ระหว่างสงครามฝิ่นในค.ศ 1840 ถึงสงครามเป่ยฝาในค.ศ. 1927 กว่างโจวเป็นสมรภูมิต่อต้านการรุกรานจากประเทศตะวันตก เป็นประตูที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกภายนอก และเป็นถิ่นฐานกำเินิดความคิดการปฏิรูปและการปฏิวัติของจีนในยุคใกล้ด้วย
ทำเนียบจอมทัพเป็นกองบัญชาการใหญ่การปฏิวัติกว่างโจว
กว่างโจวเปิดการค้ากับต่างประเทศมาเนิ่นนาน เป็นถิ่นกำเนิดชนชั้นนายทุนนายหน้า ชนชั้นนายทุนของชาติและชนชั้นกรรมาชีพของจีน ยังได้แผ่ขยายไปสู่เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฝูโจวและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ การก่อร่างสร้างตัวของสามชนชั้นใหญ่ ได้ทำลายโครงสร้างชนชั้นดั้งเดิมของสังคมศักดินา เป็นการโหมโรงก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างของสังคมจีนในเวลาต่อมา และเป็นการปูพื้นฐานให้กับวิวัฒนาการในยุคนั้นและอนาคต
หอรำลึกการลุกขึ้นสู้ 29 มีนา
การเริ่มต้นและก่อตัวของความคิดและทฤษฎีต่างๆ ได้วางพื้นฐานให้กับการปฏิรูปของชนชั้นนายทุนและการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน การปฏิรูปอู้ซวีเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเกิดขึ้นที่นี่ ดร.ซุน ยัตเซียนวางแผนการปฏิวัติประชาธิปไตยที่นี่เช่นกัน ในช่วงเวลานับจากสงครามฝิ่นสิ้นสุดลงจนถึงการปฏิวัติอู่ชาง กว่างโจวเป็นศูนย์กลางการปฏิวัติระบอบการเมืองของจีน ต่อมาก็กลายเป็นฐานบัญชาการของสงครามต่อต้านระบอบจักรพรรดินิยมและขุนศึก
ทุกวันนี้ เวลาเดินบนถนนริมแม่น้ำไข่มุก ซึ่งเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศการค้าที่คึกคักและผู้คนมากมายที่เดินขวักไขว่ไปมาอย่างเนืองแน่น ยากที่จะเชื่อมต่อกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จีน แต่การปฏิวัติเกิดขึ้นที่เมืองกว่างโจวอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 เดือน 3 ปีซินไฮ่ตามจันทรคติจีน การลุกฮือต่อต้านระบอบการปกครองศักดินาเกิดขึ้นที่หวงฮัวก่าง เมืองกว่างโจว แม้ประสบความล้มเหลว แต่ถือเป็นการเปิดฉากการปฏิวัติซินไฮ่
ศาลากวางฟู่สร้างด้วยเงินบริจาคจากวงการต่างๆ ทั่วสังคม
อดีตกองบัญชาการการลุกขึ้นสู้หวงฮัวก่าง ตั้งอยู่ในอาคารบ้านพักธรรมดาๆ หลังหนึ่งที่สร้างด้วยอิฐสีเทา หลังคาปูด้วยกระเบื้องสีเทา ไม่ต่างกับบ้านที่อยู่อาศัยทั่วไป บ้านหลังนี้ห่างจากอาคารสำนักข้าหลวงใหญ่กว่างตุงและกว่างซี ซึ่งเป็นเป้าหมายโจมตีของการลุกฮือสู้เพียงประมาณ 500 เมตร สิงโตหินคู่หนึ่งที่เคยตั้งอยู่หน้าประตูสำนักข้าหลวงใหญ่ ทั้งตัวเต็มไปด้วยรอยกระสุน เป็นพยานในเหตุการณ์ลุกฮือต่อสู้นองเลือดเมื่อ 100 ปีก่อน ผู้ร่วมการต่อสู้ครั้งนี้มีทั้งนักเรียนนักศึกษา ชาวจีนโพ้นทะเล นักข่าว กรรมกร ชาวนา ทหาร และบุคคลจากวงการต่างๆ ในสังคม หลายคนเป็ยลูกหลานตระกูลขุนนางขุนศึกหรือตระกูลผู้ดี แต่พวกเขายอมสละชีพเพื่อแลกกับอุดมคติที่ใฝ่หาเสรีภาพและประชาธิปไตย
ในคืนลุกขึ้นสู้ มีนักปฏิวัติที่หนีออกจากเมืองกว่างโจวไม่ทันหลายคนถูกจับและประหารชีวิต ศพของทั้งผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ลุกฮือและถูกประหารชีวิตภายหลัง ถูกวางเรียงกันที่สนามหน้าอาคารสำนักงานจืออี้จวี๋ นายพัน ต๋าเวย นักปฏิวัติปลอมตัวเป็นนักข่าววิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากบุคคลผู้สนับสนุนการปฏิวัติ ในที่สุด เกลี้ยกล่อมให้มูลนิธิกว่างเหยินซ่านอุปถัมภ์ที่ดินผืนหนึ่งที่เขตหงฮัวก่าง ชานเมืองกว่างโจว เพื่อฝังศพ 72 ศพของนักปฏิวัติผู้เสียชีวิต นายพัน ต๋าเวยชอบดอกเก๊กฮวยสีเหลืองมาก เพราะเห็นว่าเป็นตัวแทนความอดทน ความเข้มแข็งและความมีศักดิ์ศรี จึงเปลี่ยนชื่อสถานที่ฝังศพจากหงฮัว(ดอกสีแดง)ก่างเป็นหวงฮัว(ดอกสีเหลือง)ก่าง
รูปปั้นดร.ซุนยัตเซ็นกับมาดามซ่ง ชิ่งหลิง
ในค.ศ. 1912 รัฐบาลทหารมณฑลกว่างตุงจัดสรรเงิน 100,000 หยวนสร้างสุสานวีรบุรุษผู้สละชีพเพื่อชาติหวงฮัวก่าง และจัดพิธีวางศิลาฤกษ์สุสาน 72 วีรบุรุษในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน โดยดร.ซุน ยัตเซ็นเป็นประธานในพิธี และปลูกต้นสน 4 ต้นในสุสานด้วย ขณะนี้เหลืองอยู่ต้นเดียว ต่อมาสุสานแห่งนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรหลายครั้งด้วยเงินของชาวจีนโพ้นทะเลที่ร่วมกันบริจาค ค.ศ. 1935 ขยายเป็นสุสานที่มีขนาดใหญ่จนถึงทุกวันนี้
ภายในสุสานวีรบุรุษผู้สละชีพเพื่อชาติหวงฮัวก่างได้ทำทางเดินสายหนึ่งตั้งชื่อว่า"ทางเดินวีรบุรุษ"สองข้างทางมีสุสานวีรบุรุษกว่า 20 แห่ง เป็นทางเดินที่ตั้งชื่อด้วยวีรบุรุษผู้สละชีพเพื่อชาติเพียงแห่งเดียวในประเทศจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งประวัติการปฏิวัติยุคใกล้ของจีน ผู้คนที่มาแสดงความเคารพ ณ ที่นี้ ต่างจดจำและรำลึกเหตุการณ์สำคัญเมื่อ 100 ปีก่อนอย่างไม่มีวันลืมเลือน
สุสานรำลึกวีรบุรุษผู้สละชีพเพื่อชาติหวงฮัวก่าง