“แก้จนต้องแก้ให้แม่นยำและตรงจุด”

2022-11-15 13:43:18 | CMG
Share with:

สหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศพยายามลดอัตราคนยากจนในประเทศลงให้ได้  แต่ทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ กลับมีประชากรยากจนเพิ่มมากขึ้น  ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น  อเมริกาประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมีคนจนอยู่ถึง 41 ล้านคน (12.7%ของจำนวนประชากร)  เมื่อมาดูมาตรการที่ประเทศต่าง ๆ ใช้รับมือกับปัญหาคนจน   แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด  แต่ผลลัพธ์ที่ได้แทบไม่ต่างกันเลย  คือเป็นการช่วยแบบแจกยาพาราฯให้กินแก้ปวดไปวัน ๆ  คนที่มีเงื่อนไขไปรับแจกมักเป็นคนจนในเขตเมืองเสียส่วนใหญ่  คนจนจริง ๆ ที่อยู่ตามทุ่งหญ้าป่าเขาการคมนาคมไปไม่ถึง  หรือเจ็บป่วยพิการเดินไม่ได้จะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ  การแก้จนแบบนี้เป็นการแก้แบบผักชีโรยหน้า  คนจนไม่มีวันได้เงยหน้าอ้าปาก         

วันนี้มาชวนไปดูวิธีแก้จนของจีนซึ่งเล่าลือกันนักว่าได้รับผลสำเร็จเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของชาวโลก  เรื่องนี้ต้องเริ่มจับความกันตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศปฎิรูปเปิดประเทศเมื่อ 30 ปีกว่าปีก่อน  เขามีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าการเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจจีนพลิกฟื้นขึ้นมาอย่างแน่นอน  จึงประกาศอย่างมั่นใจว่า  ต่อแต่นี้ไปชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีนจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ดีจนถึงขั้นที่เทียบได้กับความเป็นอยู่ของชนชั้นกลางในประเทศอื่น  เขาเรียกของเขาว่า “สังคมพออยู่พอกิน” หรือ “เสี่ยวคังเซ่อฮุ่ย”

30 ปีหลังปฏิรูปเปิดประเทศ  เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นทันตาจริง   คนยากคนจนประมาณ 600 ล้านคนได้รับโอกาสใหม่ ๆ สลัดตัวออกจากความยากจนได้  ทำให้จีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่มีประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศหลุดพ้นจากความยากจนตามเป้าหมายที่สหประชาชาติตั้งไว้  แต่ถึงอย่างไรคนจนก็ยังคงมีอยู่ไม่หมดไปจากประเทศ   เมื่อสีจิ้นผิงขึ้นมาเป็นผู้นำครั้งแรกในปี 2013 จีนมีคนจนหลงเหลืออยู่อีกกว่า 80 ล้านคน  (มาตรฐานวัดว่าเป็นคนจนคือมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 2800 หยวนต่อปี)    

สีจิ้นผิงคาดการณ์ล่วงหน้าว่า  การแก้ปัญหาคนจนส่วนที่เหลือจะไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว  เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนจนในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ   แต่เพื่อความแน่ใจเขาได้ลงไปสำรวจสภาพความเป็นจริงด้วยตัวเองโดยเลือกมณฑลยากจนที่อยู่ตามแนวชายแดน  ผลของการลงพื้นที่สีจิ้นผิงได้เสนอมาตรการใหม่ในการแก้ปัญหาคนจนให้ผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศนำไปปฏิบัติให้ตรงกัน  สรุปสั้น ๆ คือ...“การแก้ปัญหาทุกครั้งต้องแก้ให้เข้าเป้าและตรงจุด”  ก่อนอื่นใดทั้งหมดต้องตอบให้ได้ว่า...  คนจนคนนั้นคือใคร..  อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาจน...  จนแบบนี้จะต้องช่วยอย่างไร... ผลของการช่วยเหลือเป็นอย่างไร... ความสำเร็จหรือล้มเหลวต้องวัดว่าช่วยได้ถูกคนและช่วยได้ตรงเป้าหรือไม่

เมื่อนำลงสู่การปฏิบัติ  สีฯได้ให้เลขาพรรคฯและหน่วยพรรคฯ  5 ระดับคือระดับมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน  จับมือแบ่งความรับผิดชอบกัน  มณฑลทำหน้าที่ดูแลภาพรวมทั้งหมด ระดับล่างลงไปช่วยกันสร้าง “ทีมงานประจำหมู่บ้าน” ขึ้นมาได้ 2.5 แสนทีม  ผู้ปฏิบัติงานประจำหมู่บ้านอีกกว่า 3 ล้านคน  ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ขนาดนี้  ทุกครัวเรือนและคนจนทุกคนจะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประกบตัวคอยบันทึกและติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลงในแฟ้มประวัติประจำตัวของคนนั้น ๆ  แต่ก่อนอื่นเพื่อให้ได้ตัว “คนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ”  ไม่ใช่ได้คนที่มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่เหมือนที่เคยทำกันในบางแห่ง  ทีมงานจะเรียกประชุมหมู่บ้าน  ปิดประกาศให้ทุกคนรู้เห็นอย่างเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส  ว่านาย ก. นาย ข. มีรายได้จากที่ไหน  เท่าไหร่  ลำบากยากจนจริงหรือไม่  หากไม่มีใครทักท้วงก็ให้ดำเนินการไปตามมาตรการช่วยเหลือที่วางไว้  ใครได้รับความช่วยเหลือจนพ้นขีดความยากจนแล้วก็ให้ถอดชื่อออกจากระบบข้อมูล

สีจิ้นผิงเน้นกับผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศว่า  ความช่วยเหลือจะต้องลงไปให้ถึงทุกหมู่บ้านและทุกครัวเรือน  ทำให้ทุกบ้านสามารถเข้าถึงปัจจัย 6 อย่างคือ... “สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน  ความช่วยเหลือในการทำมาหากิน  การฝึกอบรม  ปรับปรุงบ้านพักอาศัย  ช่วยโยกย้ายที่อยู่อาศัยที่เสี่ยงอันตราย  ช่วยจับคู่มณฑลที่เข้มแข็งคู่กับมณฑลที่อ่อนแอเพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ ”

“การแก้จนอย่างแม่นยำและตรงจุด” เปิดโอกาสให้สีจิ้นผิงยืนประกาศบนเวทีสมัชชาพรรคฯครั้งที่ 19 อย่างเต็มภาคภูมิว่า อัตราคนจนของจีนลดลงเหลือไม่ถึง 4% แล้ว !!   

      

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)