ปีหลัง ๆ นี้ การคมนาคมขนส่งในเขตทิเบตเปลี่ยนไปแบบพลิกฟ้าพลิกดินสร้างความประทับใจอย่างมากแก่ผู้คนทั้งหลาย ปัจจุบันไม่ว่าจะเดินทางไปยังทุ่งหญ้าที่มีสภาพอากาศหนาวจัดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทิเบต หรือ พื้นหุบเขาในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต ล้วนมีทางหลวง ทางด่วน หรือ เส้นทางรถไฟเข้าถึง ทั้งนี้ ปีหลัง ๆ นี้ มีการสร้างสะพานและอุโมงค์จำนวนมากในทิเบตทำให้โครงข่ายการคมนาคมขนส่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทิเบต อำนวยความสะดวกแก่การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเป็นจำนวนมาก ทั้งยังกระตุ้นให้เศรษฐกิจในพื้นที่ให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
---เดือนมิถุนายนปีนี้ เส้นทางรถไฟ ลาซา-หลินจือ สร้างเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เส้นทางรถไฟสายนี้มีอุโมงค์ 47 แห่ง สะพาน 121 แห่ง คนงานก่อสร้าง 1.3 แสนคน ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี
---เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ทางหลวงคุณภาพระดับสูงที่เชื่อมต่อเมืองลาซากับท่าอากาศยาน ก้งกา สร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ทางหลวงสายนี้เป็นทางหลวงคุณภาพสูงสายแรกในประวัติศาสตร์ของทิเบต
---ใน ค.ศ. 1950 จีนระดมทหารและคนงานรวม 1.1 แสนคน ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวง เสฉวน-ทิเบต ทางหลวงสายนี้มีสะพาน 597 แห่ง อุโมงค์ 2,860 แห่ง มีทหารและคนงานกว่า 2,000 คนสละชีวิตเพื่อโครงการก่อสร้างดังกล่าว
โครงการคมนาคมขนส่งดังกล่าวเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลจีนที่จะสร้างทางหลวงที่เชื่อมต่อทิเบตเข้ากับพื้นที่อื่นของประเทศให้สำเร็จ ข้อมูลจากกรมคมนาคมขนส่งเขตปกครองตนเองทิเบตแสดงให้เห็นว่า ช่วงปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ทิเบตได้ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้านการคมนาคมขนส่งมูลค่า 2.516 แสนล้านหยวน คิดเป็น 3.7 เท่าของช่วงปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 และคิดเป็น 1 ใน 3 ของวงเงินการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรทั้งหมดในทิเบต ปัจจุบันโครงข่ายทางหลวงในทิเบตมีระยะทางรวม 1.188 แสนกิโลเมตร และมีทางหลวงเพิ่มขึ้นปีละ 8,100 กิโลเมตรบนที่ราบสูงในทิเบต
ช่วงหน้าร้อนของทุกปีเป็นช่วงเวลาทองของการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมในเขตทิเบต เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นว่า ทางด่วนปักกิ่ง-ทิเบตช่วงนาชวี-หยังปาจิ่งใกล้จะเปิดใช้งาน คนงานกำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ และตรวจสอบความปลอดภัยอย่างละเอียด
ทางด่วนปักกิ่ง-ทิเบต ช่วงนาชวี-หยังปาจิ่ง มีระยะทาง 226.9 กิโลเมตร ใช้ความเร็วเดินรถสูงสุดตามการออกแบบ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีสะพาน 145 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสะพานขนาดใหญ่พิเศษมี 7 แห่ง และหนึ่งในนั้นมีความยาว 1,025 เมตร ข้ามเส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ที่พาดผ่านทุ่งหญ้าในภาคเหนือของทิเบต
การสร้างสะพานและอุโมงค์บนที่ราบสูงต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากลำบากต่าง ๆ มากมาย เช่น อุณหภูมิทางภูมิศาสตร์สูง (high-geotemperature) หินระเบิด (rock burst) และน้ำรั่วชนิดรุนแรง
ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งก่อสร้างทางด่วนที่เชื่อมต่อเมืองลาซากับท่าอากาศยาน รื่อคาเจ๋อ ทางด่วนสายนี้เริ่มต้นที่หมู่บ้านเสหรง อำเภอชวีสุ่ย ของเมืองลาซา ไปสิ้นสุดลงที่ตำบลเหนียนมู่ เขตซันจูจือ ของเมืองรื่อคาเจ๋อ มีความยาว 166.75 กิโลเมตร กลุ่มบริษัทไชน่าเรล์เวย์ กรมที่ 21 รับผิดชอบงานก่อสร้างอุโมงค์ลอดภูเขาพ่าตัง ภูเขาแห่งนี้ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลสูงมากและมีสภาพภูมิศาสตร์สลับซับซ้อน จึงทำให้คนงานก่อสร้างอุโมงค์เผชิญกับความท้าทายสูงมาก
นายหวัง โป๋ ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างทางด่วนที่เชื่อมต่อเมืองลาซากับท่าอากาศยานรื่อคาเจ๋อ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ทีมงานของเขาได้ใช้ความพยายามขจัดความยากลำบากทุกอย่างที่ต้องเผชิญ เช่น วัสดุก่อสร้างไม่เพียงพอ และพื้นที่ก่อสร้างมีสภาพภูมิศาสตร์ที่สลับซับซ้อน พวกเขายังได้ใช้เทคโนโลยีสแกน 3 มิติในการตรวจคุณภาพงานก่อสร้างด้วย ทำให้การตรวจคุณภาพงานก่อสร้างมีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ทีมงานยังได้ใช้กรรมวิธีที่ทันสมัย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการระเบิดหินเพื่อสร้างอุโมงค์ จึงทำให้โครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย
อุโมงค์ปาอวี้ ที่เส้นทางรถไฟลาหลินพาดผ่านตั้งอยู่ที่เมืองซันหนัน การก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้เผชิญกับปัญหาหินระเบิดชนิดรุนแรงมาก พื้นที่ก่อสร้างที่มีปัญหาหินระเบิดคิดเป็น 94% ของพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด เหตุหินระเบิดมีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 - 6 ชั่วโมง บางครั้งนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ บางพื้นที่ยังเกิดเหตุหินระเบิดครั้งที่สองหลังเกิดหินระเบิดครั้งแรกเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งพบเห็นได้น้อยมากในประวัติศาสตร์การก่อสร้างอุโมงค์ในโลก
โครงการก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ในเขตทิเบตส่วนใหญ่ใช้เวลาก่อสร้างไม่นานมาก แต่ต้องการใช้แรงงานค่อนข้างมาก จึงสร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่เกษตรกรและชาวปศุสัตว์ในพื้นที่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปทำข่าวที่สถานที่ก่อสร้างอุโมงค์ภูเขาจงไฉซัน ในเขตเทคโนโลยีใหม่ระดับสูงในเมืองลาซา กลุ่มบริษัทไชน่าเรล์เวย์กรมที่ 6 เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการดังกล่าว เมื่อเดินทางถึงสถานที่ก่อสร้างผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นว่า อุโมงค์แห่งนี้ใกล้สร้างเสร็จเรียบร้อย คนงานกำลังระบายน้ำออกจากอุโมงค์ ติดตั้งระบบไฟฟ้า และปรับภูมิทัศน์รอบข้าง นายตันเจิงโซลัน หนึ่งในคนงานก่อสร้างที่มาจากตำบลโตเช่ เมืองซันหนัน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขาทำงานที่นี่ได้ค่าจ้างวันละ 230 หยวน ไม่ต้องจ่ายค่าอาหารและที่พัก 20 กว่าคนที่มาสมัครงานพร้อมกับเขาเป็นชาวเมืองซันหนันเช่นกัน ช่วงหลายปีมานี้ เขตทิเบตมีโครงการก่อสร้างมาก ทำให้พวกเขามีโอกาสหารายได้เพิ่มมากขึ้น
นายอวี๋ ไห่โป หัวหน้าโครงการอุโมงค์ภูเขาจงไฉซัน ในเขตเทคโนโลยีใหม่ระดับสูงของเมืองลาซา กล่าวว่า โครงการนี้สร้างงานให้แก่คนในพื้นที่ 241 คน ทั้งยังเช่ารถบรรทุกจากเกษตรกรและชาวปศุสัตว์ในพื้นที่รวมประมาณ 150 คัน
ปัจจุบันสะพานและอุโมงค์ที่สร้างขึ้นในทิเบตอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งแก่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
นายฉี เหม่ย ชาวหมู่บ้านกังโท เมืองชังตู ในเขตทิเบต ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าเป็นเวลาราว 20 ปี เขากล่าวกับสื่อมวลชนว่า ในอดีต ทุกครั้งที่ขับรถผ่านทางหลวงบริเวณภูเขาไอ่ลาซันจะรู้สึกหวาดกลัว เพราะเส้นทางในพื้นที่บริเวณนี้มีความเสี่ยงสูง เกิดเหตุก้อนหินตกลงจากบนภูเขาบ่อย
อุโมงค์ไอ่ลาซันตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,970 เมตร สร้างเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 ทำให้การขับรถข้ามภูเขาไอ่ลาซันใช้เวลาน้อยลงจากเดิมหนึ่งชั่วโมงเหลือเพียง 10 นาที ในทุกวันนี้ นายฉี เหม่ย กล่าวว่า ปัจจุบัน สามารถไปกลับจากอำเภอเจียงต๋าภายในวันเดียว อุโมงค์แห่งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้การเดินทางมีความสะดวกปลอดภัย หากยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้วย ปัจจุบันเขามีรายได้จากธุรกิจขนส่งปีละประมาณ 1.5 แสนหยวน
ปัจจุบัน เกษตรกรและชาวปศุสัตว์ในทิเบตพ้นจากสภาพที่การคมนาคมยากลำบากแล้ว โดยไม่ต้องขึ้นเขาลงห้วยและใช้สัตว์เป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าอีก ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุมานะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในเขตทิเบตของจีน สะพานและอุโมงค์จำนวนมากที่ก่อสร้างขึ้นในทิเบตในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ทำให้เครือข่ายการคมนาคมขนส่งของทิเบตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ ได้ สร้างความผาสุกและความสามัคคีแก่ประชาชนในพื้นที่
(tim/cai/lu)