อินทนิล อินไชน่า โฉบชมเสียนหยาง (ตอนที่ 2)
  2017-05-08 11:19:19  cri

คราวที่แล้วได้เล่าถึงการเดินทางของคณะผู้สื่อข่าวจีนและต่างชาติ 20 ประเทศเพื่อร่วมเป็นสักขีพยานส่านซีก้าวหน้าก้าวไกล กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยซีอาร์ไอออนไลน์และมณฑลส่านซี ระหว่างวันที่ 23 – 29 เมษายนที่ผ่านมา ได้เล่าถึงสองวันสุดท้ายได้ไปเยี่ยมชมเมืองเสียนหยางเมืองหลวงของจีนสมัยราชวงศ์ฉิน (221 -206 ก่อนปีคริสต์ศักราช) โดยเมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วได้ตั้งเมืองหลวงที่นี่มี นอกจากไปสวนอุตสาหกรรมทอผ้าเสียนหยาง หอชิงเว่ยโหลว หมู่บ้านไป๋ชุนหมู่บ้านต้นแบบของมณฑลส่านซีที่พัฒนาอย่างทันสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญแล้วยังได้ไปเยี่ยมชมอีกหลายแห่ง ดังนี้

หมู่บ้านหยวนเจียชุน หมู่บ้านโบราณที่คงสถาปัตยกรรมแบบเดิม ๆ แม้ส่วนของอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ก็เน้นใช้สถาปัตยกรรมจีน เมื่อผ่านประตูใหญ่หน้าหมู่บ้านเข้ามาแล้วจะเห็นรูปปั้นของประธานเหมา เจ๋อตงที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวจริงหลายเท่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวกันมาก อาคารร้านค้ารูปแบบเก่าตั้งเรียงรายกันอยู่สองข้างทางมีทั้งข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน ซึ่งทำกันสด ๆ ใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นอาหารการกินพื้นบ้าน มีเจ้าหนึ่งกลั่นน้ำมันเรปซีดด้วยวิธีดั้งเดิมแบบโบราณ ร้านขายน้ำผึ้งที่เจ้าของร้านบอกว่ารังผึ้งมาจากสวนผึ้งที่เขาเลี้ยงเอง มีร้านบดพริกที่ใช้เครื่องบดดั้งเดิมเป็นแท่นหินขนาดใหญ่ และเครื่องบดที่มีรูปทรงคล้ายกลอง ในหมู่บ้านนี้มีทั้งชุมชนฮั่นและชุมชนหุยที่นับถือศาสนาอิสลาม ทว่าอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีทั้งศาลเจ้าและพระพุทธรูป มีโฮมสเตย์และโรงแรมที่แต่ละที่มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและน่าพักมาก ๆ ริมถนนทุกสายในหมู่บ้านขุดเป็นท่อระบายน้ำ เห็นท่อสะอาดน้ำใสแจ๋ว แปลว่าชุมชนรวมแรงร่วมใจกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างดี

มีร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีวงซอบรรเลงกันสด ๆ มีหมอนวดมาให้บริการนวดไหล่ให้ลูกค้าด้วยสนนราคา 150 บาทสำหรับการนวด 20 นาที ผู้สื่อข่าวลาวและไทยลองนวดดู และต่างยกนิ้วให้ว่าสุดยอด โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวลาวบอกว่าความปวดเมื่อย อาการมึนหัวหายเป็นปลิดทิ้งเลย ตบท้ายด้วยคำว่า เอ้อ..คนจีนก็นวดเก่งนะ

ร้านชาในชุมชนหุยเชื้อเชิญให้เข้าไปจิบชา เขาว่ามีผีอิ่งหรือหนังตะลุงให้ชมด้วย คณะเราพร้อมใจกันเข้าไปดู ผู้สื่อข่าวจากยุโรปและแอฟริกาสนใจผีอิ่งเป็นพิเศษพากันไปรุมบันทึกภาพคุณลุงผู้เชิดและพากษ์หนัง การจิบชาและดูหนังตะลุงก็ให้บรรยากาศที่ดีไปอีกแบบ

หลายคนเมื่อรับประทานอาหารเย็นและเช็กอินที่โรงแรมเทียนหยวน จิ่วเตี้ยนแล้วพากันออกไปท่องราตรีที่บาร์ในหมู่บ้าน เห็นว่าบรรยากาศดีทีเดียว ไปครั้งนี้ยังตระเวนไม่จุใจ วาดหวังไว้ว่าคราวหน้าจะมาหมู่บ้านโบราณแห่งนี้ใหม่ ไปด้วยกันไหมคะ

วันที่ 29 เมษายน 2017 ไปตำบลชาฝู อำเภอจิ่นหยาง ตำบลที่มีผลผลิตชาปีละ 800 ตัน จุดแรกที่ไปชมเป็นโชว์รูมชา ได้จิบชาหลายชนิดและนำชมสายการผลิตชาโดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์นำเข้าที่ทันสมัย ได้ชมชาอัดแท่งที่มีการใส่ทองลงไปหรือจินฮัวโดยเริ่มมีการใส่ลงทองไปในชาตั้งแต่ปี 1068 ชาฝูเป็นใบชาที่เก็บในฤดูร้อน ขณะที่ชาอัดแท่งจะเก็บในฤดูใบไม่ร่วง เข้าใจว่าน่าจะเป็นใบชาที่แก่จัดเวลาชงสีของชาจะเข้ม ที่นี่ไม่มีการปลูกชาแต่มีการนำใบชาจากยูนนาน หูหนานและเสฉวนมาผลิตเป็นชาอัดแท่งแบบชาผูเอ่อร์

จากโชว์รูมได้ไปเยี่ยมชมหมู่บ้านชาฝู ซึ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาก ภายในหมู่บ้านมีศาลเทพเจ้าแห่งชา มีการสาธิตการชงชาและเสิร์ฟชาด้วยกาชาที่เป็นกาทองเหลืองปากยาว มีร้านอาหาร และร้านค้าหลากหลายคล้ายกับหมู่บ้านหยวนเจียชุน จุดเด่นที่น่าสนใจคือร้านชาโบราณที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยเป็นการสืบทอดกิจการมาจากบรรพบุรุษ จัดแสดงอุปกรณ์ตั้งแต่ตะกร้าเก็บชา อุปกรณ์อัดแท่ง วัสดุที่ใช้ในการเก็บชาและส่งชาไปขายโดยใช้ม้าขนส่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม เครื่องชงชา ชาอัดแท่งอายุ 817 ปี และชาอัดแท่งที่ใหญ่ที่สุดหนัก 168 ชั่ง

จุดสุดท้ายเป็นการแนะนำสภาพโดยรวมของอุตสาหกรรมชาในอำเภอจิ่นหยาง มีบริษัทผู้ผลิตชา 51 บริษัท บุคลากร 10,000 คน ปีที่แล้วมียอดการผลิต 2,000 ตัน มุ่งสืบสานวัฒนธรรมชาและส่งเสริมการสร้างแบรนด์ชาของท้องถิ่น โดยมีการตั้งศูนย์วิจัยชา เชิญผู้เชี่ยวชาญ 50 คนมาช่วยทำการศึกษาวิจัยในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ยังเคยจัดโรดโชว์ที่มาเลเซีย คาซัคสถานและฮ่องกง และได้จัดโปรโมทชาในงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2016 ด้วย

แม้ที่นี่จะไม่ใช่ที่ปลูกชา แต่ผู้ประกอบการก็สามารถรักษาคุณภาพของชาให้คงที่ไม่เสียหายในขณะขนส่ง โดยวัตถุดิบที่นำมาจากหูหนานและยูนนานได้ผ่านกระบวนการผลิตบื้องต้นที่นั่น จนกลายเป็นชาที่เรียกกันว่าเฮยเหมาที่ได้มาตรฐานแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลตรวจสอบคุณภาพที่มีทั้งภูมิความรู้และประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญในการตรวจสอบคุณภาพชา มีการสุ่มตรวจตลอดเวลา ก่อนที่จะขนส่งมาที่อำเภอจิ่นหยางเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตขั้นต่อไป

ใบชาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเมื่อพันกว่าปีก่อน โดยยุคนั้นต้องใช้ฝูงม้าขนชาผ่านพื้นที่ที่เป็นขุนเขาซึ่งหลายจุดก็มีหุบเหวสูง จึงต้องอาศัยม้าเป็นสำคัญ จนมีคำกล่าวว่า ฉาหม่ากู่เต้า (ฉาคือชา หม่าคือม้า กู่คือสมัยโบราณ เต้าคือเส้นทางหรือช่องทาง) โดยเส้นทางการค้าชาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม

------------------------------------------------------------------

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040