ยุคราชวงศ์ซ่ง-หมิง
ค.ศ.960-1368 ในยุคนี้จีนค้นพบดินปืน และเป็นยุคของการไปมาหาสู่ระหว่างตะวันออกและตะวันตกและกับดินแดนอื่นๆในโลก บุคคลสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดยุคนี้คือ เจงกิสข่าน อ.ชวลิต เล่าว่า " ราว 900-1,000 ปีที่แล้ว เมื่อเจงกิสข่านไปตีตะวันตก ทำให้ความเชื่อของตะวันออกเริ่มมาเจอกับตะวันตก ขณะเดียวกันทำให้ศาสตร์ของตะวันตกเข้ามาประยุกต์กับตะวันออก อีกคนหนึ่งที่เราคุ้นเคยคือ มาร์โคโปโล เดินทางมาจีน และเจิ้งเหอที่เดินทะเลมาเอเชียอาคเนย์รวมถึงมาไทยด้วย"
ในยุคนี้เริ่มมีการจัดระบบการแพทย์ มีการพิมพ์และเผยแพร่ตำรา ตั้งสำนัก และมีการชำระคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ ในปีค.ศ.1368 ของจีนซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ของไทย มีคัมภีร์โอสถพระนารายณ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมยาในราชสำนักของไทย ประกอบด้วยตำรับล้านนา ของยุโรป ของไทย และมีตำรับหนึ่งที่เป็นของจีนที่หมอจีนมาเขียนไว้ด้วย ซึ่ง อ.ชวลิต กล่าวว่า นั่นแสดงว่ามีหมอจีนเข้ามาในไทยแล้ว จึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในคัมภีร์โอสถพระนารายณ์ฯ
ยุคปัจจุบัน ยุคของการแพทย์แผนจีนประยุกต์
เริ่มตั้งแต่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน อ.ชวลิต กล่าวว่า "ย้อนไปในสมัยของนักล่าอาณานิคม จากยุโรป เป็นช่วงที่แพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามาในขณะที่แผนโบราณเริ่มจะถูกตีตกไป จีนในช่วงที่คริสตจักรเข้ามาก็ปรากฏว่า ทุกเมืองในจีนมีโรงพยาบาลของศาสนาคริสต์หมด และพอเริ่มแพร่หลายก็เริ่มมีคนจีนไปเรียนมากขึ้น สมัยที่ก๊กมินตั๋งยึดนานกิงยังมีการออกกฎหมายห้ามมีการแพทย์แผนจีน แต่โดนแพทย์จีนต่อต้านกม.ดังกล่าวจึงตกไป"
จีนปลายสมัยราชวงศ์ชิงเริ่มเกิดสงครามฝิ่น มีการรุกรานของกระแสตะวันตกดังที่กล่าวข้างต้น ต่อมาค.ศ.1949 จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้บริหารประเทศเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตย กอปร กับจำนวนประชากรมาก รัฐบาลจึงเล็งเห็น ความสำคัญของการแพทย์แผนตะวันตก จึงให้มีการผสมผสานการแพทย์ทั้งสองแขนง เข้าด้วยกันจึงทำให้เกิดกระแสการแพทย์ประยุกต์ในค.ศ.1955
อะไร คือ การรักษาตามแบบแผนจีน
นายแพทย์ บุญเกียรติ เบญจเลิศ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน จากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนแห่งนครเซี่ยงไฮ้ แนะนำว่า การรักษาโรคตามหลักการแพทย์แผนจีนมีลักษณะพิเศษตรงที่ไม่ได้รักษาที่อาการ(ปลายเหตุ) แต่รักษาที่มูลเหตุ ยกตัวอย่าง ปวดหัวไม่ได้รักษาที่หัว เพราะที่หัวเป็นอาการแล้ว แต่ไปดูที่รากเหง้า ของตัวที่ทำให้เกิดอาการที่หัว