ปัจจุบันชาวจีนมีเนื้อสัตว์รับประทานในมื้ออาหารถือเป็นเรื่องธรรมดาไม่เหนือบ่ากว่าแรง ผิดกับสมัยโบราณในช่วงยุคก่อนสมัยราชวงศ์ฉิน (ฉิน 221-206ปีก่อนค.ศ.) ที่เนื้อสัตว์ถือเป็นสิ่งล้ำค่าฟุ่มเฟือย เสมือนหนึ่งแก้วแหวนเงินทองของประดับกายที่มีเพียงพวกมีอันจะกินจริงๆ เท่านั้นจึงจะหามีครอบครองรับประทานได้ จนถึงกับมีคำว่า "พวกกินเนื้อ 肉食者" เป็นคำเรียกเปรียบเปรยพวกผู้ดีมีฐานะ และในยุคจั้นกั๋วสมัย เมิ่งจื๊อ(372-289ปีก่อนค.ศ.) ยังมีชีวิตอยู่ มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่วัยเจ็ดสิบขึ้นไปเท่านั้นจึงจะได้รับสิทธิพิเศษได้ทานเนื้อ ซึ่งเนื้อสัตว์ที่คนจีนในสมัยโบราณบริโภคกันเป็นหลัก ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อหมู รวมถึงเนื้อสุนัข และสัตว์ป่า แต่เพราะวัวเป็นแรงงานสำคัญในการทำเกษตรกรรม อีกทั้งเลี้ยงโตได้ไม่ไวเหมือนกับหมูและแพะ ในอดีตจึงมีการออกกฎห้ามฆ่าวัวโดยพลการไว้ด้วย ซึ่งคนจีนทางเหนือจะไม่ค่อยชอบรับประทานปลาผิดกับทางใต้ที่ภูมิประเทศอำนวยติดกับทะเล อาหารเมนูปลาจึงมีขึ้นโต๊ะมากกว่า
บรรยากาศการเรียนการสอนในสมัยโบราณ จากละครเรื่อง "เหลียงซานป๋อกับจู้อิงไถ梁山伯与祝英台"
หรือตำนานรักโรมิโอกับจูเลียตฉบับจีน นำแสดงโดยเหอรุ่นตง何润东และต่งเจี๋ย董洁 ออกอากาศปี 2007
และเนื้อสัตว์ตากแห้ง肉干ก็มีอยู่คู่กับคนจีนมายาวนานนับแต่อดีตก่อนสมัยราชวงศ์ฉินเช่นกัน โดยคนจีนสมัยโบราณจะนำเนื้อสัตว์ไปต้มแล้วนำมาคลุกเกลือหลังจากนั้นก็นำไปตากให้แห้ง ซึ่งเนื้อสัตว์เค็มตากแห้งนี้ฮ่องเต้จีนในอดีตก็ได้นำมาเป็นหนึ่งในเก้าของเครื่องเซ่นที่จัดกราบไหว้บรรพชน และเพราะในสมัยก่อนเนื้อสัตว์ไม่ใช่สิ่งที่จะมีบริโภคกันได้ทั่วไป ประกอบกับเนื้อสัตว์ตากแห้งถูกจัดให้เป็นหนึ่งในของไหว้สักการะบูชา ดังนั้น ชาวจีนในสมัยโบราณจะมีการนำเนื้อตากแห้งสิบชิ้นติดตัวมามอบเป็นของกำนัลให้กับครูอาจารย์ยามพบหน้ากันครั้งแรก เพื่อขอวิชาความรู้ฝากตนเป็นศิษย์ ที่เรียกว่า ซู่ซิว 束脩 ซึ่งคำว่า ซิว脩 หมายถึงเนื้อตากแห้ง และเนื้อตากแห้งสิบชิ้นมัดรวมกันเรียกว่าหนึ่งซู่束 ซึ่งธรรมเนียมการมอบ ซู่ซิว เป็นสินน้ำใจแสดงความคารวะดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัย ขงจื๊อ(551-479ปีก่อนค.ศ.) ขงจื๊อเคยกล่าวว่า "ลูกศิษย์มอบเนื้อตากแห้งสิบชิ้นให้ เราไม่มีไม่สอน" การมอบซู่ซิวเป็นของกำนัล นอกจากแสดงถึงการคารวะยังสามารถมอบให้เป็นของตอบแทนแสดงความสำนึกในบุญคุณที่ผู้ป่วยมอบให้กับแพทย์ผู้รักษาอีกด้วย
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府