แต่กลุ่มชาวจีนในไทยเวลานั้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งใกล้ชิดกับไต้หวัน เพราะมีการค้าการขายติดต่อกันอยู่ ผลประโยชน์ที่ผูกพันกันกับไต้หวันค่อนข้างหนาแน่น อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนจีน เวลานั้น แม้ว่าไต้หวันจะไม่มีฐานะทางการทูตแล้ว แต่ก็ยังมีสำนักตัวแทนการค้าประจำอยู่ในประเทศไทย พื้นฐานที่ไต้หวันสร้างไว้ก่อนยังมีอิทธิพลมากอยู่ นอกจากนี้ พวกเขายังคอยหาโอกาสก่อกวน ขัดขวางการทำงาน กระทั่งบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของเรากับไทยอยู่เสมอ
หน้าที่ในช่วงแรกของผม จึงต้องหมั่นไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนระหว่างกันกับผู้นำชาวจีน หาโอกาสไปรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขา เชิญพวกเขามาพบปะ กินข้าวกันบ้าง ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามหาทางเข้าถึงกลุ่มที่นิยมไต้หวันด้วย
ผมอยู่ได้ไม่นานนัก ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการรัฐประหารทางการเมือง กลุ่มอิทธิพลไต้หวันใช้จังหวะนี้เคลื่อนไหวหนัก พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เคยมีท่าทีเป็นมิตรกับจีน ก็ต้องหลบหนีภัยการเมือง นักศึกษาก็พากันเข้าป่า ตอนนั้นใครมาใกล้ชิดกับเรา ก็จะถูกเพ่งเล็งและพลอยได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
ท่ามกลางสถานการณ์ที่คับขันมากในขณะนั้น ก็มีการปล่อยข่าวว่า "เอกอัครราชทูตจีนหนีกลับประเทศไปแล้ว !!" เหตุการณ์ยิ่งสับสนมากขึ้นอีก ผมคิดว่าผมจะต้องรีบแก้ข่าวลือ จึงพยายามหาทางไปปรากฏตัวในที่สาธารณะ ออกไปพบปะผู้คนต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทูตจีนยังอยู่ ไม่ได้ไปไหน เท่านั้นยังไม่พอ เราเป็นฝ่ายริเริ่มเชิญชวนสมาคมชาวจีนทั้งหลายมาพบปะพูดคุยกัน จัดกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน
ตอนนั้น ผมมีเพื่อนที่ดีคนหนึ่ง มียศเป็นนายพลเอก แต่จำชื่อไม่ได้ และมีตำแหน่งเป็นประธานกีฬาโอลิมปิกไทยด้วย ผมรู้ว่าคนไทยชอบกีฬาฟุตบอล และแบดมินตัน ดูเหมือนท่านอธิบดีกรมตำรวจในตอนนั้นก็เป็นนักแบดฯ เหมือนกัน ผมก็เลยใช้นโยบายจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬา เอาทีมฟุตบอล และทีมแบดมินตันจีนมาแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งมีผลช่วยผ่อนเบาความรู้สึกที่เป็นอคติต่อจีนลงไปได้บ้าง
นอกจากนั้น ผมยังได้อาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำชาวจีน ซึ่งในหมู่พวกเขาบางคน มีช่องทางสามารถเข้าถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ของไทย ผมจึงอาศัยความช่วยเหลือของพวกเขาเหล่านี้ ทำให้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนี และได้กราบทูลพระองค์ให้ทรงทราบว่า จีนจะส่งคณะกายกรรมมาแสดงถวายให้ทอดพระเนตร
เมื่อคณะกายกรรมของจีนมาเปิดการแสดง เราก็เชิญบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ทั้งฝ่ายราชสำนัก ฝ่ายทหาร ฝ่ายรัฐบาล ตลอดจนชาวจีนโพ้นทะเลทั้งหลายไปชมกันอย่างทั่วถึง หลังจากเสร็จงานแล้ว ผมจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้าวังร่วมโต๊ะเสวยกับสมเด็จพระราชชนนีด้วย เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ
ด้วยความพยายามหลาย ๆ ทางเช่นนี้แหละ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยจึงค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
แล้วความสัมพันธ์ดีขึ้นไปจนถึงขั้นที่ท่านรู้สึกวางใจได้คือเมื่อไหร่คะ ?
ตอบ เหตุการณ์สำคัญที่ช่วยพลิกสถานการณ์ความสัมพันธ์ของเราเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
วันหนึ่งทางสถานทูตญี่ปุ่นจัดงานเลี้ยงรับรอง และได้เชิญบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลไทย รวมทั้งทูตานุทูตต่างประเทศ ไปร่วมรับประทานอาหารด้วย ในงานนั้น ผมได้พบกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านถามผมตรง ๆ แบบไม่ทันตั้งตัวว่า ทำไมจีนจึงให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้มาล้มล้างรัฐบาลไทย
ผมอธิบายชี้แจงไปกับท่านอย่างตรงไปตรงมาเช่นกันว่า เนื่องจาก พคจ. กับพคท. ต่างก็เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ก็ย่อมต้องสนับสนุนกันและกันเป็นธรรมดา แต่การสนับสนุนกันในทางอุดมการณ์ เป็นคนละเรื่องกับการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย พคท.ทำสงครามจรยุทธ์อยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยก็ดำเนินการปราบปราม เรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นกิจการภายในของไทย จีนไม่เกี่ยวและไม่ได้สนับสนุนการทำสงครามดังกล่าว
ผมได้เพียรอธิบายชี้แจงจนท่านเข้าใจและรู้สึกพอใจในคำตอบพอสมควร หลังจากนั้นท่านก็ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโซเวียตรัสเซีย ซึ่งผมก็ตอบว่า จีนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพวกเขา เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายขยายอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคแถบนี้ รวมทั้งปัญหาเวียดนามที่พยายามจะแผ่อิทธิพลสู่ประเทศเพื่อนบ้านก็เช่นกัน จีนก็ไม่เห็นด้วย ท่านได้ฟังก็พอใจมาก บอกว่า เราต่างมีความรู้สึกและความคิดเห็นที่ตรงกันในเรื่องนี้ ผมคุยกับท่านผบ.สูงสุดอยู่กว่าชั่วโมง นักข่าวก็พากันมาถ่ายรูป รุ่งขึ้นก็เป็นข่าวออกไปทั่ว มีรูปถ่ายคู่ของเราสองคนปรากฏในข่าวด้วย ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก
หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็เชิญผมไปกินข้าวที่บ้าน และเชิญรัฐมนตรีสำคัญสามท่านคือ รัฐมนตรีกลาโหม มหาดไทย และต่างประเทศ มาร่วมกินข้าวด้วย ในระหว่างที่กินข้าว ท่านก็ให้ผมพูดสิ่งที่ผมเคยชี้แจงกับท่านในคืนนั้น ให้รัฐมนตรีเหล่านั้นฟังอีกรอบ จนพวกเขาเข้าใจ และพอใจ
ทั้งหมดนี้ มีผลทำให้ผู้นำรัฐบาลไทยเข้าใจประเทศจีนและนโยบายของจีนดีขึ้นมาก ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และท่านพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนก็ยิ่งไม่มีปัญหา เพราะท่านสนิทสนมกับผม และมีความเข้าใจท่าทีของจีนเป็นอย่างดี บรรยากาศความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้ภายหลัง ผมย้ายไปเป็นทูตประจำสหรัฐอเมริกาก็ตาม ผู้นำไทย และกลุ่มผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางไปทำธุระที่อเมริกา ก็มักจะแวะไปเยี่ยมผมบ่อย ๆ จำได้ว่าระหว่างที่เป็นทูตอยู่ที่อเมริกา ผมมีโอกาสได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยสองท่าน คือ ท่านพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และท่านพลเอกเปรม ติณณะสูลานนท์
ในฐานะที่ท่านเป็นทูตคนแรก มีหน้าที่ต้องวางพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนให้กับสองประเทศ ท่านได้ให้ความสำคัญกับงานด้านใดเป็นพิเศษ ?
1 2 3 4 5
|