- ถ้าเป็นหนังสือประเภทนี้แล้วแม้กระทั่งในจีนเอง ก็น่าจะเป็นวัยรุ่นอ่านใช่ไหมคะ
ใช่ค่ะ ส่วนหนึ่งเป็นนิยายมาจากไต้หวัน หรือไม่ก็เป็นนิยายทางอินเตอร์เน็ทมาก่อน ถึงนำมาพิมพ์เป็นเรื่อง ก็จะอ่านได้สั้นๆ เรื่องเดียวจบ แป้บเดียวก็จบ เพราะเป็นเรื่องไม่หนักสมองมากแล้วก็สนุกสนาน
- แล้วถ้าเป็นนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ไม่ทราบว่า ในแวดวงวงการหนังสือจีนมีไหม
มีค่ะ แต่ยังไม่เยอะมาก ก็จะมีสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์ที่ทำแนวนี้ ก่อนหน้านี้ที่เคยแปลเรื่อง "เว่ยซื่อหลี่" หรือ "เวสลีย์" คนไทยจะรู้จักในชื่อของ "เหง่ยคัง" เดิมเป็นเพื่อนของโกวเล้ง เป็นนักเขียนด้วย แล้วก็เขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวนในสมัยนั้นจะเรียกว่า "นิยายวิทยาศาสตร์" เพราะค่อนข้างล้ำยุคหากเทียบกับเรื่องราวสมัยก่อน แต่ปัจจุบันเนื้อหาประเภทนี้จะหนักไปทางสืบสวนสอบสวนมากกว่า แต่งานประเภทนี้พอมาอ่านทำให้รู้สึกว่า "โห คนเขียนสมัยก่อนช่างจินตนาการล้ำลึกมาก"
- เรื่องล่าสุดที่แปลเรื่องอะไร มีชื่อไทยว่าอะไร และมีเนื้อหาอย่างไร
เป็นหนังสือของเหยียนเกอหลิง ภาษาจีนมีชื่อว่า "จินหลิงสือซานไชย" ก็คือ ชื่อภาษาอังกฤษตามชื่อหนังค่ะ "Flower of War" และเป็นชื่อไทยจะใช้ชื่อว่า "13 บุปผาแห่งนานกิง" แปลตามชื่อภาษาจีนค่ะ
"13 บุปผาแห่งนานกิง" เป็นผลงานแปลล่าสุด (ลำดับที่ 35) ของปานชีวา บุตราช
- เรื่องนี้ถูกจางอี้โหม่วนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ การแปลในเรื่องนี้มีข้อท้าทายหรือความยากง่ายอย่างไร
เพราะกลายเป็นภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงแล้ว
ค่ะ ความท้าทายในการแปลคือ ตอนนั้นต้องพยายามกลั้นใจไม่ดูหนังก่อน พอแปลเสร็จรอบแรกแล้วก็ไปดูหนัง จึงพบว่า มีความแตกต่างกันระหว่างหนังกับนิยาย หนังจะให้ความสำคัญหรือโฟกัสในเรื่องอื่น เช่น เรื่องของสงคราม เรื่องของตัวละครฝ่ายชายซึ่งเป็นบาทหลวง แต่ว่าพอเป็นหนังสือ หนังสือจะกระจายความสำคัญให้ตัวละครหลายตัว นอกจากบาทหลวงแล้ว ยังมีตัวละครเด็กผู้หญิงในเรื่องชื่อว่า "เมิ่งซือจวง" แล้วก็เป็นตัวละครผู้หญิงอีกคนที่เป็นโสเภณีแห่งแม่น้ำฉิงหวยที่เข้ามาอาศัยในโบสถ์ในช่วงสงครามด้วยก็จะเล่าสลับไปสลับมาของความรู้สึกของตัวละคร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หนังสือนี่รันทดมาก ขนาดว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้างใจแข็ง เวลาแปลนิยายสงคราม มีเลือดมีศพมีคนตายมาแล้วมากมาย แต่แปลเรื่องนี้ยังต้องหยุดแปล ต้องปิดหนังสือเพื่อพักหายใจสักพัก ประมาณว่า ขอเว้นบทนี้ไปก่อน เพราะมันสะเทือนใจมาก
- สัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 18-28 ตค.นี้ หากท่านผู้ฟังสนใจหนังสือคุณชุน จะสามารถไปดู
และซื้อมาอ่านได้ที่สนพ.ไหนบ้าง
หนังสือเรื่อง "13 บุปผาแห่งนานกิง" พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์ เท่าที่ทราบก็มีวางไว้กับบูธสำนักพิมพ์กำมะหยี่ และที่อื่นที่เป็นเครือข่ายกัน แต่ยังไม่แน่ใจว่าท่านเจ้าสำนักจะไปวางที่ไหนบ้าง และใช้ชื่อผู้แปลว่า "ซินโป-หย่งชุน" เพราะทำงานคู่กับผู้แปลอีกคนหนึ่งค่ะ และวางครั้งแรกในงานนี้ด้วย
หลังจากได้รู้จักนักแปลคนนี้ผ่านทางบทสัมภาษณ์และประสบการณ์เกี่ยวกับงานแปล รวมถึงหนังสือแต่ละเล่มที่เธอได้คัดสรรมาแปลนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจให้ความรู้และแง่มุมต่างๆ มากมายเกี่ยวกับจีน ซึ่งงานแปลจีนร่วมสมัยในเมืองไทยนั้นยังมีไม่มากนักและจะเป็นการเปิดกว้างให้กับวงการการแปลไทยอีกระดับหนึ่งให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
สื่อสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์ "เมืองหนังสือโลกปี 2556" หรือ "World Book Capital 2013"
ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักอ่านชาวไทยเพื่อส่งเสริมการอ่านของชาวไทยและเตรียมพร้อมการได้รับคัดเลือกจากทางคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การยูเนสโก ผู้แทนสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ ผู้แทนสมาพันธ์ผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติและผู้แทนสมาพันธ์แห่งสมาคมห้องสมุดนานาชาติได้พิจารณาตัดสินให้กรุงเทพฯ เป็น "เมืองหนังสือโลกปี 2556" (World Book Capital 2013) ที่กำลังจะมาถึงนี้ไปพร้อมกัน
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์