โจว โหย่วกวง (1)
  2017-03-22 14:49:43  cri

โจว โหย่วกวง นักภาษาศาสตร์ ผู้คิดค้นการถ่ายทอดเสียงภาษาจีนให้เป็นตัวอักษรโรมัน หรือที่เรียกว่า "พินอิน" แต่น่าเสียใจว่า ท่านเสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 111 ปี เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่ง หนึ่งวันหลังจากวันคล้ายวันเกิดของท่าน

ท่านโจว เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1906 ในสมัยราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน พื้นเพเดิมของท่านอยู่ที่ซอยชิงกั่ว เมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู ซอยชิงกั่วมีชื่อเสียงเพราะว่าเมื่อทศวรรษปีค.ศ. 1900 มีนักภาษาศาสตร์ถึง 3 ท่านซึ่งรวมท่านโจว โหย่วกวงด้วยล้วนถือกำเนิดอยู่ในซอยนี้ นักภาษาศาสตร์ 3 ท่านนี้ต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาษาจีนร่วมสมัย

ท่านโจว โหย่วกวงสอบเข้ามหาวิทยาลัยในนครเซี่ยงไฮ้ โดยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเอก และภาษาศาสตร์เป็นวิชาโท ท่านเห็นว่า ภาษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของสังคมและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านโจว ไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน แล้วกลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในนครเซี่ยงไฮ้ แล้วไปทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง และได้ไปประจำอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ กรุงลอนดอน อังกฤษตามลำดับ ตอนที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อปีค.ศ.1949 ท่านโจวกลับมาทำงานในจีนโดยสอนหนังสือที่สถาบันเศรษฐศาสตร์และการคลังแห่งนครเซี่ยงไฮ้ เมื่ออายุ 49 ปี ด้วยการแนะนำของอธิการบดีสถาบันดังกล่าว ท่านโจว เปลี่ยนไปทำงานด้านภาษาศาสตร์ในคณะกรรมการปฏิรูปภาษาและอักษรแห่งชาติจีนซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง

แม้ว่าชีวิตครึ่งแรกของท่านโจว ทำงานด้านเศรษฐศาสตร์และธนาคารก็ตาม แต่

ท่านให้ความสนใจด้านภาษาศาสตร์มาโดยตลอด ท่านถนัดภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาญี่ปุ่น ท่านระบุว่า ภาษาทำให้มนุษยชาติแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ ภาษาเป็นอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์พ้นจากความป่าเถื่อน และพัฒนาก้าวหน้าให้ทันสมัย ตอนทำงานในยุโรป ท่านสังเกตว่า ชาวยุโรปให้ความสำคัญกับภาษาเป็นพิเศษ จึงซื้อหนังสือภาษาศาสตร์มาศึกษาด้วยตนเอง และได้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับภาษาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการจัดคณะกรรมการปฏิรูปภาษาและอักษรแห่งชาติจีนขึ้น ก็เชิญท่านโจวไปร่วม และมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างระบบพินอินด้วย ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จในปี ค.ศ.1958

การเกิดขึ้นของระบบพินอินนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาภาษาจีน ภาษาจีนไม่ใช่ภาษาสะกด ตัวอักษรจีนมีจำนวนมากกว่าหมื่นตัว มีขีดเยอะ มีโครงสร้างสลับซับซ้อน การเขียนการอ่านต่างก็ยาก ก่อนการใช้ระบบพินอิน มีชาวจีนมากถึงร้อยละ 85 ที่ไม่สามารถอ่านตัวอักษรจีนได้ แต่หลังจากใช้ระบบพินอินแล้ว อัตราการรู้หนังสือของชาวจีนเป็นร้อยละ 95 ในปัจจุบัน ระบบพินอินประกอบด้วยพยัญชนะ 21 ตัว ตัวสระ 24 ตัว และเสียง 4 เสียง ถือเป็นระบบที่มีหลักวิทยาศาสตร์ และใช้สะดวก จึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ช่วยทำให้ภาษาจีนแพร่หลายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน พินอินยังถูกใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการพิมพ์อักษรภาษาจีนในคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

ท่านโจว โหย่วกวงทำงานด้านภาษาศาสตร์เป็นเวลา 30 ปี ได้เขียนหนังสือด้านภาษาศาสตร์กว่า 20 เล่ม อาทิ "ประวัติศาสตร์การพัฒนาตัวอักษรแห่งโลก" "หลักการทั่วไปของการปฏิรูปตัวอักษรจีน" "รวมวิทยานิพนธ์ด้านภาษาของโจว โหย่วกวง" เป็นต้น เมื่ออายุมากถึง 70 ปีแล้ว ท่านโจวยังช่วยแปลสารานุกรมบริเทนอีกด้วย ตลอดชีวิตของท่านโจว ได้เขียนหนังสือเรื่องต่าง ๆ กว่า 40 เล่ม ในจำนวนนี้ มีเกือบครึ่งหนึ่งเขียนขึ้นหลังจากปลดเกษียณแล้ว

แม้ว่าปลดเกษียณแล้ว ท่านโจวยังคงทำงานที่บ้านต่อไป เมื่ออายุย่างเข้า 90 ปี ท่านโจวยังคงยืนหยัดเขียนบทความต่าง ๆ โดยเฉลี่ยแล้วเดือนละบท อีกทั้งออกหนังสือปีละเล่ม หนังสือที่เขียนขึ้นในช่วงนี้ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ท่านระบุว่า วิชาความรู้ก็มีลักษณะความเป็นโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมของแต่ละประเทศประกอบด้วยสองส่วนคือ วัฒนธรรมสากล ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ถือเป็นส่วนร่วมของวัฒนธรรมโลก อีกส่วนหนึ่งคือวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา และศิลปะของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกัน ท่านโจวแนะนำให้เรียนรู้วัฒนธรรมยุคปัจจุบันก่อน โดยใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วัฒนธรรมยุคปัจจุบัน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
文化
v โจว โหย่วกวง (2) 2017-03-22 14:51:19
社会
v 

โจว โหย่วกวง -1

 2017-03-22 14:49:43
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040