การสอบเอนทรานซ์จีนปีนี้ แม้ว่าจำนวนผู้เข้าสอบลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แต่แรงกดดัน
ของผู้เข้าสอบ และการคุมสอบยังคงเข้มงวดและรัดกุมไม่ได้ลดน้อยลงตามแต่อย่างใด
(ภาพจาก http://news.qq.com/a/20120607/000335.htm#p=1)
ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพร่ำๆ สำหรับสภาพอากาศที่เมืองไทย แต่ที่จีนช่วงต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี จะเป็นช่วงหน้าร้อนที่นอกจากจะระอุด้วยไอแดดแล้ว ยังมีการเดือดปะทุด้วยดีกรีความร้อนแรงจากสนามสอบแข่งขันเอนทรานซ์เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยของเด็กนักเรียนจีนด้วย ซึ่งการจัดสอบเอนทรานซ์ของจีน นับแต่ปี 2003 เป็นต้นมา กำหนดให้มีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
โดยในปี 2012 นี้มีขึ้นในวันที่ 7 – 8 มิถุนายน และถึงวันที่ 9 มิถุนายนสำหรับการสอบวิชาเฉพาะในสนามสอบบางแห่ง ซึ่งจำนวนผู้สมัครสอบทั่วประเทศในปีนี้มีทั้งสิ้น 9,150,000 คน ลดลงจากปีก่อน 2 % ซึ่งถือเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องนับแต่ ปี 2008 ที่มีจำนวนผู้สมัครสอบสูงถึง 10,400,000 คน ซึ่งปี 2011 มีจำนวนผู้สมัครสอบ 9,180,000 คน ลดจากปี 2010 ราว 3 แสน 3 พันคน
และตลอดช่วง 4 ปีนับแต่ปี 2008 เป็นต้นมา จำนวนผู้เข้าสอบลดลงเกือบ 1,400,000 คน สืบเนื่องจากจำนวน "3 สละสิทธิ์" ได้แก่ สละสิทธิ์สอบ สละสิทธิ์รับโควตาพิเศษ และสละสิทธิ์รายงานตัว มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าสาเหตุหลักของการสละสิทธิ์นั้นมาจาก หนึ่ง) จำนวนประชากรที่ลดลง และสอง) จำนวนนักเรียนที่จบการศึกษาะระดับมัธยมปลายเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศมากขึ้น โดยช่วงปีหลังๆ ที่ผ่านมา อัตราการเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศมากกว่า 20 % ขึ้นไปและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2012 มีจำนวนมากถึงกว่า 4 แสน 3 หมื่นคน
แต่แม้ว่าจำนวนผู้เข้าสอบจะลดลงแต่การคุมเข้มป้องกันการทุจริตยังคงเข้มงวดและกวดขันดังเช่นทุกปี โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องสอบ มีการใช้อุปกรณ์ตรวจโลหะก่อนเข้าห้องสอบ ซองใส่อุปกรณ์เครื่องเขียนหรือกระบอกน้ำที่จะนำเข้าก็ต้องเป็นแบบใส และบางแห่งจำกัดให้นำเข้าได้เพียงบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบและบัตรประชาชนเท่านั้น รวมถึงการคุมเข้มเคลียร์สถานที่สอบและการจราจรโดยรอบก็ด้วยเช่นกัน
จากอดีตระบอบการปกครองของจีนภายหลังการรวมประเทศโดยมีฮ่องเต้เป็นประมุข มีอำนาจทุกอย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว สามารถใช้ปกครองประเทศจีนมาได้อย่างยาวนานเป็นระยะเวลากว่าสองพันปีนั้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญหลักอย่างหนึ่ง คือ นับแต่ภายหลังราชวงศ์สุยและถังเป็นต้นมา ได้มีการก่อตั้งระบบสอบแข่งขันที่มีความเข้มงวดและยุติธรรม เพื่อคัดเลือกหาผู้มีความรู้ความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่รับใช้งานบ้านงานเมือง
ทำให้ลูกหลานคนยากคนจนทั้งหลาย สามารถอาศํยช่องทางดังกล่าวยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และสถานะทางสังคมให้กับตนและครอบครัวได้ มิฉะนั้นหากเป็นสภาพที่ "ชนชั้นสูงอยู่สุขล้ำค้ำฟ้า ส่วนชนชั้นล่างก็ไม่มีหวังเงยหน้าขึ้นรับแสงตะวัน" ย่อมนำพาสังคมสู่ความปั่นปวนและจบสิ้นได้ในไม่ช้าไม่นาน
และนับแต่นั้นมาการสอบแข่งขันก็กลายเป็นความหวังสำคัญที่สุดในชีวิตของผู้คน ต่างยอมจากบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่สนามสอบที่จัดขึ้นที่เมืองหลวงครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งอันที่จริงแล้วการสอบระดับท้องถิ่นในยุคแรกยังไม่มีการจัดตั้งสนามสอบที่แน่ชัด ก่อนราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) สนามสอบจะจัดขึ้นที่วัดวาอาราม สถานศึกษา หรือสถานที่ทำการราชการ เป็นต้น
จวบถึงช่วงกลางของราชวงศ์ซ่งเหนือ จึงได้มีการสร้างสนามสอบโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า "ก้งเยวี่ยน贡院" ขึ้น ซึ่งขนาดสนามสอบในระดับท้องถิ่น จะมีห้องสอบอย่างน้อย 10 ห้อง หรือมากถึง 300-500 ห้อง และบางแห่งอาจมากกว่า 1,000 ห้องขึ้นไปก็มี
การสอบระดับท้องถิ่นถือเป็นการสอบคัดเลือกขั้นพื้นฐาน ผู้เข้าสอบต่างตั้งเป้าให้ผ่านเข้าสู่ด่านสอบระดับสูงสุด ได้เดินทางไปเข้าร่วมสอบในวัง มีฮ่องเต้เป็นผู้คุมการสอบ ซึ่งฮ่องเต้ซ่งไท่จู่ ปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์ซ่ง(ค.ศ. 960-1279) เป็นผู้กำหนดการจัดสอบในราชสำนักขึ้น และในสมัยราชวงศ์หมิง สนามสอบถูกจัดขึ้นที่ตำหนักเฟิ่งเทียนเตี้ยน(奉天殿) หรือเหวินหัวเตี้ยน(文华殿) แต่พอถึงต้นราชวงศ์ชิง สนามสอบถูกกำหนดขึ้นที่นอกจัตุรัสเทียนอันเหมิน
ต่อมาในรัชสมัยฮ่องเต้เฉียนหลง พระองค์ ทรงพิจารณาว่าการสอบในสภาพอากาศเลวร้าย มีลมฝนกระหน่ำส่งผลต่อผู้สอบ จึงทรงมีพระดำรัสใหม่จัดสอบขึ้นในตำหนักเป่าเหอเตี้ยน ซึ่งหากผ่านด่านสอบสุดท้ายนี้ไปได้แล้ว หนทางแห่งอนาคตย่อมเต็มไปด้วยความสุกสว่างและทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตา
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府