รัฐบาลท้องถิ่นจีนให้ความสำคัญนักศึกษาจบใหม่ตั้งรกรากพร้อมเงินอุดหนุน (2)
  2018-07-09 17:00:30  cri

ยังมีเรื่องที่น่าสนใจกว่านั้น คือนครเทียนจิน 1 ใน 4 เมืองที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ยอมลดเงื่อนไขให้ได้สำมะโนครัวกับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนอาชีวศึกษาและมีอายุไม่เกิน 35 ปี ขณะที่เมืองอู่ฮั่นกระตุ้นให้นักศึกษาที่จะหางานทำหรือประกอบธุรกิจในอู่ฮั่น มีสิทธิในการซื้อหรือเช่าบ้านอยู่ในราคา 80% ของราคาในตลาด ส่วนเมืองจูไห่ตัดสินใจให้เงินอุดหนุนการตั้งถิ่นฐานกับนักศึกษาต่างถิ่น เมื่อได้งานแล้วยังยอมให้กรรมสิทธิ์บ้าน 50% แก่พลเมืองใหม่ด้วย

นโยบาย "แย่งชิงบุคลากร" เป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษาจบใหม่ ในการวางแผนการทำงาน และใช้ชีวิตในเมืองที่เจริญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองเอกของมณฑล ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับแรงกดดันและต้นทุนชีวิตสูงพิเศษในเมืองใหญ่เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น ซึ่งผลที่ได้รับก็คือจำนวนนักศึกษาต่างถิ่นได้รับสำมะโนครัวใหม่ จากเมืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2017 ที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่ได้เป็นพลเมืองอู่ฮั่นมากถึง 142,000 คน มากเป็น 6 เท่าของปี 2016 เฉพาะไตรมาสแรกปี 2018 จำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่ได้รับสำมะโนครัวเมืองซีอานมี 244,900 คน เป็น 1.2 เท่าของตัวเลขพลเมืองใหม่ที่ย้ายสำมะโนครัวจากต่างถิ่นเข้ามาที่ชเมืองนี้ตลอดทั้งปี 2017

ตามสถิติอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมืองที่เจริญในระดับรอง ๆ ของจีน 32 เมืองทั่วประเทศ เช่น ฉงชิ่ง เฉิงตู หางโจว หนานจิง ฝูโจว ฯลฯ ที่ประกาศต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่สำเร็จการศึกษาจากทั่วประเทศ ต่างมีประชากรเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนหลายหมื่นถึงหลายแสนคน

เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ที่แต่ละที่สนใจแต่จะชวนให้บุคลากรคุณภาพสูงเข้ามาตั้งรกรากเช่น นักวิยาศาสตร์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาวิทยาศาสตร์ และสมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติ นักวิชาการที่รับทุนการศึกษาวิจัยระดับชาติ หรือมีผลงานวิชาการระดับประเทศ นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างผลงานโดดเด่นในต่างแดน หรือมีชื่อเสียงระดับโลก กระแสเหล่านั้นก็ถูกเปลี่ยนไป โดยในปัจจุบันเป้าหมายไปอยู่ที่บุคลากรในวัยหนุ่มสาว ให้น้ำหนักอายุและคุณภาพการศึกษามากกว่าผลสำเร็จด้านอาชีพการงานที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ ภายในชั่วข้ามคืน นักศึกษาจบใหม่ จากเดิมที่ต้องเผชิญกับปัญหาการหางานทำ กลายเป็นบุคลากรที่เป็นความต้องการของเมืองต่าง ๆ ในจีน

ศาสตรจารย์หยาง ลี่หัวจากสถาบันบริหารรัฐบาล มหาวิทยาลัยปักกิ่งวิเคราะห์ว่า "อันที่จริง "การแย่งชิงบุคลากร" นั้น คือความพยายามในการแย่งชิงประชากร เพราะตอนนี้อัตราการเกิดของจีนอยู่ในระดับต่ำมาหลายปี และจีนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนประชากรจีนเติบโตช้า เมื่อจำนวนคนเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันเมืองที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วล้วนมีความต้องการแรงงานที่มากขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างของประชากรโดยตรง"

ขณะนี้ อัตราการเกิดประเทศจีน มีตัวเลขเพียง 1.4% เท่านั้น และในช่วง 20 ปีข้างหน้า สังคมจีนจะเกิดปัญหาขาดแคลนประชากรในวัยหนุ่มสาว เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นหลายเมืองเมื่อมองเห็นปัญหาตรงนี้ก็พยายามดึงดูดบุคลากรวัยหนุ่มสาวมาเป็นฐานแรงงาน เพื่อให้เศรษฐกิจที่กำลังดำเนินต่อไปไม่หยุดชะงัก

ช่วง 40 ปีแห่งการดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ แรงงานจีนที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจจีนก้าวหน้า เติบโต และรักษาศักยภาพในด้านการแข่งขันมาโดยตลอด แต่การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

นายหลิ่ว เสวจื้อ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การพัฒนาบุคลากรแห่งประเทศจีนกล่าวว่า ปัจจุบัน แม้จำนวนประชากรจีนยังคงเติบโตต่อเนื่องกัน แต่โครงสร้างประชากรของจีนมีความเปลี่ยนแปลง โดยดูจากข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ประชากรวัย 16 – 64 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยทำงาน ลดน้อยลงปีละ 1 ล้านคนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

ถ้าจำกัดช่วงอายุการทำงานให้อยู่ที่ 16 – 59 ปี ประชากรจีนก็เริ่มลดน้อยลงตั้งแต่ปี 2012 โดยชาวจีนในวัยทำงานน้อยลง 3,450,000 คน เมื่อเทียบกับปี 2012 ต่อจากนั้น ในปี 2013 ลดลง 2,440,000 คน ส่วนปี 2015 ลดลง 4,870,000 คน และปี 2016 น้อยลง 3,490,000 คน ในขณะเดียวกัน จำนวนเด็กแรกเกิดกลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการ สถิติด้านการเจริญพันธุ์ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแถลงเมื่อต้นปี 2018 ระบุว่า จำนวนทารกแรกเกิดในปี 2017 เป็น 17,230,000 คน น้อยกว่าปี 2016 630,000 คน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040