วันตรุษจีนเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของชาวจีนทั้งปวง ไม่ว่าชาวจีนในประเทศจีนหรือชาวจีนในต่างประเทศ ช่วงนี้ ท้องที่ต่างๆ ของจีนล้วนมีการจัดงานฉลองตรุษจีนตามขนบประเพณีของตน
ทำไมพูดเช่นนี้ เพราะว่าจีนเป็นประเทศกว้างใหญ่มาก จากภาคใต้จนถึงภาคเหนือ จะมีความแตกต่างกันอย่างมากทีเดียว อย่างเช่นในกรุงปักกิ่ง อนุญาตให้จุดประทัดหรือดอกไม้ไฟตั้งแต่คืนวันส่งท้ายปีเก่าหรือ "ฉูซี" ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคมไฟ ซึ่งทำให้ชาวเมืองได้บรรยากาศความทรงจำสมัยเด็กๆ ส่วนกิจกรรมกลางวันมักจะมีการเที่ยวชมงานวัด ที่จัดหลายแห่งทั่วเมืองปักกิ่งตามประเพณีโบราณของกรุงปักกิ่ง
จากปักกิ่งเดินทางไปภาคใต้ประมาณ 2,000 กว่ากิโลเมตรมาถึงเขตแต้จิ๋ว ปัจจุบัน เขตแต้จิ๋วยังคงห้ามการจุดประทัดเหมือนท้องที่ส่วนใหญ่ของจีน เพราะเป็นห่วงเรื่องไฟไหม้ แต่ที่นี่มีบรรยากาศเข้มข้นอีกอย่างหนึ่งก็คือการไหว้เจ้า
ตามตำราประวัติศาสตร์มีการจารึกว่า เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน สมัยฉินซีฮ่องเต้ยกทัพบุกก๊กต่างๆ เพื่อรวมจีนเป็นเอกภาพ ช่วงนั้นมีสงครามเกิดขึ้นบ่อยครั้งในท้องที่ต่างๆ มีชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องอพยพจากภาคกลางของจีน ซึ่งเป็นเขตที่มีสงครามการสู้รบมากที่สุด และเดินทางจากเขตนี้ไปไกล สุดท้ายมาถึงเขตแต้จิ๋ว ซึ่งถือว่าเป็นเขตทุรกันดานในสมัยนั้น แต่คนเหล่านี้พบว่าเขตนี้มีความสงบ มีอากาศอบอุ่น ที่นาเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว อีกทั้งยังติดกับทะเลด้วย ไม่ต้องห่วงเรื่ออาหารการกิน จึงตัดสินใจปักหลักที่นี่
แล้วคนกลุ่มนี้ได้ตั้งชื่อให้เขตนี้ว่า "แต้จิ๋ว" หมายถึงเขตที่มีน้ำมีปลา จะทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีกินมีใช้ และผู้คนกลุ่มนี้ก็ได้ชื่อว่าชาวแต้จิ๋ว แต่พวกเขาเป็นชาวจีนชาวฮั่นแท้ๆ สิ่งที่ติดตัวมากับพวกเขา นอกจากเสื้อผ้าเงินทองแล้ว ยังมีวิถีชีวิตและขนบประเพณีดั้งเดิมของจีนโบราณ ประเพณีการไหวเจ้าที่มีความหลากหลายก็มาถึงเขตแต้จิ๋วและได้รับการรักษาและสืบทอดจนถึงทุกวันนี้
กล่าวได้ว่า คนทางเหนืของจีนก็มีการไหว้เจ้าหรือเข้าวัดบ้างแต่ไม่มาก แต่มาถึงเขตภาคใต้ โดยเฉพาะเขตแต้จิ๋ว เกือบทุกครอบครัวมีการตั้งป้ายไหว้พระพุทธเจ้า เจ้าแม่กวานอิมหรือเทพเจ้าองค์อื่นๆ ตามสถิติทางการ ปัจจุบัน เขตแต้จิ๋วมีวัดพุทธศาสนาทั้งหมดกว่า 400 วัด นอกจากนั้น ยังมีวัดลัทธิเต๋าที่ไหว้ "เหล่าย้า" อีกจำนวนหนึ่ง มีผู้นับถือศาสนาจำนวนกว่าล้านคน
แต่ที่จริงแล้ว ชาวแต้จิ๋วส่วนใหญ่มีประสบการณ์และความเคยชินในการไหว้เจ้า ประชาชนของเขตนี้ฝากความหวังความปรารถนาด้วยพิธีการไหว้เจ้า ซึ่งล้วนเป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดจากจีนโบราณ เทศกาลที่สำคัญมี 8 เทศกาล ได้แก่ วันส่งท้ายปีเก่าหรือ "ฉูซี" วันตรุษจีน เทศกาลหยวนเซียว(ภาษาแต้จิ๋วเรียกง่วนเซียว)หรือเทศกาลโคมไฟ วันเช็งเม็ง เทศกาลตวนอู่หรือเทศกาลขนมบ๊ะจ่าง วัน 15 ค่ำเดือน 7 เทศกาลจงชิวหรือวันไหว้พระจันทร์ และวันตงจื้อหรือเทศกาลเข้าฤดูหนาว
วันส่งท้ายปีเก่าหรือ "ฉูซี" เป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าและเตรียมต้อนรับปีใหม่ เป็นวันสำคัญที่สุดก่อนวันตรุษจีน ตามความทรงจำสมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่ในบ้านตื่นแต่เช้า เตรียมทำอาหารการกินของไหว้เจ้าหลายๆ ชนิด ทั้งครอบครัวเต็มไปด้วยกลิ่นหอมของอาหาร ซึ่งวันปกติจะไม่ค่อยมีโอกาสรับประทาน พอถึงช่วงบ่าย สมาชิกทั้งครอบครัวจะต้องอาบน้ำอาบท่าให้สะอาด ใส่เสื้อชุดใหม่เรียบร้อย ทำความสะอาดบ้านทั้งบริเวณ เพราะว่าตามประเพณี วันขึ้น 1 ค่ำหรือชิวอิดจะห้ามทำความสะอาดบ้าน
หลังจากนั้น ก็เริ่มเซ่นไหว้บรรพบุรุษของตระกูล โดยมีการวางเนื้อสัตว์ 3 อย่างคือ หมู ไก่และปลา ผักหลายอย่าง และขนนแต้จิ๋วชนิดต่างๆ หลากสีสันวางเต็มโต๊ะ เด็กในบ้านได้กลิ่นหอม ก็อยากให้อาหารมื้อเย็นมาถึงเร็วๆ ซึ่งอาหารมื้อเย็นเป็นมื้อสำคัญที่สุดในรอบปี ลูกหลานที่ทำงานต่างถิ่นล้วนพยายามเดินทางกลับบ้านเพื่อทานข้าวพร้อมหน้าทั้งครอบครัว
ระหว่างทานข้าว ก็มีประเพณีสำคัญคือการให้ "เงินแต๊ะเอีย" หรือ"อั่งเปา" ผู้ใหญ่ในบ้านจะให้ "เงินแต๊ะเอีย" แก่เด็กๆ ส่วนคนที่ทำงานแล้วจะให้ "อั่งเปา" แก่ผู้ใหญ่ ทั้งนี้ มีความหมายหวังว่าเด็กจะโตขึ้นอย่างปลอดภัยราบรื่น ผู้ใหญ่คนแก่มีสุขภาพดีและอายุยืน
วันตรุษจีน ช่วงระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำถึงวันขึ้น 4 ค่ำ หรือวันชิวอิถึงวันชิวสี่ ตอนเช้าของวันชิวอิด เมื่อตื่นขึ้นมา ผู้ใหญ่ในบ้านก็เริ่มไหว้บูชาเทพเจ้าที่คุ้มครองประตูบ้าน หลังจากนั้นก็ไหว้บรรพบุรุษอีกครั้ง อาหารที่ใช้ไหว้ล้วนเป็นอาหารเจ หลังอาหารเช้า เด็กวัยรุ่นก็จะออกจากบ้านไปเยี่ยมผู้ใหญ่ของครอบครัวเพื่อขอพรปีใหม่ ภาษาแต้จิ๋วว่า "ไป้นี้" เริ่มตั้งแต่เช้านี้ ทั้งเมืองและชนบทของเขตแต้จิ๋วก็เต็มไปด้วยบรรยากาศคึกคักของ การเดินทางเพื่อไป"ไป้นี้" กับญาติพี่น้อง เพื่อนๆ ที่สนิดเป็นต้น วันหนึ่งอาจจะไปบ้านเพื่อนบ้านญาติพี่น้องหลายสิบครอบครัวก็ได้
(In/lin)