวกเราก็มีส่วนช่วยหยิบผักและผลไม้เหล่านี้ส่งให้เตี่ยกับแม่จัดเรียงใส่หาบทั้งสองข้าง แม่จะหาบผักผลไม้ไปขายในหมู่บ้านเป็นประจำ ขายเสร็จกลับถึงบ้านใกล้บ่ายสามแม่จะวางหาบไว้ที่บ้านแล้วรีบไปทำไร่ทำนาในภาคบ่ายต่อ แม่จะคุยให้พวกเราฟังอย่างมีความสุขว่าลูกค้าชมว่าผักผลไม้ของแม่สดใหม่รสชาติดีที่สำคัญไม่แพงเหมือนที่ร้านในหมู่บ้าน

เราย้ายมาอยู่บ้านที่ทุ่งนาได้ไม่กี่ปีก็มีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตั้งผ่านที่นา ตามมาด้วยคลองชลประทาน น้ำในคลองผันมาจากเขื่อนวชิราลงกรณ์(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนแม่กลอง) ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้การทำนาที่เดิมทำได้ปีละครั้งเพราะต้องพึ่งน้ำฝนเป็นหลัก มาเป็นทำได้ปีละสองครั้งได้ทั้งข้าวนาปีและข้าวนาปรัง พืชผักผลไม้ที่ปลูกไว้ใช้น้ำฝนและน้ำคลองแทนน้ำบาดาล และปลูกได้ในพื้นที่กว้างกว่าเดิม ชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวมากขึ้นโดยอาศัยน้ำคลองเป็นหลัก จำได้ว่าตอนคลองผ่านที่นาใหม่ ๆ แม่จัดการช้อนปลาจากสระที่มีทั้ง ปลาช่อน ปลาหมอ เอาไปปล่อยในคลองให้มันขยายพันธุ์ แถมยังปลูกบัวไว้ในคลอง ปลูกต้นไม้ไว้ข้างคันคลองทั้งมะพร้าว มะม่วง ขนุน กล้วย มะกอกน้ำ แม้ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกคนที่ผ่านไปมาเก็บไปจนเกือบหมดแต่แม่ก็บอกไม่เป็นไรแบ่ง ๆ กันไป หลายครั้งที่มีการขุดลอกคลองทำให้ต้นไม้ถูกรถขุดขุดขึ้นไปทิ้งหรือถูดหักทำลายบ้างแต่แม่ก็จะปลูกทดแทนปัจจุบันต้นไม้เหล่านี้ยังให้ผลอยู่

แม่เล่าให้ฟังว่าตอนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนวชิราลงกรณ์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2510 นั้นแม่กับน้าได้ไปเฝ้ารับเสด็จมีประชาชนจากทั่วสารทิศมากันเนืองแน่นไปหมด ต่อมาสามีของน้าได้เข้าทำงานที่เขื่อนแห่งนี้และพาครอบครัวมาพักที่บ้านพักในเขื่อน และยังเป็นผู้นำปลานิลมาให้แม่เลี้ยงในสระ โดยบอกว่านี่เป็นปลาที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทรงได้พันธุ์มาจากญี่ปุ่นเชียวนะ ณ ตอนนั้นเรารู้กันเพียงเท่านั้น เมื่อโตได้อ่านหนังสือจึงรู้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฏราชกุมาร ได้ทูลเกล้าฯถวายพันธุ์ปลานิลจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 50 ตัวแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2508 ทรงเลี้ยงไว้ในบ่อปลาที่สวนจิตรลดา ทรงปล่อยปลาด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานปลานิลที่เพาะพันธุ์จากบ่อในสวนจิตรลดาไปขยายพันธุ์ทั่วพระราชอาณาจักร โดยพระราชทานชื่อพันธุ์ใหม่ว่า "ปลานิล"ทับศัพท์วิทยาศาสตร์(Tilapia nilotica) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509

มีอยู่วันหนึ่งพ่อค้าเร่นำภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ใส่กรอบเรียบร้อยไปร้องเรียกขายอยู่หน้าบ้าน แม่ออกมาดูและชอบมากจึงซื้อไว้และนำขึ้นไปติดไว้บนบ้านในจุดสูงสุดและติดอยู่จนทุกวันนี้ แม่บอกว่าบ้านเรายังไม่มีรูปในหลวงกับพระราชินีสวย ๆ แบบนี้ วันนี้เรามีโอกาสแล้ว สมัยนั้นทางยังเป็นทางเกวียนการเข้าออกไปตลาดในเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย หลายอย่างเราจึงพึ่งพ่อค้าเร่

ในวัย 89 ปีสิ่งที่แม่ไม่เคยลืมเลยคือทุกวันแม่จะขอให้พวกเราพาไปดูคลองวันละหลายรอบ บางทีเพิ่งกลับมาหยกๆก็ขอให้พาไปใหม่เข้าใจว่าคงเกิดจากอาการหลงลืมตามสภาพวัย แต่น่าแปลกเมื่อทุกครั้งที่ไปถึงคลองแม่ไม่เคยลืมที่จะพูดว่าเรามีน้ำทำไร่ทำนามีปลานิลกินมีโอกาสดีกว่าเก่าเพราะในหลวงอย่าลืมบุญคุณในหลวงนะ แม่ไม่เคยลืมบุญคุณของในหลวง และคำพูดเหล่านี้แม่ไม่ได้พูดเฉพาะกับพวกเราแต่แม่พูดกับชาวบ้านและแทบทุกคนที่แม่รู้จัก

-----------------------------------------------------------------------------

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040