"ชีเฉียวป่าน" แผ่นไม้ประดิษฐ์ 7 ชิ้น
ที่ถูกแบ่งย่อยจากรูปร่างสมบูรณ์ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส
การละเล่นและของเล่นเก่าแก่ของเด็กจีนที่เอ่ยถึงไปเมื่อครั้งก่อน หลายคนที่ได้อ่านคงรู้สึกได้ถึงความเป็นสากล เพราะต่างเคยคุ้นได้เล่นผ่านมือหรือได้เห็นผ่านตากันไปบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งคราวนี้จะมาแนะนำกันต่อในส่วนของ "ไม้ประดิษฐ์ 7 ชิ้น" หรือ "ชีเฉียวป่าน七巧板" ในภาษาจีน ที่ถือเป็นของเล่นธรรมดาที่ไม่ธรรมดาและมีความเป็นสากลไม่แพ้กัน
เพราะนอกจากจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนจีนมาแต่โบราณแล้ว ยังเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ทั่วโลกอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ฝึกการสังเกต การแยกแยะรูปร่างสีสันให้กับเด็กได้อย่างดี ซึ่งรู้จักกันในชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Tangram ที่มาจากคำว่า Tang ถัง(ราชวงศ์ถัง) และ Gram ในภาษากรีกที่แปลว่า ผลงาน
ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของแผ่นไม้ประดิษฐ์ทั้ง 7
ที่สามารถสร้างรูปร่างต่างๆ ได้กว่า 1,600 แบบ
แผ่นไม้ประดิษฐ์ 7 ชิ้น "ชีเฉียวป่าน" มีต้นกำเนิดที่ดัดแปลงมาจาก"เยี่ยนจี่ถู 燕几图" หรือการจัดเรียงโต๊ะเลี้ยงรับรองแขกของ "หวงป๋อเอิน" คนดังในสมัยราชวงศ์ซ่งผู้มีความสนใจและสนุกกับการคิดค้นให้กำเนิดรูปร่างรูปทรงใหม่ๆ ซึ่งนอกจากจะชอบรังสรรค์แล้วยังเป็นผู้ที่รักการสังสรรค์อีกด้วย โดยเขามักจัดเลี้ยงรับรองเพื่อนฝูงอยู่เสมอ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนจัดเรียงโต๊ะ 6 ตัว ปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่วางโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของจำนวนแขก เกิดเป็นการวางโต๊ะจัดเลี้ยงที่มีรูปทรงกว้างแคบแตกต่างกันไป ซึ่งต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงเพิ่มโต๊ะเข้าไปอีกหนึ่งเป็น 7 ตัว
"เยี่ยนจี่ถู" โต๊ะรับรองแขกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กใหญ่ทั้ง 7
ที่สามารถจัดวางรับรองแขกได้ตามความเหมาะสม
ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิง "เกอซ่าน" ได้อาศัยหลักจัดวางโต๊ะรับแขกเยี่ยนจี่ถูของ "หวงป๋อเอิน" เป็นพื้นฐานให้กำเนิดสามเหลี่ยมประดิษฐ์ "ปีกผีเสื้อ 蝶翅几" ขึ้น โดยประกอบด้วยชิ้นส่วนทรงสามเหลี่ยม 13 ชิ้น ที่มีรูปร่างเหมือนกับผีเสื้อกางปีก ที่สามารถสร้างรูปทรงได้หลากหลายกว่าของหวงป๋อเอิน โดยสามารถสร้างรูปทรงใหม่ๆ ขึ้นได้กว่า 100 แบบ และในยุคราชวงศ์หมิงต่อเนื่องมาถึงราชวงศ์ชิง แผ่นไม้ประดิษฐ์ 7 ชิ้น ได้ก่อเกิดเป็นรูปร่างที่แน่ชัดขึ้น และได้เป็นที่รู้จักเริ่มแพร่หลายไปยังญี่ปุ่นและยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18
ตัวอย่าง "แผ่นไม้ประดิษฐ์ทั้ง 7" กับงานออกแบบตกแต่ง
หากสมมุติให้พื้นที่โดยรวมของแผ่นไม้ทั้งหมดเท่ากับ 16 หน่วย แผ่นไม้ 7 ชิ้นย่อย จะประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆ ดังนี้คือ พื้นที่ 4 หน่วยสองแผ่น พื้นที่ 2 หน่วยสามแผ่น และพื้นที่ 1หน่วยสองแผ่น (ดูภาพประกอบจากรูปที่ 1) ซึ่งตามหลักทฤษฎีทางศิลปะ อัตราส่วนความสูงของศีรษะต่อความสูงของร่างกายที่เหมาะสมนั้นควรอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 7.5
ดังนั้น การใช้แผ่นไม้ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสซึ่งมีพื้นที่ 2 หน่วยมาวางในตำแหน่งศีรษะ ก็จะได้อัตราส่วน 2 ต่อ 16 หรือ 1 ต่อ 8 ของพื้นที่ร่างกายทั้งหมด ทำให้ องค์ประกอบของภาพคนจากไม้ประดิษฐ์ 7 ชิ้น จัดวางออกมามีความสมดุลลงตัวอย่างที่เห็น
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府