อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียนเริ่มพัฒนาเติบโตขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียนเติบโตในอัตราที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยของโลกอย่างมาก นายสีว์ จิน หัวหน้าฝ่ายภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก องค์การการท่องเที่ยวโลกกล่าวว่า การร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจของอาเซียน เขากล่าวว่า
"จากการพัฒนาของกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังในการผลักดันกระบวนการความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจของอาเซียน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เจริญเติบโตขึ้นช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน และลดความยากจนให้น้อยลง ด้วยเหตุนี้ ทุกประเทศในอาเซียนต่างได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว"
เมื่อเร็วๆ นี้ นายโอน โฮง เปง เลขาธิการกระทรวงการท่องเที่ยวมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมาเลเซียต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์แห่งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขายังแสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มประเทศอาเซียนต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการคมนาคมให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น เขากล่าวว่า
"ปัจจุบัน ระบบการคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องเพิ่มเส้นทางการบิน การเดินเรือและทางหลวงให้มากขึ้น สินค้าบริการการท่องเที่ยวในรูปแบบแพคแกจทัวร์นั้นส่วนใหญ่ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวในหลายประเทศ ต้องอาศัยระบบการคมนาคมที่ทันสมัยและมีความสะดวกสบาย เพื่อเชื่อมต่อสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนต้องเร่งพัฒนาระบบการคมนาคมให้มีความทันสมัยมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ การประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอาเซียนมีมติว่า จะส่งเสริมโครงการเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หวังว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเร็ว เพื่อจะได้จำหน่ายสินค้าบริการด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น"
ส่วนทางด้านประเทศลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนามมีทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก แต่เนื่องจากพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย จึงมีโครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากร และสมรรถภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวไม่เพียงพอ เมื่อเร็วๆ นี้ นาย สตีเวน สะชิปานี (Steven Schipani) ที่ปรึกษาระดับสูงฝ่ายกิจการสังคมในภูมิภาคเอเชีย ธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชียให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างเจริญในกลุ่มประเทศอาเซียนต้องให้ความช่วยเหลือแก่ 4 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้น ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม เพื่อช่วยประเทศเหล่านี้พัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เขายังกล่าวว่า
"ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชียได้ดำเนินแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงปี2005-2015 โดยดำเนินโครงการช่วยเหลือประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชาในการสร้างทางหลวงที่เข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยว โครงการสร้างท่าเรือข้ามฟากที่ดินดอนสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขง และโครงการอบรมบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้ ธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชียยังมีแผนจะร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย"
แหล่งข่าวรายงานว่า ในปี 2011 กลุ่มประเทศอาเซียนได้รองรับนักท่องเที่ยวรวมกว่า 80 ล้านคน ซึ่งได้สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่กลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศในอาเซียนรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เท่ากัน ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์รองรับนักท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนอย่างมาก นายสีว์ จิง หัวหน้าฝ่ายภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ขององค์การท่องเที่ยวโลกแสดงความเห็นว่า กลุ่มประเทศอาเซียนต้องเร่งพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนพัฒนาเติบโตขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออนาคตแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอาเซียน