BCG (Bio-Circular-Green Economy) คือวิสัยทัศน์การพัฒนา “เศรษฐกิจแบบชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” ที่ไทยเสนอต่อที่ประชุมเอเปค 2022 ที่เพิ่งมา เพื่อแสดงให้เห็นความตั้งใจของไทยว่าพร้อมจะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
รายงาน BCG กล่าวถึงความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาของไทยด้วยตัวเลขและรูปธรรมที่คนไทยส่วนใหญ่อาจต้องอ้าปากค้างเพราะไม่เคยรู้มาก่อน เช่น 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำพาประเทศก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง”... ภาคเกษตรของไทยมีประชากรมากกว่า 12 ล้านคน แต่มูลค่า GDP เติบโตในอัตราติดลบ... พื้นที่เพาะปลูกกว่า 90% ของไทยปลูกพืชได้เพียง 6 ชนิดซึ่งล้วนเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาสินค้าจึงผันผวนไปตามดีมานด์ของตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำ ผลิตมากแต่ได้เงินน้อย ครั้นจะหาทางเพิ่มรายได้ก็จะไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้รับความเสียหาย... แม้แต่การท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ของประเทศก็ไปกระจุกตัวอยู่ใน 8 จังหวัด ส่งผลให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเหล่านั้นเสื่อมโทรม วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นถูกกัดกร่อน เกิดการแย่งชิงทรัพยากรจากคนในพื้นที่ เป็นต้น
รายงานได้พรรณนาถึงแนวทางใหม่ที่ไทยจะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุด กำจัดของเสียจากการบริโภคด้วยการนำมาใช้ซ้ำ ฯลฯ และรับปากว่าพร้อมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ทันที เพื่อยกระดับการผลิตทุกภาคส่วนของไทยให้เห็นผลภายใน 5 ปี 10 ปี ด้วยนวัตกรรมใหม่นานาชนิด ด้วยการผลิตผู้เชี่ยวชาญให้หลากหลาย ด้วยการสร้างธนาคาร BioBank ต่าง ๆ นานา
ผู้เขียนนั่งอ่านเอกสาร “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” แบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง และด้วยความรู้สึกกึ่งดีใจบ้างกึ่งไม่มั่นใจบ้าง ดีใจที่อย่างน้อยก็ได้เห็นภาพสวยหรูตามที่เขาวาดให้ดู แต่ไม่มั่นใจเพราะเชื่อว่าเมื่อเอเปคผ่านไป เหล่าผู้นำไทยก็คงมะรุมมะตุ้มอยู่กับปัญหาร้อยแปดภายในพรรคของตัวเองจนลืม BCG เสียสนิท... ผู้เขียนเลยคิดหาวิธีวัดผล BCG ด้วยมาตรการง่าย ๆ ของตัวเองคือ.. จะดูว่าเมื่อไหร่ทางการจะสั่งให้คนไทยแยกขยะก่อนทิ้งเสียที.. เมื่อไหร่ไทยจะห้ามนำเข้าขยะมีพิษเข้าประเทศเสียที.. จะ.Bio หรือไม่ Bio ชาวบ้านเขาวัดกันง่าย ๆ แค่นี้แหละ
คุยเรื่อง BCG ของไทยแล้ว อยากเอาเรื่องสีเขียว ๆ ของจีนมาคุยบ้าง ที่สำคัญต้องการให้ดูว่าเขามีนโยบายและระบบระเบียบรองรับการแก้ปัญหาอย่างไร อันที่จริงจีนให้ความสำคัญกับระบบนิเวศมานานพอสมควร แต่เมื่อสีจิ้นผิงขึ้นมากุมอำนาจเรื่องนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นพิเศษ เนื่องจากระบบนิเวศเกี่ยวข้องกับคนทุกคน จุดเน้นจึงอยู่ที่การทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วม โดยเฉพาะภาครัฐมีคำสั่งให้หน่วยงานตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงท้องถิ่นถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ส่วนภาคประชาชน รัฐก็หาคำขวัญง่าย ๆ ปลุกเร้าให้ทุกคนเข้าร่วม เช่น เสนอว่าถ้าทุกคนช่วยกันรักษาแหล่งน้ำให้ใสสะอาด ดูแลให้ภูเขาทุกลูกเป็นสีเขียว นั้นแหละคือแหล่งเงินแหล่งทองให้พวกเขาใช้ไม่รู้จักหมดตราบชั่วลูกชั่วหลาน
ผ่านมา 10 ปี ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 20 ที่ผ่านมา สีจิ้นผิงสามารถรายงานผลสำเร็จของงานต่อที่ประชุมด้วยตัวเลขที่จับต้องได้ เช่น... ในส่วนของภาครัฐ กระทรวงคมนาคมได้เนรมิตถนนสีเขียวเพิ่มขึ้น 1.8 แสนกม. ทางรถไฟสีเขียวเพิ่มขึ้น 4933 กม. กระทรวงบ้านอยู่อาศัยในเขตเมือง เนรมิตป่าในเมืองเพิ่มขึ้น 441 เมือง สร้างสวนสาธารณะให้กับผู้อาศัยในเขตเมืองเฉลี่ย 14.8 ตร.เมตรต่อคน กระทรวงชลประทานปลูกป่าเพิ่มขึ้นได้ 6.77 ล้านเฮกตาร์ ฟื้นทุ่งหญ้าสำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่มขึ้น 8.27 ล้านเฮกตาร์ ปลูกป่ากันทรายให้กับปักกิ่งและเทียนสินกินพื้นที่ 1.85 แสนเฮกตาร์ ออกกฎหมายอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า ทำทะเบียนสัตว์ป่าสงวนเพิ่มขึ้น 517 ชนิด ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศ 197 เฮกตาร์ สร้างระบบและวิธีการป้องกันไฟป่าและไฟลามทุ่งหญ้าซึ่งเคยไหม้ปีละ 1153 ครั้งลดลงได้ 50.8% และ 71.1% ตามลำดับ
ระบบนิเวศทั่วโลกที่ผันผวนส่งผลให้สิ่งแวดล้อมของจีนทรุดโทรม แต่จีนก็ยอมรับว่าส่วนสำคัญไม่น้อยเกิดจากน้ำมือมนุษย์เอง ตั้งแต่สถาปนาจีนใหม่ขึ้นมาในปี 1949 คนจีนโดยเฉพาะชาวชนบทที่ยากจนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดโดยอาศัยประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไม่ยั้งคิด มีการตัดไม้ทำลายป่า เลี้ยงปศุสัตว์บนทุ่งหญ้าจนหญ้าแห้งเหลือแต่ดินทราย เจาะหาแหล่งน้ำ ขุดหาสมุนไพรจนต้นไม้น้อยใหญ่ตายหมด ฯลฯ
การขยายตัวของพื้นที่ทะเลทรายภาคตะวันตกของจีนเป็นปัญหาใหญ่มากในระบบนิเวศของจีน มีผลให้พายุทรายที่พัดเข้าหากรุงปักกิ่งและเทียนสินรุนแรงขึ้นทุกปี ความสามารถของจีนในการหยุดยั้งการขยายตัวของทะเลทราย เป็นเรื่องหนึ่งที่สหประชาชาติและโลกตะวันตกยกนิ้วให้ หากมีโอกาสจะต้องนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง
โดย รศ.วิภา อุตาฉันท์