โครงการนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อแต่ความหมายตรงกัน จีนเรียกว่า “อิไต้อิลู่” ไทยเรียกว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ภาษาอังกฤษมักเรียกว่า New Silk Road หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ที่มีคำว่า “Initiative” ต่อท้าย ก็เพื่อให้เห็นแตกต่างจาก Silk Road แต่โบราณ เพราะ Silk Road ครั้งนี้เป็น “ความคิดริเริ่ม” ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งไปเปิดเผยโครงการนี้ให้ให้ชาวโลกรู้จักเป็นครั้งแรก ขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศคาซัคสถานเมื่อปี ค.ศ. 2013 นับถึงปัจจุบันครบ 10 ปีพอดี
อันที่จริง Silk Road ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับจีน ประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ยุคฮั่น (ก่อนค.ศ.200 ปี) ก็ได้เห็นถึงความพยายามของจีนที่จะบุกเบิกเส้นทางการค้าสู่โลกกว้าง เริ่มต้นเส้นทางที่เมืองซีอานไปทางตะะวันตก เดินไปท่ามกลางทะเลทรายและความแห้งแล้งที่ร้อนระอุ เพื่อไปติดต่อค้าขาย (โดยเฉพาะผ้าไหม) ให้กับประเทศตะวันตก ผ้าไหมของจีนเป็นที่ต้อนรับพร้อมกับเส้นทางสายไหมที่ขยายตัวไกลออกไปทุกที จนมีอยู่ยุคหนึ่งที่ผ้าไหมถือเป็นอาภรณ์ชั้นสูงสวมใส่ได้เฉพาะจักรพรรดิและพระราชวงศ์แห่งกรุงโรมเท่านั้น อีกด้านหนึ่ง พระถังซัมจั๋งก็เดินทางไปนำพระไตรปิฎกมานั่งแปลอย่างบากบั่นเพื่อให้คนจีนรู้จักพระพุทธศาสนผ่านการเดินทางไปและกลับบนเส้นทางสายนี้เช่นกัน เมื่อเส้นทางบกสามารถเดินทางไปติดต่อกับนานาชาติได้ เส้นทางทะเลก็น่าจะนำพาจีนไปได้ไกลกว่านั้นเสียอีก กองเรือของ “เจิ้งเหอ”(ซัมปอกง) ที่เดินทางไปประกาศศักดาของจีนให้ชาวโลกรู้จักในยุคหมิง (ราวค.ศ. 1400) ก็เช่นกัน เล่าลือกันต่อมาว่าเขาคือผู้ที่ค้นพบอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัสเสียอีก นี่เป็นบทพิสูจน์จากประวัติศาสตร์โบราณของจีนว่า ในเมื่อโลกกลมการไปมาหาสู่กันทั่วโลก หากมีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ความปลอดภัยพร้อมเพรียงก็เป็นสิ่งที่ต้องทำได้เช่นกัน
ประสบการณ์จากการติดต่อค้าขายกับประเทศทั้งใกล้และไกลไม่เคยหลงลืมไปจากความทรงจำของผู้นำจีนเลย เมื่อจีนปลดแอก (ค.ศ. 1949) กับจีนในยุคปัจจุบันแตกต่างกันลิบลับทั้งความพร้อมทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล เวลานี้จีนสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงทะลุทะลวงไปทั่วทวีปยุโรปแล้ว และมีความพร้อมทางเทคโนโลยีการเดินเรือที่ปลอดภัยสามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก ความคิดเรื่อง SilK Road ซึ่งจีนถือว่าเป็นสมบัติเก่าแก่ของจีนก็กลับมาสู่ความคิดของสีจิ้นผิงอีกครั้ง ทำให้เขาพร้อมที่จะนำเสนอ “ความคิดริเริ่ม” ใหม่อีกครั้งในการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศทั่วโลก เพราะจีนมีความพร้อมที่จะ “พี่ใหญ่” ชักจูงประเทศเล็กประเทศน้อยทั่วโลก ให้มีการไปมาหาสู่กันอย่างเสมอภาค คบค้าเป็นมิตรกัน ร่วมมือกันในการสร้างเสริมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พัฒนาสู่ความก้าวหน้าไปพร้อมกันเพื่อสันติภาพและความชะตากรรมร่วมกันของมนุษยชาติ
วันที่ 17-18 ตุลาคมปีนี้ BRI จะจัดประชุมเป็นครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศที่แจ้งชื่อเข้าร่วมประชุมขณะนี้มีกว่า 130 ประเทศ องค์กรระหว่างประเทศอีก 32 องค์กร คาดว่าที่ประชุมคงมีการอภิปรายถึงโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งมีถึงกว่า 3,000 โครงการ เกี่ยวข้องกับมูลค่าการลงทุนถึงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
หลังปิดการประชุมในวันที่ 18 แล้ว เราจะรายงานให้ทราบถึงแนวทางในอนาคตของโครงการ BRI ให้ทราบกันอีกครั้ง แต่ขอทิ้งท้ายด้วยข้อสังเกตสัก 2 ประการเกี่ยวกับประเทศไทย 1) ทำเลของไทยในฐานะส่วนหนึ่งของ BRI ถือว่ามีความสำคัญมาก หากไทยแน่วแน่ไม่คิดวอกแวกที่จะนำข้อดีเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะไทยอยู่ในทำเลที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตอนบน สามารถเชื่อมต่อกับ BRI ได้ทั้งทางน้ำและทางบก เป็นเส้นทางยุทธศาสนตร์สำคัญบนระเบียงเศรษฐกิจจีนกับคาบสมุทรอินโดจีน แต่ขณะนี้ไทยยังคงล่าช้ากับโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เพราะมัวคำนึงถึงการสูญเสียผลประโยชน์ที่จะตกกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้โครงการต่าง ๆ ก้าวหน้าไปช้ามาก 2) ขณะเดียวกันในทางจิตวิทยา ฝ่ายจีนก็ต้องทำประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเกี่ยวกับความร่วมมือที่เสมอภาคไม่เอารัดเอาเปรียบกันสำหรับประเทศที่เข้าร่วมกับ BRI เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยยังมีความไม่แน่ใจเกรงว่าจะเป็นหนี้ภาระผูกพันก้อนใหญ่ที่ทำให้ลูกหลานต้องชดใช้ไปไม่รู้จักหมด
แต่ก็คงมีอีกขั้วหนึ่งที่ตรงกันข้าม มอง BRI ว่าเป็นโครงการใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จที่สุดในโลกแห่งศตวรรษทื่ 21 หาก BRI ไม่สะดุดขาตัวเอง เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันด้วยเศรษฐกิจที่สมประโยชน์กันทุกฝ่าย BRI อาจเป็นเครื่องมือสำคัญชวยสร้างแรงกดดันให้การเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ระเบียบโลกใหม่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป
โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์