อันที่จริง ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนขณะที่ทุ่มกำลังพัฒนาเศรษฐกิจเช่นเดิม ก็ได้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันเลวร้ายยิ่งขึ้น และมีการออกกฎหมายข้อบังคับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปิดโรงงานจำนวนมาก หน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขาดแคลนประสบการณ์ในการตรวจสอบควบคุมเหตุการณ์ก่อมลพิษ หรือควบคุมไม่เข้มงวดเพราะไม่อยากขัดขวางการเติบโตของ จีดีพี เป็นต้น ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มขยายวงในทั่วประเทศ
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนมีจัดการประุชุมครั้งสำคัญ โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้ประกาศมาตรการป้องกันและบำบัดมลพิษทางอากาศ 10 ประการ อีกทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือประสานงานกัน ริเริ่มรูปแบบการใช้ชีวิตและการบริโภคที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขอร้องให้ประชาชนทั้วปวงเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
มาตรการ 10 ประการดังกล่าวมีเนื้อหาที่ละเอียดและเข้มงวดมากกว่าเดิม อาทิ การยกเลิกหรือปรับปรุงหม้อน้ำขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เพราะว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อมลพิษทางอากาศ พยายามลดปริมาณฝุ่นละอองในเมือง ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพดี มีสารซัลเฟอร์ค่อนข้างน้อย ควบคุมการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและก่อมลพิษค่อนข้างมาก พยายามลดปริมาณปล่อยมลพิษของโรงงานและวิสาหกิจทั่วประเทศให้น้อยลง 30% ก่อนสิ้นปี 2560
นอกจากนั้น ทางคณะรัฐมนตรีจีนยังส่งเสริมให้พัฒนาการคมนาคมสาธารณะ ปรับปรุงโครงสร้างพลังงานให้เพิ่มการสนองพลังงานสะอาด เช่นก๊าซธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น สำหรับโครงการก่อสร้างที่ไม่สามารถผ่านการพิจารณาประเมินด้านสิ่งแวดล้อม จะไม่อนุญาตให้ทำการก่อสร้าง ทางการจะไม่ให้ที่ดินก่อสร้าง ไม่สนับสนุนด้านเงินกู้ และไม่จ่ายไฟฟ้าหรือน้ำประปาให้ด้วย
สำหรับโรงงานวิสาหกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน คงต้องเสียภาษีค่าปล่อยมลพิษมากขึ้นกว่าเดิม และถูกตรวจสอบเข้มงวดยิ่งขึ้น ด้านธนาคารต่างๆ ของจีน จะสนับสนุนเงินกู้สินเชื่อมากขึ้นแก่วิสาหกิจที่ผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานใหม่ที่ก่อมลพิษน้อยมาก และรัฐบาลท้องถิ่นจะใช้ระบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานวิสาหกิจที่ก่อมลพิษอย่างหนักเป็นประจำ และมีการประกาศการจัดอันดับคุณภาพอากาศของเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศด้วย
และยังมีแผนการจัดตั้งระบบตรวจสอบและรักษาคุณภาพอากาศในเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญ อย่า่งเช่น เขตกรุงปักกิ่ง นครเทียนจินและมณฑลเหอเป่ย เขตดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีซึ่งเป็นเขตรอบนครเซี่ยงไฮ้ และเขตดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเป็นเขตรอบเมืองกว่างโจว เป็นต้น
ตลอดจนพยายามลดระดับค่าพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญในการวัดมลพิษทางอากาศในเขตที่มีประชากรพักอาศัยจำนวนมากและเมืองสำคัญต่างๆ ให้น้อยลง และสำหรับผู้นำทางการท้องถิ่นระดับต่างๆ ผลงานด้านการป้องกันบำบัดมลพิษจะเป็นปัจจัยในการประเมินผลการทำงานในรอบปี ซึ่งหมายถึงอนาคตทางการเมืองของบรรดาผู้นำท้องถิ่น จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของท้องที่มากขึ้น
(Yim/Lin)